รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 วรรคแรก บัญญัติว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”
จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่า นอกจากรัฐจะประกาศหน้าที่ของตนในการจัดการศึกษาแก่เด็กทุกคนเป็นเวลา 12 ปี ตลอดระยะเวลาการศึกษาภาคบังคับแล้ว รัฐยังต้องจัดให้มีการศึกษานั้นโดย ‘ไม่เก็บค่าใช้จ่าย’ และ ‘มีคุณภาพ’
โอกาสทางการศึกษาแลกมาด้วยรายจ่าย
ข้อมูลจากโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (NEA) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551-2562 โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ระบุว่า ค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กในครอบครัวซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปในระบบการศึกษาได้ และแม้จะแทรกตัวเข้าไปได้ในตอนแรก แต่ก็อาจต้องออกกลางคันเพราะกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอ โดยปัญหาเรื่องเด็กนอกระบบการศึกษาจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ตามความเหลื่อมล้ำของโอกาส อย่างไรก็ดี ด้วยการเกิดขึ้นของนโยบายเรียนฟรี 15 ปี และการยกเลิกการเก็บค่าเล่าเรียนในปี 2553 ส่งผลให้ปัญหาเด็กออกกลางคันมีแนวโน้มลดลงชัดเจนตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
ภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษา โดยเฉพาะในช่วงระดับการศึกษาภาคบังคับ ที่เปลี่ยนมือจากเดิมเป็นภาระของผู้ปกครอง กลายเป็นการอุดหนุนโดยรัฐ นับว่ามีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษา และเป็นการขมวดช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้แคบลงได้ไม่น้อย
กระนั้นก็ตาม แม้ปัญหาการออกจากโรงเรียนกลางคันจะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงมีเด็กในวัยเรียนอยู่นอกระบบการศึกษา หรือไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ โดยเฉพาะช่วงอายุระหว่าง 3-17 ปี เป็นจำนวนกว่า 5 แสนคน ในปี 2562
หากพิจารณาโอกาสทางการศึกษา ‘หลัง’ ระดับการศึกษาภาคบังคับ ทั้งในระดับมัธยมปลายและอุดมศึกษา ผ่านฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน (ชั้นรายได้) จะพบว่า อัตราการเข้าเรียนสุทธิจะเพิ่มขึ้นตาม ‘ชั้นรายได้’ กล่าวคือ คนรวยมีโอกาสได้เรียนต่อมากกว่าคนจน ส่งผลให้เส้นทางความเท่าเทียมในโอกาสทางการศึกษาดูจะสิ้นสุดเพียงแค่ในระดับการศึกษาภาคบังคับเพียงเท่านั้น และเมื่อพ้นไปจากการศึกษาภาคบังคับแล้ว ก็จะหลุดเข้าสู่วังวนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่เดิมในแต่ละพื้นที่
คุณภาพการศึกษาแปรผันตามเศรษฐานะ
ความเหลื่อมล้ำไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในด้านโอกาสทางการศึกษาเพียงเท่านั้น แต่ยังปรากฏผ่าน ‘คุณภาพ’ ทางการศึกษาอีกด้วย หากพิจารณาจากรายจ่ายรวมต่อหัว ประกอบกับผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET จะเห็นว่าจังหวัดที่ฐานะเศรษฐกิจดีกับจังหวัดที่ฐานะเศรษฐกิจไม่ดี มักมีผลคะแนนไม่ห่างกันมากนักในระดับ ป.6 เพราะงบประมาณของรัฐถูกเกลี่ยไปยังจังหวัดที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนั่นเอง
แต่ความเหลื่อมล้ำจะมาปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในคะแนน O-NET ระดับ ม.6 โดยมีเหตุสำคัญหนึ่งเป็นเพราะการศึกษาภาคบังคับของประเทศไทยกำหนดไว้เพียงแค่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาปรากฏออกมาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
หากพิจารณาจากคะแนน O-NET ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการที่โรงเรียนรัฐขนาดใหญ่มีคุณภาพการศึกษาดีกว่าโรงเรียนรัฐขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนรัฐขนาดใหญ่พิเศษที่จะมีคุณภาพการศึกษาสูงกว่าโรงเรียนรัฐขนาดอื่นๆ มาก
กล่าวได้ว่า หากใช้คะแนนเฉลี่ย O-NET เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา คุณภาพทางการศึกษาจะสัมพันธ์กับฐานะทางเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด โดยจังหวัดที่มีฐานะเศรษฐกิจดีจะมีแนวโน้มคุณภาพการศึกษาที่ดีกว่าจังหวัดที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี กล่าวอย่างง่ายคือ คุณภาพทางการศึกษาจะแปรผันตรงกับรายได้ของจังหวัด
ออกจากกับดักความเหลื่อมล้ำ
จากที่ได้กล่าวมา จะเห็นว่าทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาสทางการศึกษา ปัญหาการออกกลางคัน และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านคุณภาพในระดับหลังการศึกษาภาคบังคับนั้น ล้วนสัมพันธ์กับปริมาณทรัพยากรเพื่อการศึกษาที่รัฐบาลส่วนกลางได้จัดสรรลงไปในพื้นที่ ซึ่งการจัดสรรดังกล่าวมักจะจัดสรรไปโดยขาดข้อมูลการใช้งบประมาณในมิติเชิงพื้นที่
สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แนวทางหนึ่งสามารถทำได้โดยให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติรายจังหวัด เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น อันจะทำให้ภาครัฐสามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างเหมาะสม
หลักการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณในแต่ละพื้นที่นั้น ภาครัฐควรพิจารณาให้มีการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาน้อยลงเมื่อจังหวัดมี GPP (Gross Provincial Product หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด) ต่อหัวสูงขึ้น ตลอดจนปรับลดบทบาทและหน้าที่ที่กำหนดจากส่วนกลาง ด้วยการกระจายหรือมอบอำนาจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น เขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษามากขึ้น โดยส่วนกลางควรดำรงอยู่ในฐานะผู้กำกับทิศทางและติดตามประเมินผลลัพธ์ เพื่อใช้ตัดสินใจดำเนินการเป็นหลักเท่านั้น
อ้างอิง
- โครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (NEA) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551-2562) โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.)