เมืองแห่งการเรียนรู้ หมายถึง เมืองที่มีการใช้ทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนให้เกิดการการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ โดยมีการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ มีการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต โดยมีคุณลักษณะที่สำคัญ 6 ประการ คือ
- ส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงอุดมศึกษา
- ส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัวและชุมชน
- ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในที่ทำงาน
- ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
- ส่งเสริมคุณภาพและความเป็นเลิศในการเรียนรู้
- สนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเข้มแข็ง
นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมี 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่
- การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- การบริหารจัดการเชิงนโยบาย และการขับเคลื่อนเชิงระบบอย่างมีส่วนร่วม
ขณะเดียวกัน การพัฒนาด้านการศึกษาก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อสร้างหลักประกันคุณภาพการศึกษา ให้มีความครอบคลุมทั่วถึง สนับสนุนโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเพื่อเป็นรากฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านอื่นๆ ต่อไป
ด้วยเหตุนี้ การจัดตั้งเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC) จึงเริ่มต้นขึ้น เพื่อสร้างความร่วมมือจากหลายเมืองทั่วโลกสู่การขับเคลื่อนไปถึงเป้าหมาย โดยปัจจุบันมีเมืองแห่งการเรียนรู้ทั้งหมด 294 เมือง จาก 76 ประเทศ และประเทศไทยมีเมืองแห่งการเรียนรู้ 7 เมือง ดังนี้
- เทศบาลนครเชียงราย เมืองแรกของประเทศไทยที่เข้าร่วมเครือข่ายฯ เมื่อปี 2562 โดยยึดหลัก ‘การศึกษาพัฒนาคน คนพัฒนาเมือง เมืองพัฒนาคน’ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในทุกด้าน ทุกสาขา ทุกอาชีพ พร้อมต่อยอดทางความคิดและสิ่งที่มีอย่างไม่รู้จบ เช่น เกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย พลังงานทางเลือก ภูมิปัญญาสมุนไพร ห้องเรียนธรรมชาติ ‘คีรีชัย ยามะ’ เป็นต้น
- เทศบาลนครเชียงใหม่ การใช้วัฒนธรรมชุมชนทั้งงานประเพณีและวัฒนธรรมในพื้นที่เมือง ในรูปแบบ Community-Cultural Based Demonstration Event (CCBD) สร้างนิเวศการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย กระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่รอบนอก ยกระดับงานฝีมือท้องถิ่น ฟื้นฟู และส่งต่อองค์ความรู้ ภูมิปัญญาแก่คนรุ่นใหม่
- เทศบาลนครภูเก็ต ส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน การเรียนรู้ในครอบครัว ชุมชน สังคม ตลอดจนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในที่ทำงาน เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ควบคู่กับการมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม น่าอยู่ ปลอดภัย และทันสมัย
- เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเสมอภาค ผ่านศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทราที่มี 9 โซนการเรียนรู้ ได้แก่ ห้องสมุดเด็ก ห้องสมุดดนตรี ห้องสมุดมีชีวิต โรงละครเคซีซี จัตุรัสนัดฝัน ห้องปล่อยแสง หอประวัติศาสตร์ของเมืองฉะเชิงเทรา โซนมัลติมีเดีย และห้องสมุดไอที พร้อมกับ 3 บริการ คือ การบริการสาธารณะ ห้องสมุดออนไลน์ และการส่งต่อสื่อความรู้ให้ถึงมือประชาชน โดยการเข้าถึงการเรียนรู้ทั้งหมดไม่เสียค่าใช้จ่าย
- จังหวัดพะเยา เมืองแรกของประเทศไทยที่มีการใช้กลไกเมืองแห่งการเรียนรู้ครอบคลุมในระดับจังหวัด โดยยึดหลักเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติต่อยอดและหมุนเวียนให้เกิดมูลค่ามากที่สุด เช่น หัตถกรรมจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้ สมาร์ตฟาร์ม การทำบ้านดิน รวมถึงเสริมถึงทักษะการขายสินค้าและการตลาดออนไลน์ให้สามารถจัดจำหน่ายสินค้าได้ด้วยตัวเอง เป็นการพัฒนาคนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อยกดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ และมีชุมชนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- เทศบาลนครหาดใหญ่ จากคลองหลังบ้านสู่เส้นทางเชื่อมเมืองด้วยองค์ความรู้ พื้นที่สารพัดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ สร้างเมืองที่สงบสุข ครอบคลุม ปลอดภัย และยืดหยุ่น โดยมีการเรียนรู้เป็นรากฐานที่สำคัญ ควบคู่กับการใช้แนวทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการเรียนรู้ของคนแต่ละคน เช่น ศูนย์การเรียนรู้สี่มุมเมืองโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพหาดใหญ่ชีวาสุข นักขายน้อย (ผักไมโครกรีน) การตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร เป็นต้น
- จังหวัดสุโขทัย สืบทอดความรู้ด้านศิลปะและหัตถกรรม สู่การประกอบอาชีพและตอบโจทย์ชีวิตอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยว อาทิ การทำเครื่องสังคโลก ศิลปะปูนปั้น และงานไม้ พร้อมหลักสูตร ‘การเรียนรู้ภูมิปัญญา’ ที่บรรจุเป็นวิชาด้านงานฝีมือเข้าสู่ระบบการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ เพื่อให้เหมาะสมกับทุกช่วงวัย
รู้จักกับเมืองแห่งการเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ เมืองแห่งการเรียนรู้ คืออะไร
อ้างอิง
- UNESCO Global Network of Learning cities
- ประสบการณ์และข้อคิดจากเทศบาลนครเชียงราย สมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ UNESCO GNLC แห่งแรกของไทย
- เชียงใหม่ ต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้
- สาโรจน์ อังคณาพิลาส: เดินหน้าและต่อยอด ให้ภูเก็ตเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้
- เมืองแห่งการเรียนรู้ ฉะเชิงเทรา
- สำรวจ ‘พะเยา และหาดใหญ่’ สมาชิกใหม่เครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ UNESCO ปี 2565
- Hat Yai, Thailand
- Hatyai Learning City
- Sukhothai, Thailand
Info
Learning City: ปักหมุดเมืองแห่งการเรียนรู้ สู่เป้าหมายการศึกษาที่ยั่งยืน
เทศบาลนครเชียงราย
- นครแห่งการศึกษา
- การศึกษาพัฒนาคน คนพัฒนาเมือง เมืองพัฒนาคน
เทศบาลนครเชียงใหม่
- ต้นทุนวัฒนธรรมชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต
- Community-Cultural Based Demonstration Event (CCBD)
เทศบาลนครภูเก็ต
- นครแห่งการสร้างสรรค์ที่หลากหลาย
- อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม น่าอยู่ ปลอดภัย และทันสมัย
เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา
- พัฒนาการศึกษา พัฒนาศักยภาพคน
- พื้นที่การเรียนรู้ที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและไม่เสียค่าใช้จ่าย
จังหวัดพะเยา
- โมเดลเศรษฐกิจ BCG สร้างกลไกการเรียนรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ
- พัฒนาคนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
- ชุมชนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เทศบาลนครหาดใหญ่
- สร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ที่สงบสุข ครอบคลุม ปลอดภัย และยืดหยุ่น
- ใช้พื้นที่สารพัดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ จากคลองหลังบ้านสู่เส้นทางเชื่อมเมืองด้วยองค์ความรู้
จังหวัดสุโขทัย
- เมืองด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน
- เรียนรู้ภูมิปัญญาด้วยวิชางานฝีมือ ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ