หากการลงทุนด้านการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็เป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด
ก่อนเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ข้อมูลจากโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (NEA) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551-2562 ของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) แสดงให้เห็นว่า ‘ค่าใช้จ่าย’ เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กในครอบครัวซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปในระบบการศึกษาได้ หรือแม้จะแทรกตัวเข้าไปได้ในตอนแรก แต่ก็อาจต้องออกกลางคันเพราะกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษาจะมีความแตกต่างกันไปตามความเหลื่อมล้ำของโอกาสของแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ดี ด้วยการเกิดขึ้นของนโยบายเรียนฟรี 15 ปี และการยกเลิกการเก็บค่าเล่าเรียนในปี 2553 ส่งผลให้ปัญหาเด็กออกกลางคันมีแนวโน้มลดลงชัดเจนตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
กระนั้น หากพิจารณาโอกาสทางการศึกษาหลังระดับการศึกษาภาคบังคับ หรือโอกาสในการศึกษาต่อในระดับมัธยมปลายและอุดมศึกษา ผ่านฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน จะพบว่า อัตราการเข้าเรียนสุทธิจะเพิ่มขึ้นตาม ‘ชั้นรายได้’ กล่าวคือ คนรวยมีโอกาสได้เรียนต่อมากกว่าคนจน ส่งผลให้เส้นทางความเท่าเทียมในโอกาสทางการศึกษาดูจะสิ้นสุดเพียงแค่ในระดับการศึกษาภาคบังคับเพียงเท่านั้น และเมื่อพ้นไปจากการศึกษาภาคบังคับแล้ว ก็จะหลุดเข้าสู่วังวนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่เดิมในแต่ละพื้นที่
ข้อค้นพบในงานวิจัยดังกล่าวแม้จะเกิดก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังสามารถนำมาอธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นช่วงที่มีการระบาดได้ เพราะอย่างที่หลายคนว่ากัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากจะเป็น ‘วิกฤติใหม่’ ในความหมายว่าเป็นปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้การจัดการรับมือทำได้ยาก ก็ยังเป็นเหมือนแว่นขยายที่ทำให้เห็นปัญหาเดิมชัดมากขึ้น
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็เป็นหนี่งในปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน และได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้นไปอีกเมื่อเกิดโควิด-19 จึงเป็นเหตุผลให้เวทีเสวนา Health Justice ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ ‘เปิดห้องเรียนที่เป็นธรรม: ปิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในสถานการณ์โควิด’ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 จัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ควรค่าแก่การรับฟัง
สารตั้งต้นของเสวนาดังกล่าวมาจากโครงการวิจัย ‘ความยุติธรรมทางสุขภาพ’ เพื่อจะศึกษาทบทวนในประเด็นความยุติธรรมผ่านการตัดสินใจเชิงนโยบายและการออกมาตรการต่างๆ ของรัฐ
โควิดคือไวรัสที่ขยายปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏชัดในช่วงหลังการศึกษาภาคบังคับ สะท้อนผ่านคำบอกเล่าของ ธนายุทธ ณ อยุธยา ศิลปินฮิปฮอปผู้มีชื่อในวงการ (a.k.a) ว่า ‘Elevenfinger’ ซึ่งพูดในฐานะคนในพื้นที่คลองเตยซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก
“ในชุมชนคลองเตย ส่วนใหญ่แล้วเด็กอายุ 15-18 ปี คือช่วงที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะหลายโรงเรียนปิดตัวไป และการเข้าถึงการศึกษาค่อนข้างยาก เด็กบางคนไม่มีโทรศัพท์ หรือบางคนมีโทรศัพท์ก็ต้องมีเงินมาจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต ทำให้ภาระของพวกเขาเพิ่มขึ้น บางคนก็เลยไม่ไหวแล้ว ไม่อยากเรียนแล้ว”
ด้าน ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง ย้ำว่าในพื้นที่คลองเตย ปัญหาการศึกษากับโควิด-19 มีความทับซ้อนกันอยู่ เพราะเด็กในคลองเตยมีปัญหาด้านการศึกษาอยู่แล้ว ไม่ว่าการหลุดออกนอกระบบ อัตราการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาต่ำ หรือจำเป็นต้องหยุดเรียนเพื่อออกมาทำงาน
พริษฐ์ วัชรสินธุ CEO StartDee (บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา) ยังเน้นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยความเหลื่อมล้ำที่ว่ากินความหมายไล่ตั้งแต่คุณภาพการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียน ความเหลื่อมล้ำในด้านความพร้อมของสถานศึกษา ที่โรงเรียนขนาดเล็ก ขาดแคลนครูอย่างมาก ทำให้ครูหนึ่งคนต้องสอนหลายวิชา ไม่ว่าจะเป็นวิชาที่ตัวเองถนัดหรือไม่ก็ตาม
พริษฐ์เล่าต่อว่า เมื่อถึงช่วงที่เกิดโควิด-19 ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถูกขยายความรุนแรงเพิ่มขึ้น อย่างน้อย 2 กรณี
หนึ่ง – ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า มีนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 65,000 คน ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาวะยากจนเฉียบพลัน ทำให้หลายครอบครัวตัดสินใจเอาลูกออกจากระบบการศึกษา หรือให้ลูกออกมาช่วยทำงานหารายได้เสริม
สอง – ปัญหาการเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ นอกจากเด็กจะเข้าไม่ถึงโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังมีอุปสรรคเรื่องความพร้อมในการเรียนออนไลน์อีกด้วย โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่จำเป็นต้องมีผู้ปกครองคอยช่วยเหลือ ขณะที่ผู้ปกครองเองก็จำเป็นต้องออกไปทำงาน ยิ่งครอบครัวที่มีฐานะการเงินไม่ดี ยิ่งต้องเจอสภาพที่เข้าถึงการศึกษาได้ยากขึ้น
จะแก้กันอย่างไร
ศิริพรเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่า จำเป็นต้องคำนึงถึงบริบทเชิงพื้นที่ เพราะปัญหาของแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน อย่างในพื้นที่คลองเตยก็จำเป็นต้องจัดการกับค่านิยมที่คนในชุมชนมีต่อการศึกษา ตลอดถึงจำเป็นต้องมีเงินสนับสนุนเพื่อป้องกันและดึงไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา
“ในพื้นที่คลองเตยเป็นปัญหาที่ซ้ำซ้อน ไม่ใช่แค่เรื่องการเรียนออนไลน์เพียงอย่างเดียว ยังเป็นเรื่องการศึกษาที่เด็กไม่สามารถเข้าถึงระบบที่ส่วนกลางจัดมาให้ได้ และสิ่งที่เด็กจะต้องเผชิญนอกจากการเรียนแล้ว ยังต้องมีภาระในการรับผิดชอบครอบครัว ภาระที่ว่านี้ไม่ใช่เป็นกับแค่เด็กบางคน แต่เป็นค่านิยมในชุมชนที่ทำให้เด็กต้องเหนื่อย
“ขณะที่เรียนเด็กต้องได้รับเงินสำหรับประคองชีวิตตนเองไปด้วย โรงเรียนต้องให้ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และวุฒิการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเหลือไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบ”
สำหรับพริษฐ์เสนอว่า เราไม่อาจมองแค่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด แต่ต้องวางแผนล่วงหน้าระยะยาว ซึ่งแบ่งออกได้ 3 ระยะ
- ระยะที่ 1 ประคับประคอง (retain) ในระหว่างที่โรงเรียนยังไม่สามารถเปิดได้ เป้าหมายสำคัญคือต้องประคับประคองสถานการณ์ให้ได้เพื่อให้เด็กหลุดออกจากระบบน้อยที่สุด หรือทำให้เด็กที่ยังอยู่ในระบบมีพัฒนาการและเข้าถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพให้มากที่สุด
- ระยะที่ 2 ฟื้นฟู (recover) หากโรงเรียนสามารถกลับมาเปิดเรียนได้แล้ว ต้องฟื้นฟูสิ่งที่สูญเสียไป ทั้งเรื่องการเรียนรู้ที่ถดถอย ปัญหาทางการเงิน รวมถึงสภาพจิตใจของนักเรียนที่อาจมีความเครียดสะสม สำหรับการฟื้นฟูสภาพการเงิน หมายถึง การหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาให้กับครอบครัวของเด็ก
- ระยะที่ 3 สร้างใหม่ (remake) ถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด รวมถึงปัญหาเรื้อรังในระบบการศึกษาไทย เพื่อสร้างระบบการศึกษาใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นทั้ง การให้สิทธิและสวัสดิการทางการศึกษา เช่น งบอาหารกลางวัน รถโรงเรียน สวัสดิการด้านอินเทอร์เน็ต หรือ การพัฒนาและการแบ่งเบาภาระของครูด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ เช่น ช่วยจัดตารางการสอน ช่วยออกแบบคำถาม ช่วยตรวจข้อสอบ เพื่อให้ครูมีเวลาเต็มที่ในการทำกิจกรรมกับนักเรียน เป็นต้น
หมายเหตุ: สำหรับผู้สนใจแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สามารถ อ่านเพิ่มเติมเรื่อง 5 นวัตกรรมเปลี่ยนเกมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน ซึ่งถูกเสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา (All for Education Conference) เมื่อวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2563 ได้ที่ 5 นวัตกรรมสู่ความเสมอภาคทางการศึกษา – วสศ