โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาทางสายตาให้เด็กสามารถเข้าถึงคุณภาพการมองเห็นที่ดี โดยการตรวจคัดกรองสายตาเด็กและตัดแว่นฟรีตามสิทธิที่ควรได้รับ โดยมีรายงานการวิจัยของ สปสช. พบว่า จำนวนผู้เข้าถึงสิทธิทางสายตานั้นมีปริมาณน้อยมากเพราะไม่รู้สิทธิ นอกจากนี้ ยังเป็นการเน้นยํ้าถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพสายตาของเด็กไทยที่มีอายุระหว่าง 3-12 ปี ซึ่งกำลังอยู่ในวัยเรียนรู้ หากเด็กเผชิญกับปัญหาสุขภาพสายตาจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ หากไม่รีบดูแลรักษาสุขภาพสายตาของเด็กอย่างเหมาะสมจะส่งผลกระทบในระยะยาวได้
โครงการ I SEE THE FUTURE มุ่งเน้นไปที่จังหวัดที่มี ‘ท้องถิ่นเข้มแข็ง’ นอกจากสมุทรสงครามแล้ว ยังมีสุรินทร์และปัตตานี ในฐานะจังหวัดนำร่องโครงการ ก่อนที่จะขยายโครงการออกไปให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ
กสศ. จับมือภาคีท้องถิ่น ร่วมต่อยอดโครงการทั่วประเทศ
แคมเปญ ‘I SEE THE FUTURE: เพื่ออนาคตที่ชัดเจนและเป็นไปได้ของเด็กทุกคน’ เริ่มต้นในช่วงเช้าของวันที่ 8 มกราคม 2567 บริเวณลานอเนกประสงค์โรงเรียนเทศบาล 2 วัดเกษมสรณาราม (วงศ์ประชานุเคราะห์) โดยมีภาคีเครือข่ายและโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสงคราม เข้าร่วมกิจกรรมตรวจวัดสายตาฟรีโดยนักทัศนมาตรที่มีความเชี่ยวชาญ
นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวเปิดงานและให้โอวาทโดยมีใจความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับมิติด้านสุขภาพและการศึกษาว่า “ท้องถิ่นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและสนับสนุนให้โรงเรียนต่างๆ เอาใจใส่และดูแลเรื่องสายตาให้กับเยาวชนและลูกหลานของเรา ทั้งยังรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ กสศ. และ สปสช. ได้เลือกพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามคือ เทศบาลเมืองสมุทรสงครามและเทศบาลตำบลอัมพวา เป็นพื้นที่นำร่องของโครงการในครั้งนี้ เพื่อลดความเหลื่อมลํ้าในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการสายตา ให้เด็กมีสายตาที่ดี เพื่ออนาคตที่ดีของพวกเขา”
นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กล่าวไว้ในวีดิทัศน์บอกเล่าเรื่องราวความสำคัญของสุขภาพสายตาเด็กและการเรียนรู้ว่า “หนึ่งในปัญหาที่สำคัญด้านสุขภาพสายตาต่อโอกาสทางการศึกษาและคุณภาพในการเรียนรู้ของของเด็กก็คือ ปัญหาสายตาที่บกพร่อง หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กที่ไม่เต็มศักยภาพ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการหลุดออกจากระบบการศึกษาได้
“สปสช. เห็นว่ายังมีเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส รวมถึงกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ ดังนั้น สปสช. และ กสศ. จึงผลักดันโครงการนี้เพื่อสนับสนุนสิทธิประโยชน์และบริการด้านสุขภาพด้านสายตาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงการบริการ ซึ่งจากรายงานพบว่ามีการเข้าถึงสิทธินี้น้อยมาก จึงร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทเชิงรุกมากขึ้น”
ด้านแกนหลักสำคัญอีกองค์กรหนึ่งคือ กสศ. ในการผลักดันโครงการในครั้งนี้ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า “จังหวัดสมุทรสงคราม แม้จะเป็นจังหวัดขนาดเล็ก ประชากรไม่มาก แต่ท้องถิ่นของจังหวัดสมุทรสงครามนั้นมีความเข้มแข็ง ทาง กสศ. และ สปสช. จึงเลือกให้สมุทรสงครามเป็น ‘จังหวัดนำร่อง’ โครงการ I SEE THE FUTURE ทั้งยังมีโรงเรียนที่เข้มแข็ง ทำให้เกิดกลไกท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพมาก
“จากรายงานของ สปสช. เรื่องการเข้าถึงสิทธิตรวจสุขภาพสายตาและการตัดแว่นฟรีที่มีปริมาณน้อยมาก ทำให้คณะทำงานมุ่งเป้าไปยังพื้นที่ที่มีองค์กรท้องถิ่นเข้มแข็งก่อน เพื่อสร้างนวัตกรรมการจัดการพื้นที่ต้นแบบ การคัดกรองและการเบิกจ่ายสวัสดิการเหล่านี้จะเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เด็กและเยาวชนไม่เสียโอกาส เมื่อเด็กได้รับการตรวจคัดกรองและได้รับสวัสดิการแว่นตานี้แล้ว เด็กจะได้รับการดูแลรักษาภายในระยะเวลาที่สำคัญที่สุดของชีวิตพวกเขา ดังที่จักษุแพทย์และนักทัศนมาตรกล่าวว่า ‘หน้าต่างแห่งโอกาสทางด้านสายเปิดและปิดเร็วมาก’ หากเด็กที่มีปัญหาด้านสายตาในช่วงอายุ 8-10 ปี ยังไม่ได้รับการรักษา หน้าต่างแห่งโอกาสจะปิดไปตลอดชีวิตของเขา”
นอกจากนี้ ดร.ไกรยส ยังเน้นยํ้าถึงแนวทางสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับทุกคน (education for all) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายสำหรับการศึกษา (all for education) ด้วย
“ในวันนี้เราได้เห็นภาพความร่วมมือที่นี่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้นำจังหวัด ผู้นำท้องถิ่น จักษุแพทย์ นักทัศนมาตร และโรงเรียน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและหลักประกันโอกาสทางการศึกษาได้ในที่สุด”
ด้านผู้เชี่ยวชาญทางสายตา นายศิริชัย คุ้มโห้ ผู้แทนสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย เน้นยํ้าความสำคัญของสายตาต่อการเรียนรู้ว่า “ที่ผ่านมาทางสมาคมฯ พบว่า เด็กๆ ที่มีปัญหาทางสายตาจะมีปัญหาในการเรียนรู้มากกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งทางโรงเรียนและครอบครัวจำเป็นต้องช่วยกันสังเกตพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงความผิดปกติทางสายตาของเด็ก เช่น เด็กจะไม่ซน ไม่เล่นปีนป่าย มักเกาะติดผู้ปกครองหรือครู กะพริบตาถี่ ซึ่งผู้ปกครองและครูต้องร่วมกันสังเกตบุตรหลานของตน หากพบว่าเด็กมีความบกพร่องทางด้านสายตา จำเป็นต้องรีบเข้ารับการตรวจคัดกรอง”
นอกจากความสำคัญของสุขภาพสายตาและการเรียนรู้ของเด็กแล้ว หน่วยงานในระดับท้องถิ่นก็มีความสำคัญไม่น้อยในการร่วมผลักดันแคมเปญระดับพื้นที่ครั้งนี้เพื่อให้เป็นโมเดลต้นแบบ โดย นายอรุณ แก้วอ่อน ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองสมุทรสงคราม กล่าวว่า “แม้ว่าในเขตเทศบาลเมืองสมุทรสงครามจะมีขนาดเล็ก การดำเนินการด้านสาธารณสุขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทางเทศบาลก็ยังมีความตั้งใจร่วมดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านสายตาของเด็ก เพราะหากละเลยไม่มีการรักษาก็จะส่งผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กและเยาวชน
“โครงการออกแบบนวัตกรรมการคัดกรองสายตา I SEE THE FUTURE ช่วยสนับสนุนภารกิจของทางเทศบาล ทั้งการตรวจวัดคัดกรองจากผู้เชี่ยวชาญ ให้ความรู้ในการสังเกตพฤติกรรม ทั้งยังได้ข้อมูลเชิงลึกด้านสุขภาพตา ที่จะช่วยให้ท้องถิ่นนำไปจัดทำแผนสุขภาพชุมชน และผลจากการดำเนินโครงนี้จะเป็นต้นแบบของท้องถิ่นในการสร้างสุขภาพให้กับประชาชนต่อไป”
ด้าน นายวิรัติ นิลศรี รองนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลอัมพวา กล่าวขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ที่ยกให้เทศบาลตำบลอัมพวาเป็น ‘อัมพวาโมเดล’
“เด็กจะมีอนาคตที่ดีในวันข้างหน้า ล้วนขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายที่ดี และหนึ่งในนั้นคือสุขภาพสายตา หากเด็กมีสายตาที่ดี เขาก็จะสามารถเรียนรู้และมีอนาคตที่ดีได้”
อีกหนึ่งเครือข่ายที่ขาดไม่ได้คือ ภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาและลดความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาซึ่งทำงานเชิงรุกในพื้นที่ ที่จะมาบอกเล่าสถานการณ์ของกลุ่มเด็กเปราะบางที่มีแนวโน้มด้านปัญหาสายตา โดยนายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ภาคีการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่สมุทรสงคราม ได้รายงานสถานการณ์ว่า “โครงการ I SEE THE FUTURE เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเปราะบาง เด็กพิเศษ ที่มีจำนวนมากพอสมควรในจังหวัดของเรา ทำให้เราอยากขับเคลื่อนโครงการไปพร้อมกับภาคีต่างๆ ซึ่งจากการคัดกรองสายตาในโรงเรียนในเขตเทศบาลตำบลอัมพวาเพียงพื้นที่เดียว เราก็พบว่ามีเด็กที่มีปัญหาสายตาอย่างน้อย 2 คน ต่อห้องเรียนที่มีนักเรียน 25-30 คน ดังนั้นเราจะต้องยิ่งสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทั้งจักษุแพทย์และนักทัศนมาตรด้วย เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที”
ภายหลังจากการเปิดงานเพื่อนำเสนอความสำคัญของปัญหาและนำเสนอโครงการ I SEE THE FUTURE ในระดับพื้นที่ ยังมีการแบ่งปันประสบการณ์จากเด็กผู้มีปัญหาสายตา การมองอนาคตของเด็ก และเสียงสะท้อนของคุณครูที่มีต่อปัญหาสายตาของเด็กในเวทีเสวนาด้วย ซึ่งทางคุณครูได้รับความรู้เชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับสายตาและขอเป็นส่วนหนึ่งของการสังเกตเด็กๆ ในห้องเรียน เพื่อนำไปสู่การตรวจคัดกรองสายตาของเด็กให้ทันท่วงทีต่อการรักษา เพราะเด็กๆ ต้องใช้สายตาในการเรียนรู้ ทั้งยังต้องมีการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีในการศึกษาอีกด้วย
ขณะที่ นักเรียนหญิงชั้น ป.5 โรงเรียนเทศบาล 2 วัดเกษมสรณาราม ระบุว่า ตนเองเริ่มมีปัญหาด้านสายตาจากการมองกระดานในห้องเรียนไม่ชัด แม้จะย้ายมานั่งหน้ากระดานแล้วยังรู้สึกว่าภาพเบลอ พอได้ตรวจคัดกรองและรับแว่นตาแล้ว สามารถมองเห็นได้ชัดขึ้นมากกว่าเดิม
ส่วนนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงครามพบว่า เกิดปัญหาสายตาจนต้องใช้โทรศัพท์มือถือในการถ่ายภาพกระดาน เพื่อนำมาดูว่าข้อความและเนื้อหาบนกระดานนั้นคืออะไร ขณะที่การทำกิจกรรมต่างๆ ที่ตนเองชอบ อย่างการเต้นคัฟเวอร์ ก็ไม่สามารถทำได้ดีนัก เพราะไม่สามารถมองเห็นท่าเต้นของตนเองในกระจกได้ชัดเจน ซึ่งตัวเขาเองมีความฝันที่จะเป็นนักเต้น แม้ว่าจะเคยไปตรวจสายตาแล้ว แต่ไม่สามารถซื้อแว่นตาได้ เนื่องจากมีราคาแพงมาก
เนื่องจากความสำคัญของสายตาที่มีผลต่อการเรียนรู้ ทาง กสศ. สปสช. จังหวัดสมุทรสงคราม ภาคีเครือข่าย และ อปท. จึงได้มอบแว่นตาฟรีตามสิทธิที่เด็กเหล่านี้ควรได้รับ ทั้งยังเป็นของขวัญวันเด็กในปี 2567 ด้วย โดยมีผู้ได้รับแว่นตาฟรีในชุดแรกจำนวน 9 คน โดยเด็กที่มีอายุน้อยที่สุดคือ นักเรียนชั้นอนุบาล 2
นอกจากนี้ ทางโครงการยังมีการแจกของขวัญวันเด็กเป็นตุ๊กตา สมุด และอุปกรณ์การเรียน พร้อมทั้งแจกไอศกรีมฟรี ทั้งยังมีกิจกรรมวาดภาพระบายสีในหัวข้อ ‘อาชีพในฝันของเด็ก’ พร้อมการถ่ายรูปคอสเพลย์อาชีพในฝันซึ่งได้รับความสนใจจากเด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้เป็นอย่างมาก