เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ที่ผ่านมา องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้เปิดเผยผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ซึ่งจัดสอบในช่วงปี 2022 (พ.ศ. 2565) โดยการประเมิน PISA 2022 เป็นการประเมินสมรรถนะด้านคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ของประเทศและเขตเศรษฐกิจกว่า 81 แห่ง และเป็นการประเมินครั้งแรกภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กสศ. ขอชวนทุกท่านร่วมมองสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยผ่านผลการประเมิน PISA 2022
นายปวรินทร์ พันธุ์ติเวช นักวิชาการฝ่ายข้อมูลและติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ฉายภาพสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ปรากฏอยู่ในรายงานผลการประเมินของ OECD และที่ทาง วสศ. ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล ในภาพรวม หากพิจารณานักเรียนกลุ่มด้อยโอกาส (disadvantaged) ตามการแบ่งกลุ่มสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Economic, Social, and Cultural Status) โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม (Quantile 1 – 4) กลุ่มละ 25% ตามลำดับน้อยไปมาก เราจะพบว่า คะแนนผลการประเมิน PISA 2022 ทั้ง 3 วิชา มีความสัมพันธ์ไปในทางบวกกับเศรษฐฐานะของนักเรียน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ นักเรียนยากจน มีแนวโน้มที่จะทำคะแนนได้น้อยเมื่อเทียบกับนักเรียนที่มีเศรษฐฐานะดีกว่าหรือร่ำรวยกว่า
โดยหากเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยระหว่างกลุ่มนักเรียนที่ยากจนที่สุด และร่ำรวยที่สุด 25% ของประเทศ จะพบว่ามีช่องว่างของคะแนน (gap) อยู่ที่ประมาณ 60 – 70 คะแนนในแต่ละวิชา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcomes) ที่แปรผันตามสภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มนักเรียนยากจน 25% ล่างสุดของประเทศ ยังมีกลุ่ม “นักเรียนช้างเผือก (Academically Resilient Students)” ที่แม้จะมีรายได้อยู่ในกลุ่ม 25% ล่างสุดของประเทศ แต่ก็สามารถทำคะแนนได้ดีในระดับ Top 25% ของประเทศ ซึ่งจากผลการประเมินรายวิชาคณิตศาสตร์ เราจะพบเด็กกลุ่มนี้ถึง 15% ของนักเรียนกลุ่ม Bottom 25% นี้ ซึ่งตัวเลข 15% นั้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง OECD ที่มีสัดส่วนเด็กกลุ่มดังกล่าวอยู่ที่ 10% โดยกลุ่มดังกล่าว มีค่าคะแนนเฉลี่ยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 25% ของประเทศเสียด้วยซ้ำ
ภาพความเหลื่อมล้ำนี้ยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้นอีก หากเราพิจารณาที่ระดับสมรรถนะ (Proficiency Levels) ซึ่ง OECD ได้ให้นิยามว่า นักเรียนจะอยู่ในกลุ่มที่มีสมรรถนะในระดับต่ำ (Low Performers) เมื่อผลการประเมินสมรรถนะอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 จากทั้งหมด 6 ระดับ และอยู่ในกลุ่มที่มีสมรรถนะในระดับสูง (High Performers) เมื่อสามารถทำแบบทดสอบได้ระดับสมรรถนะ 5 หรือ 6 ขณะที่กลุ่มที่มีระดับสมรรถนะระหว่าง 2 ถึง 4 นั้น ถือว่ามีสมรรถนะในรายวิชานั้น ๆ อยู่ในระดับพื้นฐานถึงระดับปานกลาง ซึ่ง OECD ได้ให้คำนิยามของระดับ 2 ที่เป็นจุดตัด (Cutoff) ระหว่างระดับต่ำกว่าพื้นฐานและระดับพื้นฐานไว้ว่า เป็นระดับสมรรถนะขั้นพื้นฐานที่ทำให้นักเรียนสามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเต็มที่ (fully contribute to the society) ตัวอย่างเช่น ในรายวิชาคณิศาสตร์ การมีสมรรถนะพื้นฐาน (Level 2) สะท้อนว่านักเรียนสามารถใช้หลักการและการใช้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ในการแก้โจทย์ปัญหาหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจพบเจอในชีวิตได้ เช่น หากต้องเดินทางจากจุด ก ไปจุด ข แล้วสามารถเดินทางได้หลายวิธี/เส้นทาง นักเรียนสามารถคำนวณและเปรียบเทียบได้ว่าระยะทางไหนจะใกล้/ไกล หรือการเดินทางด้วยวิธีไหนจะช้าเร็วกว่ากัน ซึ่งสถานการณ์ในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่สามารถพบเจอได้ในชีวิตจริง หรือในกรณีของการอ่านนั้น การอ่านในระดับพื้นฐาน (Level 2) หมายความว่า นักเรียนสามารถอ่านบทความขนาดกลางแล้วสามารถจับประเด็นที่เป็นสาระสำคัญได้ สามารถค้นหาข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ที่อยู่ในบทความได้ และระบุเป้าหมายการนำเสนอของผู้เขียนได้
ในกลุ่มนักเรียนที่ยากจนที่สุด 25% ของประเทศ มีนักเรียนกว่า 77.43% ที่มีผลการประเมินรายวิชาคณิตศาสตร์ในระดับต่ำกว่าพื้นฐาน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเกือบ 10% และไม่มีนักเรียนยากจนที่สุด 25% คนไหนเลย ที่ได้คะแนนในระดับสมรรถนะ 5 หรือ 6 ซึ่งเป็นระดับสมรรถนะสูง (Top Performers) ขณะที่ในบรรดา 4 กลุ่มรายได้นี้ มีเพียงนักเรียนในกลุ่มรายได้รวยที่สุด 25% (Top 25%) เพียงกลุ่มเดียว ที่มีสัดส่วนนักเรียนที่ผ่านระดับพื้นฐานมากกว่านักเรียนที่ไม่ผ่านระดับพื้นฐาน และเป็นกลุ่มที่มีนักเรียนกลุ่ม Top Performers สูงที่สุดที่ 4.31% ขณะที่นักเรียนช้างเผือกที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น แม้จะมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่ม Top 25% แต่กลับพบว่านักเรียนทั้งหมดมีระดับสมรรถนะอยู่ระหว่างระดับพื้นฐานถึงปานกลาง (Level 2 – 4) และไม่มีนักเรียนคนไหนสามารถทำคะแนนในระดับ Top Performers หรือ Level 5 – 6 ได้เลย
ทั้งนี้ หากมองเกณฑ์คะแนนในระดับโลก จะมีกลุ่มนักเรียนกลุ่มยากจนที่สุด 25% ที่สามารถทำคะแนนคณิตศาสตร์อยู่ในระดับสูงสุด 25% ของโลกได้เพียง 3.10 % เท่านั้น และหากเจาะลงไปในกลุ่มช้างเผือกที่ทำคะแนนได้ Top 25% ของประเทศไทย จะพบนักเรียนที่ทำคะแนนคณิตศาสตร์ได้ Top 25% ของโลกด้วยอยู่ 18.79% ขณะที่ในกลุ่มรวยที่สุด 25% มีนักเรียนที่ทำคะแนนคณิตศาสตร์ได้สูงในระดับ Top 25% ของโลก อยู่ที่ 22.19% ซึ่งสะท้อนช่องว่างของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของประเทศไทยเมื่อเทียบกับโลก ทั้งในกลุ่มเด็กช้างเผือก และในภาพรวมของประเทศ
แม้นักเรียนช้างเผือกจะไม่ได้อยู่ในกลุ่ม Top Performers ของโลกตามนิยามของ OECD ที่ต้องมีสมรรถนะในระดับ 5 หรือ 6 แต่ผลการวิเคราะห์ก็ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสามารถทำคะแนนได้ดีกว่ากลุ่มเพื่อน ๆ ที่มีระดับเศรษฐฐานะเดียวกันค่อนข้างมาก คำถามจึงตามมาว่า แล้วเหตุใดนักเรียนกลุ่มดังกล่าวจึงมีคะแนนที่ดีกว่าเด็กคนอื่น ๆ ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมใกล้เคียงกัน คำตอบที่เป็นกุญแจดอกสำคัญของเรื่องนี้คือ “กรอบความคิดแบบเติบโต” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Growth Mindset” นั่นเอง ซึ่งจากการวิเคราะห์ เราพบนักเรียนช้างเผือกที่อยู่ในข่ายมี Growth Mindset สูงถึง 57.03% สูงกว่าสัดส่วนของนักเรียนในทุกกลุ่มรายได้ แม้แต่กลุ่มรายได้สูงสุด 25% ของประเทศ รวมถึงมีระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ที่อยู่ที่ระดับ 57.8%
นอกจากนี้ หากพิจารณาปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังพบว่านักเรียนกลุ่มช้างเผือกมีแนวโน้มจะได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว (Family Support) และมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโรงเรียน (Sense of Belonging) ที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนยากจนโดยทั่วไป จึงอาจเป็นไปได้ว่า นักเรียนกลุ่มดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากปัจจัยแวดล้อม ทั้งจากครอบครัวและโรงเรียนที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ จึงสามารถทำคะแนน PISA และมีสมรรถนะผ่านระดับพื้นฐานเช่นนี้ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความคาดหวังในการเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป พบว่าแม้นักเรียนกลุ่มช้างเผือกจะมีความคาดหวังในการศึกษาต่อระดับสูงที่มากกว่านักเรียนกลุ่มฐานะยากจน 25% ล่าง แต่ความคาดหวังดังกล่าวก็ถือว่ายังต่ำกว่านักเรียนที่มาจากกลุ่มที่มีเศรษฐฐานะสูงกว่า ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์นักเรียนที่เคยผ่านการคัดกรองความยากจนของ กสศ.ที่ผ่านมา พบว่านักเรียนกลุ่มดังกล่าวคำนึงถึงอุปสรรครอบตัวที่บั่นทอนการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไม่ถึงข้อมูลของแหล่งทุนการศึกษาที่สนับสนุนการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา และภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับในช่วงรอยต่อการศึกษาจากมัธยมศึกษาสู่อุดมศึกษา เป็นต้น ส่งผลให้ความคาดหวังของนักเรียนกลุ่มนี้ที่จะศึกษาต่อ ยังคงสวนทางกับศักยภาพด้านวิชาการและระดับกรอบความคิดด้านการเติบโตของพวกเขา
นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่ของปัจจัยโรงเรียน เรายังพบด้วยว่า โรงเรียนที่ขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษาหรือขาดแคลนอุปกรณ์หรือสื่อการเรียนการสอน มีแนวโน้มที่จะทำคะแนนได้น้อยกว่าโรงเรียนที่มีทรัพยากรเพียงพอมากกว่า นี่จึงอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการเรียนการสอน และผลลัพธ์การเรียนรู้ที่สะท้อนออกมาในผลการประเมิน PISA 2022 ของประเทศไทย
จากการวิเคราะห์ข้อมูล สู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาระบบการศึกษาไทย
นายกิตติศักดิ์ กวีกิจมณี รักษาการหัวหน้าฝ่ายวิจัยเชิงระบบและประเมินผลโครงการ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ได้เสนอแนะว่าการวิเคราะห์ข้อมูลจากผลการทดสอบ PISA ของประเทศไทย จะเป็นหนึ่งในเข็มทิศที่จะช่วยให้เรามองเห็นทิศทางด้านนโยบายการศึกษา โดยเฉพาะการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลข้างต้นนั้น เพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ประเทศควรจะต้องมีนโยบายที่สำคัญใน 4 ด้าน ได้แก่
1. ส่งเสริมเด็กยากจนที่มีความสามารถหรือเด็กกลุ่มช้างเผือก ให้ได้รับการศึกษาสูงสุดตามศักยภาพ มุ่งเน้นการลดอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาในช่วงชั้นรอยต่อ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเข้าถึงแหล่งทุนด้านการศึกษา และการเพิ่มการรับรู้ข้อมูลโอกาสทุนการศึกษาสำหรับศึกษาต่อในระดับสูง ควรพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาของสถานศึกษาให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับการศึกษาของนักเรียนที่มีข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐฐานะหรือด้านอื่นๆ นอกจากนี้ ควรผลักดันให้การจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลมีความเป็นมากขึ้น และเพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและสามารถดึงศักยภาพของนักเรียนช้างเผือกได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ควรมุ่งเน้นการระดมทรัพยากรจากภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมยกระดับความเสมอภาคทางการศึกษา เช่น ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม เป็นต้น
2. ส่งเสริมกลไกที่เชื่อมโยงการทำงานระหว่างครอบครัวและโรงเรียน เพื่อให้ครอบครัวเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนมากขึ้น และสามารถรับฟังรวมถึงสะท้อนความเห็น (feedback) เกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านการศึกษาของผู้เรียนและนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด และสร้างสมดุลระหว่างการเรียนในห้องเรียนและนอกห้องเรียน การประเมินผล และการสร้างเสริมสุขภาวะทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งจากครอบครัวและโรงเรียน
3. สนับสนุนกิจกรรมที่ปลูกฝังกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth mindset) เช่น การใช้เทคนิคการสื่อสารเชิงบวก โดยอาจผนวกไปกับกิจกรรมหรือวิถีการเรียนรู้ปกติทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน การให้ข้อมูลด้านอาชีพและระดับรายได้ที่เป็นไปได้ในอนาคต เป็นต้น โดยมุ่งเป้าหมายไปที่ทั้งเด็ก ผู้ปกครอง หรือครอบครัว เพื่อส่งเสริมความมุ่งมาดต่อการศึกษาและมองอนาคตทั้งของเด็กและครอบครัว อันจะนำไปสู่การพัฒนาแรงจูงใจในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง (self-directed learning)
4. สร้างศักยภาพและเปิดโอกาสให้ครูใช้เครื่องมือประเมินความก้าวหน้าระหว่างเรียน (formative assessment) ของผู้เรียน พัฒนาชุดเครื่องมือประเมินเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับครู หรือให้อิสระกับครูในการพัฒนาหรือเลือกใช้เครื่องมือประเมินการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนและบริบทโรงเรียน เพื่อให้ครูได้ประเมินพัฒนาการหรือช่องว่างการเรียนรู้ของเด็กในระหว่างทาง และสามารถปรับเปลี่ยนแนวทางหรือเตรียมอุดช่องว่างการเรียนรู้ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รอให้ล่วงเลยไปจนถึงปลายภาคการศึกษา หรือช่วงท้ายของปีการศึกษา ซึ่งอาจจะสายเกินไปที่จะอุดช่องว่างการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น