ปี 2558 องค์การสหประชาชาติกำหนด 17 เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) พร้อมเรียกร้องให้ประเทศภาคีเครือข่ายร่วมกันเดินไปสู่เป้าหมายนั้นให้ได้ภายในปี 2573
1 ใน 17 เป้าหมายดังกล่าว มีหนึ่งเป้าที่มุ่งเน้นไปสู่การศึกษา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในปรารถนาเดียวกัน ยูเนสโกเล็งเห็นว่าท้องถิ่นน่าจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ภายใต้หลักคิด ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’
เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) หมายถึง เมืองที่มีการใช้ทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ โดยมีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ มีการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต โดยมีคุณลักษณะที่สำคัญ 6 ประการ คือ
- ส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงอุดมศึกษา
- ส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัวและชุมชน
- ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในที่ทำงาน
- ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
- ส่งเสริมคุณภาพและความเป็นเลิศในการเรียนรู้
- สนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเข้มแข็ง
ปี 2563 เทศบาลนครภูเก็ตผ่านการคัดเลือกจากองค์การยูเนสโกให้เป็นภาคีเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยเทศบาลนครภูเก็ตเป็น 1 ใน 4 เมืองของประเทศไทย ร่วมกับเทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครเชียงใหม่ และเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา และเป็นหนึ่งใน 229 เมือง จาก 64 ประเทศทั่วโลก ที่หวังว่าการสร้างมหานครแห่งการเรียนรู้จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยั่งยืนในวันหนึ่ง
ปี 2564 การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครภูเก็ตนำไปสู่การเปลี่ยนหัวเรือใหม่ ภายใต้การนำของนายกเทศมนตรีคนใหม่ชื่อว่า สาโรจน์ อังคณาพิลาส และถึงแม้เมืองแห่งการเรียนรู้จะไม่ได้เริ่มต้นโดยเขา แต่บทสนทนาต่อจากนี้อธิบายว่า แนวคิดที่ดีกำลังถูกพัฒนาต่อยอด ให้คนภูเก็ตได้ใช้ความรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ความหมายของเมืองแห่งการเรียนรู้คืออะไร แล้วสำคัญอย่างไรกับคนภูเก็ต
ในมุมมองผม เมืองแห่งการเรียนรู้เป็นเมืองที่ใช้ทรัพยากรบุคคลมาบูรณาการให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพร่วมกัน แล้วทุกคนต้องได้ประโยชน์จากตรงนั้นด้วย ซึ่งองค์ความรู้มาจากหลายภาคส่วนด้วยกัน ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องของการเรียนรู้ใหม่เท่านั้น เพราะองค์ความรู้เดิมก็เป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะภูมิปัญญาของชาวบ้าน ภูเก็ตมีสิ่งเหล่านี้เยอะมาก สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญ เราต้องเรียนรู้และเก็บรักษาไว้ เพื่อให้คงอยู่กับพวกเราให้นานที่สุด รวมถึงส่งต่อไปยังคนรุ่นต่างๆ ในวันข้างหน้าด้วย
เมืองแห่งการเรียนรู้สำหรับเทศบาลนครภูเก็ตมีหลายลักษณะด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา ตลอดจนการเรียนรู้ในครอบครัว ชุมชน สังคม แล้วมีการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานที่ทำงานด้วย เพราะสถานที่ทำงานก็เป็นแหล่งองค์ความรู้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถไปซื้อหาหรือไปเรียนรู้จากภายนอก เพื่อนร่วมงานแต่ละคนก็จะมีดี มีความสามารถพิเศษที่แตกต่างกัน มีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นองค์ความรู้ที่จะติดตัวแต่ละบุคคล แล้วยังมีเรื่องของความเป็นเลิศในการเรียนรู้ในแต่ละประเด็น สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้น
แต่ละเรื่อง เทศบาลนครภูเก็ตก็พยายามพัฒนาต่อยอดให้สอดคล้องกับแนวความคิดในการพัฒนาเมืองของเทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งเราได้ตั้งธงไว้ว่าอยากจะเห็นนครภูเก็ตเป็นนครแห่งการสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ให้มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม น่าอยู่ ปลอดภัย และทันสมัยด้วย ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายที่จะผลักดันให้พี่น้องประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาร่วมเรียนรู้ สอดรับกับแนวความคิด ‘discover ภูเก็ต’ คือเทศบาลนครภูเก็ตเป็นเมืองที่น่าค้นหา ส่วนคำถามว่า แล้วค้นหาอะไร เรามีสิ่งที่น่าค้นหาทุกมิติเลย เป็นองค์ความรู้ที่สามารถเชื่อมโยงตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และมุ่งสู่อนาคต ประเด็นเหล่านี้จะครอบคลุมทุกเรื่องของการเรียนรู้
ท่านนายกเทศมนตรีเข้ารับตำแหน่งปีกว่าๆ ก็สานงานต่อได้ทันทีเลยใช่ไหม
ทุกคนรู้เรื่องการบริหารจัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว ยิ่งเมืองเจริญมากขึ้นเท่าไร ทุกคนก็ยิ่งต้องรู้หน้าที่ตัวเองมากขึ้นเท่านั้น เพราะเราเป็นเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เราโชคดีที่มีความเข้มแข็งเหล่านี้ และมีจุดเด่นของแต่ละเครือข่ายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแล้วเมื่อมาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีก็ต่อยอดได้ไม่ยาก เพราะทุกคนพร้อมให้การสนับสนุน
ภาคส่วนอื่นๆ ในภูเก็ต ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนในการผลักดันเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างไรบ้าง
เรื่องนี้เป็นจุดเด่นมากของเทศบาลนครภูเก็ต ความที่เราเป็นเมืองที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นเมืองเศรษฐกิจ ซึ่งทุกภาคส่วนก็มีส่วนช่วยกันเชื่อมโยง แล้วเราเปิดกรอบให้ทุกคนมามีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็น แต่ละคนก็จะคิดแตกต่างหลากหลาย เรื่องเดียวกันก็คิดไม่เหมือนกัน วิธีการแก้ไขปัญหา วิธีการจัดการ บางเรื่องก็แตกต่างกัน แต่ก็พยายามหาจุดที่สมดุลที่สุดเพื่อทำให้เมืองนี้ขับเคลื่อนเรื่องของการเรียนรู้ไปสู่อนาคต
เวลาเราคุยเรื่องนี้คงไม่อาจปฏิเสธเรื่องการจัดสรรงบประมาณได้ คำถามคือเทศบาลนครภูเก็ตจัดการเรื่องงบประมาณอย่างไรให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้
จริงๆ แล้วงบประมาณของเทศบาลเมืองนครภูเก็ตราว 1,100 ล้านบาท งบประมาณในการผลักดันเมืองแห่งการเรียนรู้ เราก็ไม่ได้ใช้แค่โครงการใดโครงการหนึ่งโดยตรง แต่เราจะนำทุกเรื่องมาผสมผสานกัน
จากที่มองแล้วนั่งติ๊กแต่ละรายการ จะเห็นได้ว่า เราใช้งบประมาณที่เกี่ยวเนื่องกับการยกระดับเมืองแห่งการเรียนรู้ ให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองด้วย พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย การปรับแต่งภูมิทัศน์ การเชื่อมโยงเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ด้วย รวมแล้วผมว่าเราน่าจะใช้หลายร้อยล้านด้วยกัน
นี่คืองบประมาณต่อปีใช่ไหม
ใช่ครับ เพราะถ้างบต่อปีแยกแต่ละโครงการ มันจะดูน้อย แต่ถ้าดูโครงการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ แล้วเอามารวมๆ กันก็หลายร้อยล้าน
หมายความว่าเวลาตั้งโครงการ อาจไม่ได้พุ่งไปที่เมืองแห่งการเรียนรู้เสียทีเดียว แต่อาจจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ภายใต้ชุดความคิดเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้
ใช่ครับ ถูกต้องครับ แทบจะเรียกว่าเกือบทุกโครงการสามารถเอามาเชื่อมโยงกันได้ เช่น การพัฒนาทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรก็นับเป็นหนึ่งโครงการที่ส่งเสริมการเรียนรู้ได้ โครงการพัฒนาผู้สูงอายุก็เป็นโครงการที่มาเชื่อมโยงกับเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ การปรับแต่งเมือง การปรับภูมิทัศน์เมืองก็เป็นเรื่องการเรียนรู้เช่นกัน เพราะเป็นการเอาอดีตของเมืองมาเป็นปัจจุบันไปสู่อนาคต สามารถเชื่อมโยงกับเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ การพัฒนาเด็กนักเรียนผ่านโครงการต่างๆ ก็สามารถมาเชื่อมโยงเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ มันเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับการเรียนรู้แทบจะทุกโครงการก็ว่าได้ ส่วนบางโครงการอาจไม่เกี่ยวเลยก็ต้องแยกออกไป
เวลาที่ท้องถิ่นใช้จ่ายเงินทองแบบนี้ ทำให้มีคำถามว่า งบประมาณที่จ่ายไปจะตอบแทนอะไรให้สังคม การที่เทศบาลนครภูเก็ตตั้งงบประมาณโดยตรงและโดยอ้อมเพื่อทำให้เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้ คนภูเก็ตจะได้ผลตอบแทนอะไร
ผมว่าคงเป็นเรื่องที่ประเมินค่าไม่ได้ ถามว่าได้อะไร น่าจะได้มากกว่างบประมาณที่ลงทุนไปด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์การเชื่อมโยงไปถึงเมืองต่างๆ ทั่วโลก ณ วันนี้เราก็เป็นเมืองที่โดดเด่นไปแข่งขันกับนานาประเทศได้ในระดับต้นๆ ของเมืองทั่วโลก เพราะฉะนั้นในส่วนของงบประมาณ เราลงทุนน้อย แต่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามหาศาลทีเดียว เช่นในสถาบันการศึกษาที่เทศบาลนครภูเก็ตดูแลประมาณ 7 โรงเรียน บวกกับ 3 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมถึงชุมชน ประธานชุมชน กรรมการชุมชน ก็มีการพัฒนาต่อยอดอยู่ตลอดเวลา พี่น้อง อสม. อปพร. ก็มีการขับเคลื่อน มีการอบรมเสริมความรู้ให้พี่น้องประชาชน
มีการต่อยอดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ ยกระดับรายได้ต่อหัวต่อคน ให้ทุกคนมีโอกาสในการสร้างฐานะ มีงานทำ รวมถึงการพัฒนาเมืองในรูปแบบใหม่ๆ จะมีอะไรหลากหลายมากในพื้นที่ของเทศบาลนครภูเก็ต เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่า คนภูเก็ตจะได้อะไรจากงบประมาณที่ลงทุนไป ก็คือการยกระดับเมืองไปสู่อนาคต
ยกตัวอย่างกิจกรรมให้ฟังได้ไหม มีกิจกรรมไหนบ้างที่ท่านนายกฯ รู้สึกว่าเป็นตัวที่สามารถขายได้
เราสนับสนุนให้เด็กนักเรียนไปแข่งขันในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับไหนก็แล้วแต่ ล่าสุดในการประกวดทักษะทางวิชาการระดับภาค เราก็ไปคว้ารางวัลเหรียญทอง หรือการแข่งขันความสามารถพิเศษด้านหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ ที่เกาหลีใต้ เราก็ได้เหรียญทองกลับมา
ถัดมาก็มีเรื่องของการยกระดับเมือง การปรับปรุงเมือง ปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างอัตลักษณ์เมืองเชื่อมโยงกับชุมชน ยกระดับองค์ความรู้กับทรัพยากรบุคคลทั้งภายในเทศบาลนครภูเก็ต ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ และให้นโยบายกับทางโรงเรียน ทุกๆ โรงเรียน ผู้บริหารทุกคนจะทราบดีว่า หลังจากนี้เป็นต้นไปต้องเร่งพัฒนาต่อยอดความรู้ความสามารถพิเศษของนักเรียนในสังกัดเทศบาลนครภูเก็ต อย่างน้อยจบการศึกษาออกไป ต้องมีความสามารถพิเศษติดตัวออกไปอย่างน้อย 1 คน ต่อ 1 อย่าง อันนี้เป็นนโยบายที่ชัดเจน
วันนี้เราขับเคลื่อนกันไปเยอะมาก แต่อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เพื่อจะให้เห็นผลรูปธรรม ในระยะอันใกล้นี้ก็คิดว่าคงจะเห็นอะไรที่ชัดเจนขึ้น เพราะการบริหารราชการโดยใช้งบประมาณภาครัฐมันมีระยะเวลาอยู่ ไม่เหมือนของเอกชนที่ทำทันที เกิดทันที เห็นผลทันที แต่ของรัฐมันไม่ใช่แบบนั้น มันจะต้องมีการผ่านงบประมาณ การใช้งบประมาณ ผ่านวิธีการอีกมากมายทีเดียว เพราะฉะนั้นยังมีอีกหลายๆ โครงการที่ ณ วันนี้ยังเห็นผลไม่ชัดเจนมากนัก แต่ภายใน 1-2 ปี เมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอีกมิติหนึ่งแน่นอน
เมืองภูเก็ตเป็นหนึ่งใน 229 เมืองทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยมีอยู่ 4 เมือง คือ เทศบาลนครเชียงราย เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา รวมทั้งภูเก็ต ท่านนายกฯ มีการทำงานเชื่อมองค์ความรู้เป็นเครือข่ายของมหานครแห่งการเรียนรู้เหล่านี้เข้าด้วยกันไหม
ผมเพิ่งไปประชุมที่บราซิล เป็นการประชุมผู้นำเมืองที่เป็นสมาชิกของยูเนสโก มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แล้วนำเสนอเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของแต่ละเมืองในแต่ละด้าน แล้วก็มาผสมผสานกับแนวความคิดของแต่ละคน ก่อนนำมาปรับใช้ในพื้นที่ของตน
มีการแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอ?
ใช่ครับ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน มีการนำเสนอ มีการแลกเปลี่ยนว่า ที่ไหนมีอะไรดี ก็มาแชร์กัน
ท่านนายกฯ เข้าไปอยู่ในวงใหญ่แบบนั้น เห็นโมเดลไหนที่รู้สึกว่าเอามาใช้ในประเทศไทยแล้วน่าจะเข้าท่า
ที่จริงทุกเมืองก็มีบริบทที่คล้ายๆ กัน อยู่ที่ว่าใครจะเลือกเอาความโดดเด่นของแต่ละคนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากกว่ากันเท่านั้นเอง สำหรับเทศบาลนครภูเก็ต คิดว่าสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเดินตามแผนนโยบายเรา เราสู้ได้ทุกเมืองทั่วโลก ผมมั่นใจอย่างนี้ อาจจะต้องใช้เวลาในการบริหารจัดการสักระยะหนึ่ง แต่รับรองว่าไม่เป็นสองรองใครแน่นอน
ถ้าเราดูเจตนารมณ์ของยูเนสโกที่อยากให้แต่ละเมืองเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตภายในปี 2573 หากมองการทำงานของเทศบาลนครภูเก็ต วางเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว อย่างไรบ้าง
ผมมองในมิติที่ไปสู่อนาคต เมืองจะแบ่งเป็น 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือระยะสั้นถึงระยะกลาง ก็ต้องแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม ให้ปัญหาเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรื่องที่สองคือ ระยะกลางจนถึงระยะยาว เราต้องรีบดำเนินการทำแบบแปลน แบบแผน เพื่อจะเดินไปสู่เป้าหมายในวันข้างหน้า โครงการใหญ่ๆ ของเทศบาลนครภูเก็ตมีเยอะแยะที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองแห่งการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำสายไฟฟ้าเป็นสายเคเบิลใต้ดิน โครงการสะพานหินซิตี้ ศูนย์อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว สนามกีฬา สวนสาธารณะ เชื่อมโยงกับบริบทเมืองแห่งการเรียนรู้ แล้วทำเป็นเมืองที่มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อจะส่งผลให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ข้างเคียงได้รับอานิสงส์ในการนำไปสู่เมืองแห่งการสร้างรายได้ และยกระดับเศรษฐกิจ
ถัดมาเรื่องของโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล เช่น ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า แล้วก็ศูนย์เรียนรู้นานาชาติที่จะเกิดขึ้นบริเวณส่วนหนึ่งของภูเก็ต คาดว่าจะเห็นทิศทางในอีกระยะหนึ่ง ตรงนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ แล้วมีการประสานผู้ร่วมทุน เพราะจะให้รองบประมาณของรัฐอย่างเดียวก็ไม่รู้จะเกิดเมื่อไร เพราะฉะนั้นต้องหาอีกหลายช่องทาง เพื่อจะได้ดำเนินการให้สำเร็จตามเป้าหมายให้ได้
‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างไร
ถ้าเราทำดีๆ แล้วประสบความสำเร็จ แม้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จในทุกเรื่องนะ แต่ถ้าเราสามารถดำเนินการต่อยอด สมมุติว่าเดิมสำเร็จ 50 เปอร์เซ็นต์ เราแค่ยกระดับไปถึง 70 เปอร์เซ็นต์ได้ แตกต่างจากเดิมแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ก็มีความหมายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับเรื่ององค์ความรู้ของแต่ละภาคส่วน จากเครือข่ายที่เรามี เช่น เราไปต่อยอดในเรื่องของชุมชน จากชุมชนปกติที่มีรายได้ต่อหัวต่อวันไม่มากนัก ถ้าเราไปเติมเต็มเรื่องขององค์ความรู้อื่นๆ ให้เขา ทำอย่างไรให้ชุมชนมีอาชีพที่หลากหลายขึ้น มีอาชีพที่ต่อยอดจากเงินรายได้ที่มี จากเดิมเพียงแค่วันละ 300-400 บาท ทำให้เขามีรายได้ต่อวันเป็น 600-700 บาท แล้วทำให้เขามีงานทำ ยกตัวอย่างชุมชนนี้ตกงาน 20 คน หากทำให้คนตกงานหรือว่างงานเหลืออยู่ 10 คน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งมีงานทำ มันก็แตกต่างกันแล้ว สุดท้ายก็จะลดความเหลื่อมล้ำได้ในสักวันหนึ่ง
ถ้าเรายกระดับพัฒนาเมืองไปได้ถึงจุดหนึ่ง แล้วมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกหลากหลายอาชีพ ก็จะเป็นตัวเลือกให้พี่น้องประชาชนในแต่ละชุมชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ ก่อให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ก็จะหายไปได้เร็วขึ้น แต่ถ้ายังอยู่จุดเดิม แน่นอนว่าความเหลื่อมล้ำก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ
ในแง่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จะลดช่องว่างเหล่านี้ได้อย่างไร
เรามีแนวความคิดและแนวนโยบายเชิงรุก ให้เด็กทุกคนที่อยู่ในสังกัดเทศบาลนครภูเก็ตต้องมีความสามารถพิเศษติดตัวไปอย่างน้อย 1 คน ต่อ 1 อย่าง ซึ่งผมเชื่อว่า ณ วันนี้สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราเรียนรู้อะไรเยอะมาก เราต้องรู้จักใช้วิกฤตเป็นโอกาส
ที่ผ่านมาเราจะเน้นแต่เรื่องวิชาการ ทำให้เด็กเรียนเก่งอย่างเดียว แต่ผมว่าคิดผิด เพราะวันนี้มีวิธีการที่ต่อยอดให้เด็กมีองค์ความรู้มากมาย ไม่ใช่ต้องไปใส่วิชาการอย่างเดียว คือผมเชื่อว่าวิชาการมีความสำคัญก็จริง แต่ถามว่านักเรียนในชั้นเรียนมีความโดดเด่นทางวิชาการกี่คน กี่เปอร์เซ็นต์ แล้วถ้าเน้นเฉพาะวิชาการอย่างเดียว เด็กที่ไม่ได้เด่นทางวิชาการจะไปไหน ความเหลื่อมล้ำจะเกิดขึ้นสูงมาก ฉะนั้นต้องหาช่องทางพิเศษต่อยอดให้เขา และต้องติดอาวุธทางปัญญาในด้านอื่นๆ ด้วย
ยกตัวอย่าง นักเรียนในห้องนี้มีอยู่ 40 คน สมมุติว่ามีความโดดเด่นทางวิชาการ 10 คน แล้วอีก 30 คนจะทำอย่างไร ก็เติมเข้าไปสิ เติมความสามารถด้านอื่นๆ เข้าไป เช่น ภาษา กีฬา ดนตรี นาฏศิลป์ อาชีพอื่นๆ อีกเยอะแยะเลย อยู่ที่การคิด อยู่ที่การวางนโยบาย
เรื่องพวกนี้ฝ่ายบริหารต้องมาช่วยกันผลักดัน ผมมองว่า ความสามารถพิเศษที่ติดตัวนักเรียนจะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต อยู่ที่ว่าเขาจะใช้หรือไม่ใช้ ถ้าเขาใช้เมื่อไร เขาก็สามารถใช้ได้เลย แต่ถ้าไม่ใช้ก็ไม่เป็นไร เช่น เรื่องดนตรี เขาก็สามารถไปใช้ความสามารถพิเศษทางด้านดนตรีได้ ด้านกีฬา คุณจะเก่งกีฬา แต่อาจไม่ได้เป็นเลิศถึงขั้นมีสโมสรหรือติดทีมชาติ ก็ยังมีอาชีพอื่นๆ ไปต่อยอดได้เยอะแยะ ยิ่งถ้ามีความสามารถด้านภาษาก็จะประกอบอาชีพได้ทุกมุมโลก ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬาอย่างเดียว ไปเป็นคอลัมนิสต์ก็ได้ เป็นนักข่าวก็ได้ เป็นนักกายภาพบำบัดก็ได้ ไปเป็นผู้ฝึกสอนก็ได้ คุณจะทำอาชีพอะไรเกี่ยวเนื่องกับกีฬาก็ได้
การมีผู้นำที่ดีจะทำให้เมืองดีขึ้นอย่างไร
ผู้นำที่ดีในมุมมองผมมีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือต้องแก้ไขปัญหาเมือง เรื่องที่สอง คือ พัฒนาต่อยอดเมือง เราให้ความสำคัญเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็คงไม่ได้ ต้องทำควบคู่กันไปทั้งสองเรื่อง
การให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาก็มีโจทย์ว่า ปัญหาเดิมแก้ยังไงก็ไม่หมด เพราะมันเยอะมากจริงๆ โดยเฉพาะเมืองที่มีการเจริญเติบโต มีประชากรที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มักจะมีปัญหาเข้ามาอยู่ตลอดเวลา แก้ยังไงก็ไม่มีวันหมด พอแก้เรื่องนี้จบ เรื่องใหม่ก็เกิดขึ้น
ส่วนเรื่องการพัฒนาต่อยอด จะพัฒนายังไง ก็ต้องให้ความสำคัญเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรก คือการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในท้องถิ่นที่กำกับดูแล หากคนมากกว่า 50-60 เปอร์เซ็นต์ มีองค์ความรู้ สามารถต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพอื่นๆ ได้ ปัญหาเหล่านี้ก็จะน้อยลง
ส่วนที่สอง เป็นเรื่องของการลงทุนในการต่อยอดพัฒนาเมือง ถ้าหากเราไม่คิด ไม่วางเข็มทิศไปข้างหน้าเป็นแผนปฏิบัติการ เมืองก็คงจะเติบโตไม่ได้ เพราะวันนี้ทุกเมืองทั่วโลกมีการแข่งขันกันสูงมาก ถ้าเราช้าเพียงก้าวเดียว เราก็จะล้าหลังเขา
ขออนุญาตยกตัวอย่างว่า ถ้ามีนักท่องเที่ยว 1 แสนคน เมืองแต่ละเมืองก็ต้องแย่งชิงกัน ต้องมีของดีมาอวดมาโชว์อยู่ตลอดเวลา ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วเขาจะกลับมาอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ แล้วเขาจะมาเรียนรู้อะไรกับเราได้อีก เพราะฉะนั้นเราต้องหาสิ่งใหม่มาทดแทน เพื่อจะดึงดูดคนเหล่านี้ เพื่อให้เขาตัดสินใจเลือกเรา มาท่องเที่ยวกับเรา มาเป็นเพื่อนกับเรา มาเรียนรู้กับเรา เพื่อจะแชร์องค์ประกอบอื่นๆ ร่วมกัน แล้วยกระดับเมืองแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นให้ได้
เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องใช้หลากหลายองค์ประกอบ หลากหลายมิติ มาบริหารจัดการ ครั้นจะคิดว่าต้องทำอย่างไร ตอบด้วยคำตอบเดียวก็คงจะยาก เพราะต้องใช้การบริหารทุกมิติ หากสามารถดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาได้มากเท่าไร ก็ยิ่งประสบความสำเร็จมากเท่านั้น