หน่วยงานในระดับองค์การของสหประชาชาติ อย่างองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เล็งเห็นศักยภาพของ ‘ท้องถิ่น’ จำนวนมากทั่วโลก เพื่อพัฒนาการศึกษาในระดับท้องถิ่น สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และให้ประชาชนทุกช่วงอายุและทุกภาคส่วนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (lifelong learning) ดังนั้นยูเนสโกจึงจัดตั้ง ‘เครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก’ (The UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC) ขึ้นทั่วโลก เพื่อช่วยรัฐบาลท้องถิ่นพัฒนากลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้
‘ฉะเชิงเทรา’ เมืองแห่งการเรียนรู้ใกล้กรุงเทพฯ
ประเทศไทยมีเมืองแห่งการเรียนรู้ที่อยู่ในเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ขององค์การยูเนสโก 7 เมืองด้วยกัน โดยหนึ่งในเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ใกล้กรุงเทพมหานครมากที่สุดคือ ‘เมืองแปดริ้ว’ หรือเมืองฉะเชิงเทรา ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 จากสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก
ใบประกาศนียบัตรการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของเทศบาลเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
เมืองฉะเชิงเทราได้กำหนดวิศัยทัศน์ ‘เมืองสวยงามน่าอยู่’ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ครอบคลุมการพัฒนาในทุกด้านคือ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดความเหลื่อมลํ้าทางสังคมและการศึกษา โดยกระจายโอกาสทางการศึกษาไปในทุกช่วงวัยและทุกเพศอย่างเสมอภาคกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นอกจากนี้ เทศบาลเมืองฉะเชิงเทราได้จัดตั้ง ‘ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา’ หรือ Knowledge Center of Chacheongsao (KCC) ขึ้น สอดคล้องกับเงื่อนไขหลัก 6 ประการของเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกที่มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัวและชุมชน ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในที่ทำงาน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งเสริมคุณภาพและความเป็นเลิศในการเรียนรู้ สนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเข้มแข็ง ดังนั้น เมืองฉะเชิงเทราจึงได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ในที่สุด
เมืองแห่งการเรียนรู้ฉะเชิงเทรา สู่เป้าหมายลดความเหลื่อมลํ้า
ฉะเชิงเทราในมุมมองของคนทั่วไปแล้ว อาจเป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าบางปะกง ทางผ่านไปสู่จังหวัดใหญ่ในภาคตะวันออก แต่ท้องถิ่นฉะเชิงเทราเลือกอนาคตของเมือง จากการกำหนดวิสัยทัศน์ของเมืองให้เป็น ‘เมืองสวยงามน่าอยู่’ ให้มีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อลดความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษา
โครงการ ‘ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา’ (KCC) เป็นความคิดริเริ่มและจัดการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือ เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ภายใต้การนำของ นายกลยุทธ ฉายแสง นายกเทศมนตรีเมืองฉะเชิงเทรา ที่มีปณิธานในการพัฒนาเมืองไปพร้อมกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) และภาคีเครือข่ายอื่นๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เข้ามาให้ความรู้ด้านสาธารณสุข และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งมีพันธกิจในการลดความเหลื่อมลํ้าและสร้างโอกาสทางการศึกษา เสนอแนะและสนับสนุนด้านนโยบายในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดรูปธรรม ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รู้ปัญหาด้านการศึกษาในท้องถิ่นเป็นอย่างดี ภายใต้การนำของผู้นำท้องถิ่นที่มีวิสัยทัศน์ เพื่อให้เกิดการกระจายองค์ความรู้และขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ สร้างการมีส่วนร่วมให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง
ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรากำหนดเป้าหมายเพื่อสนองต่อความต้องการและพฤติกรรมของผู้ใช้บริการ โดยมีหลัก 3 ประการคือ การบริการสาธารณะ (Public Service) การให้บริการออนไลน์ (Online Service) และการบริการในพื้นที่ (Onsite Service) นอกจากนี้เมืองฉะเชิงเทรายังจัดให้มีพื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบบริการสาธารณะ โดยแบ่งออกเป็น 9 โซน ได้แก่
- ห้องสมุดเด็ก เป็นอุทยานการเรียนรู้ที่สนุกสนาน เหมาะสมกับจินตนาการของวัยเด็ก
- ห้องสมุดดนตรี เป็นพื้นที่รวมสื่อสร้างสรรค์ทางดนตรี เสียงเพลง
- ห้องสมุดมีชีวิต สำหรับประชาชนในการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือ และสื่อมัลติมีเดียที่หลากหลาย
- โรงละครเคซีซี โรงละครทันสมัยสำหรับการจัดฉายภาพยนตร์และเป็นเวทีการแสดง
- จัตุรัสนัดฝัน เป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ
- ห้องปล่อยแสง เป็นห้องจัดนิทรรศการส่งเสริมความรู้ งานศิลปะ และผลงานคุณภาพ
- บ้านของเรา เป็นหอประวัติศาสตร์เมืองฉะเชิงเทรา นำเสนอข้อมูลด้วยภาพเคลื่อนไหวและจอภาพระบบสัมผัสขนาดยักษ์
- โซนมัลติมีเดีย เป็นพื้นที่การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หลากหลายรูปแบบ เพื่อการเรียนรู้และงานบันเทิง
- ห้องสมุดไอที เป็นห้องคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโปรแกรมต่างๆ ที่เน้นการปฏิบัติจริง ตั้งแต่การใช้ขั้นพื้นฐานจนถึงระดับมืออาชีพ
(ภาพ: KCC ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา)
ขณะที่การให้บริการแบบออนไลน์นั้น ทางเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราได้ร่วมมือกับ TK Park เข้ามาเป็นเครือข่ายการให้บริการออนไลน์ด้วยการเชื่อมต่อระบบห้องสมุดออนไลน์ (Online Library) เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงการอ่านได้อย่างทั่วถึง
ส่วนการให้บริการเชิงพื้นที่นั้น มีการสนับสนุนการเรียนรู้สู่ทุกบ้าน ผ่านการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านการสาธารณสุข เช่น สสส. เป็นต้น และได้นำสื่อต่างๆ ไปแจกจ่ายเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ศูนย์แห่งการเรียนรู้ยังได้เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเด็กในหลากหลายด้าน สร้างประสบการณ์เรียนรู้ใหม่นอกห้องเรียนอย่างเท่าเทียมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
จุดหมายปลายทางของนโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้ของเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราคือ การผลักดันให้เกิด ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ที่มุ่งเน้นมากกว่าการพัฒนาด้านการศึกษา แต่คือการพัฒนาศักยภาพคนให้มีคุณภาพไปพร้อมกัน พร้อมทั้งต้องการพาเมืองแห่งนี้ไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะในอนาคตอีกด้วย