การประเมินเชิงพัฒนา
Developmental Evaluation
เมื่อการประเมินแบบเดิมๆ ไม่สามารถตอบโจทย์ได้
มารู้จัก “DE” กันเถอะ
คุณเคยรู้สึกมั้ย? ว่าการประเมินแบบเดิม ๆ ไม่ตอบโจทย์การทำงานของคุณ เพราะงานของคุณมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราขอชวนทุกคนมารู้จักกับ “การประเมินเชิงพัฒนา” หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Developmental Evaluation หรือ DE คุณอาจค้นพบการประเมินที่ช่วยให้งานของคุณประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น
D E
DE คือการประเมินประเภทหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจวิธีการทำงานเพื่อตอบโจทย์กับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การประเมินลักษณะนี้จึงช่วยให้ทีมมุ่งเน้นไปที่จุดที่ควรปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมในการทำงานภายในและภายนอกองค์กรอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการที่อาศัยการมีส่วนร่วมจากทีมประเมิน ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กร การประเมิน DE ไม่มีวิธีการเฉพาะในการเก็บข้อมูล แต่เน้นประยุกต์ใช้เครื่องมือ ช่วยกันสร้างการเรียนรู้สองทาง การประเมินนี้จึงนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก
แต่การประเมินแบบ DE ไม่สามารถใช้ได้กับทุกสถานการณ์ หากงานของคุณมีเป้าหมายเป็นเส้นตรง มีกรอบวัดผลชัดเจน ลักษณะขององค์กรไม่เปิดต่อสิ่งใหม่ในการทดลอง ไม่มีความยืดหยุ่นมากพอ การประเมินแบบดั้งเดิมก็เหมาะสมแล้ว
แล้ว DE เหมาะกับสถานการณ์อะไรบ้างละ?
DE เป็นรูปแบบการประเมินแบบพิเศษที่จะเหมาะสมต่อสถานการ์ที่มีความเร่งด่วน เป็นพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจนยากที่จะวางแผน หรือหาวิธีแก้ปัญหา ทำให้งานของคุณมีความจำเป็นจะต้องพัฒนานวัตกรรมการทำงาน นอกจากนี้หากงานของคุณอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน เช่น ต้องทำงานร่วมมือกับหลายฝ่าย หลายองค์กร การประเมินแบบ DE จะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การประเมินแบบ DE จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นในการทำงาน และต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่าง “ผู้ประเมิน” และ “ผู้ถูกประเมิน” ผ่านการร่วมทีมกันเป็น “ทีมเรียนรู้” เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ระหว่างการประเมิน
สำหรับทีมงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสนใจเข้าร่วมทีมเรียนรู้สามารถติดต่อได้ที่ kanchanok.s@hitap.net หรือ praewa.k@hitap.net