“ความรู้สึกแรกที่ได้มองตาเด็กกำพร้าใน 3 จังหวัดชายแดนใต้พบว่า พวกเขาเป็นเด็กที่ไม่มีแววตา ชืดชา ขาดจินตนาการ ลองคิดดูว่าเด็กเหล่านี้จะเติบโตมาอย่างไร”
ประโยคชวนตั้งคำถามจาก ฐิตินบ โกมลนิมิ ในฐานะผู้มีประสบการณ์การทำงานสื่อเกี่ยวกับประเด็น 3 จังหวัดชายแดนใต้มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ที่ทำให้สถานการณ์เด็กกำพร้าเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นับตั้งแต่ปี 2547 ที่สถานการณ์ความรุนแรงเริ่มปะทุขึ้น ส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมหาศาล เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน บ้างทุพพลภาพ บ้างเกิดปัญหาสุขภาพจิต เด็กและผู้หญิงจำนวนไม่น้อยต่างต้องเผชิญกับภาวะเหล่านี้จากการสูญเสียเสาหลักของครอบครัว จนกระทบไปถึงปัญหาด้านการศึกษาและการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต
หากมองเฉพาะประเด็น ‘เด็กกำพร้า’ ก็นับว่าเป็นปัญหาที่ยากจะรับมือไหวสำหรับเด็กและเยาวชน แต่เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยความรุนแรงจากสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยิ่งทำให้ปัญหานั้นทบทวีมากยิ่งขึ้น ข้อมูลที่จะนำเสนอถัดจากนี้คือส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงความหนักหน่วงของปัญหาเด็กกำพร้าในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งจำเป็นที่ทุกฝ่ายควรที่จะเรียนรู้และเข้าใจร่วมกัน
เมื่อความรุนแรง กระชากพ่อและแม่ออกไปจากเด็ก
เด็กกำพร้าคือใครบ้าง?
เพื่อทำความเข้าใจโดยไม่ลดทอนความรุนแรงของปัญหา ฐิตินบเริ่มด้วยการจำแนกเด็กกำพร้าในพื้นที่ชายแดนใต้ออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่หนึ่ง – เด็กที่ต้องกำพร้าจากการสูญเสียพ่อแม่ในภาวะปกติในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ กรณีนี้มีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) เป็นผู้ดูแลหลัก
กลุ่มที่สอง – เด็กกำพร้าที่ต้องสูญเสียพ่อแม่ในสถานการณ์ความรุนแรง จากข้อมูลปี 2559 ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 12 สำรวจพบว่า เด็กกลุ่มนี้มีทั้งสิ้น 8,626 คน
กลุ่มที่สาม – เด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความรุนแรงที่ไม่ได้รับ ‘การรับรอง 3 ฝ่าย’ จากรัฐ (ทหาร ตำรวจ และปกครอง) เนื่องจากถูกประเมินว่า พ่อแม่ของพวกเขาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสถานการณ์ความรุนแรง นั่นหมายความว่า เด็กกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากรัฐ และไม่ถูกบันทึกข้อมูลในระบบการเยียวยา ทำให้เด็กกลุ่มนี้ถูกผลักให้อยู่ภายใต้การดูแลของภาคประชาสังคมและองค์การนอกรัฐอย่าง NGO (Non-governmental Organization) โดยปริยาย
ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ เด็กกำพร้าในกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งถูกจัดรวมอยู่ในกลุ่ม ‘เด็กกำพร้าทั่วไป’ ตามนิยามของ พม. ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่าย นั่นเพราะเด็กกลุ่มนี้ต้องเจอกับความรุนแรงหลายระดับ ทั้งความสูญเสีย บาดแผลจากความรุนแรง และการถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลและเยียวยาในระยะยาวตามความซับซ้อนของปัญหา การแก้ปัญหาโดยการมัดรวมกลุ่มเช่นนี้จึงอาจไม่ใช่วิธีการที่ดีนัก และอาจผลักให้เด็กเข้าสู่สภาวะเปราะบางมากกว่าเดิม
กลุ่มที่สี่ – เด็กกำพร้านอกพื้นที่ หรือเด็กที่ต้องสูญเสียพ่อแม่จากสถานการณ์ความรุนแรง และไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หากแต่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศนับพันคน จากข้อมูลในปี 2558 ของศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) พบว่า เด็กกำพร้ากลุ่มนี้คือลูกของเจ้าหน้าที่ทหารพราน ซึ่งถูกเกณฑ์ให้มาประจำการบริเวณชายแดน และเป็นกลุ่มที่อาจไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดเข้าไปเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง
จากข้อมูลการจัดกลุ่มเด็กกำพร้าออกเป็น 4 กลุ่มข้างต้น เป็นการสรุปให้เห็นถึงภาพรวมของผลกระทบจากความสูญเสียในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถัดจากนี้เป็นการนำเสนอถึงผลกระทบจากความสูญเสียให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ผลกระทบที่ 1: เด็กกำพร้าที่ต้องโตมากับ ‘ความว่างเปล่า’
ฐิตินบระบุว่า การสูญเสียที่เกิดขึ้นในครอบครัวหนึ่ง ผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ความรุนแรงส่วนใหญ่มักเป็น ‘พ่อ’ ส่วนผู้ที่ต้องแบกรับสภาพและเผชิญชะตากรรมหลังจากนั้น เป็นใครไปไม่ได้นอกจากผู้เป็น ‘แม่’ เมื่อความรุนแรงกระชากผู้ชายออกไปจากครอบครัว ผู้หญิงจึงต้องลุกขึ้นมาเป็นเสาหลักในสภาวะจำเป็น ยิ่งในบริบทพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีเงื่อนไขทางศาสนาและวัฒนธรรมเป็นตัวแปรสำคัญ ทำให้ภาระจากการเป็น ‘หม้าย’ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้หญิง อีกทั้งผู้ชายในบางครอบครัวอาจไม่ได้มีภรรยาเพียงคนเดียว ดังนั้นกว่ารัฐจะมองเห็นวิกฤติแม่หม้ายและเด็กกำพร้าที่เกิดขึ้น เวลาก็ล่วงเลยไปเป็นระยะเวลาหลายสิบปีแล้ว
ในช่วงแรกกลุ่มผู้หญิงที่ต้องกลายเป็นแม่หม้าย ทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิม ถือเป็นปัญหาที่ซับซ้อน อีกทั้งเมื่อเกิดการสูญเสีย พวกเขาต้องอยู่ท่ามกลางเสียงร้องไห้และบาดแผลทางใจเป็นเวลานาน ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลพบว่า กว่าแม่หม้ายคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาตั้งหลักได้อีกครั้ง ต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี โดยเฉพาะกลุ่มแม่หม้ายที่เป็นมุสลิมที่ต้องยึดแนวทางปฏิบัติตามหลักศาสนา นั่นคือ พวกเธอไม่สามารถออกนอกบ้านได้เป็นเวลา 45 วัน ภายหลังสามีเสียชีวิต ซึ่งส่งผลต่อปากท้องของครอบครัวโดยตรง ขณะเดียวกัน กระบวนการเยียวยาของภาครัฐก็ไม่ครอบคลุมเพียงพอต่อเงื่อนไขชีวิตของพวกเขา ปลายทางของปัญหานี้ จึงตกอยู่ที่เด็กกำพร้าจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับพัฒนาการที่ถดถอย ไม่ว่าจะทางกายและจิตใจ ไปจนถึงความฝันอันว่างเปล่า
ฐิตินบขยายความหมายของ ‘ความว่างเปล่า’ ในที่นี้ว่า เป็นภาวะที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้เป็นภรรยาและแม่เสียใจ ตั้งหลักไม่ได้ 45 วันที่ไปไหนไม่ได้ จะกินจะอยู่อย่างไร โดยเฉพาะหากเป็นครอบครัวที่มีหนี้ จะจัดการหนี้อย่างไร คำถามมากมายเกิดขึ้นรอบตัวพวกเธอ ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้นำศาสนาที่คอยชี้นำว่า เป็นผู้หญิง อย่าเพิ่งออกจากบ้าน กรณีนี้ยิ่งทำให้พวกเธอต้องรับมือกับภาวะที่มีคนรอบข้างมาคอยบอกให้ทำสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดระยะเวลาหนึ่ง หากผู้เป็นแม่ตั้งหลักได้เร็ว เด็กก็จะได้รับการดูแล แต่กรณีที่แม่ต้องออกไปทำงาน เด็กก็จะถูกทิ้ง หรือหากไม่เหลือใคร เด็กก็จะต้องโตด้วยตัวเองภายในพื้นที่ชุมชนนั้น
เวลาผ่านไป 18 ปี สถานการณ์ความรุนแรงทำให้ผู้หญิงลุกขึ้นมามีบทบาทมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ชายกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถูกเพ่งเล็งจากภาครัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนชาย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การประกอบอาชีพเป็นไปอย่างยากลำบากจากการถูกติดตามและตรวจสอบจากรัฐอยู่ตลอดเวลา เมื่อผู้หญิงต้องออกไปทำงานแทน เด็กจึงถูกละเลย หรือกรณีที่ต้องสูญเสียทั้งพ่อและแม่ เด็กจำนวนหนึ่งจึงถูกนำไปฝากกับญาติ และเมื่อทุกคนออกไปทำงาน เด็กก็จะถูกทิ้งเช่นเดียวกัน
ผลกระทบที่ 2: ชีวิตที่ต้องจ่ายแพง หากแต่ไร้คุณภาพ
เดิมทีผู้คนใน 3 จังหวัดยึดอาชีพเกษตรกรรมและการทำประมงเป็นวิถี ทว่าเมื่อความรุนแรงปะทุขึ้นในพื้นที่และลากยาวมานับทศวรรษ โอกาสในอาชีพและรายได้ในครัวเรือนจึงลดฮวบ ในฐานะผู้เป็นแม่ ลำพังการประกอบอาชีพในบริบทพื้นที่ที่เศรษฐกิจถูกแช่แข็งก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว แต่กลับต้องมาถูกซ้ำเติมความกังวลด้วยกรณีที่ลูกของตนถูกเพ่งเล็งจากรัฐอีก จึงทำให้การเข้าถึงอาชีพยากยิ่งขึ้น เพราะอาจถูกติดตามและตรวจสอบตลอดเวลา ซึ่งความกังวลใจนี้เกิดขึ้นภายหลังที่ลูกต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าที่ไม่ได้การรับรองจาก 3 ฝ่าย ดังนั้น ความต้องการเดียวคือ ลูกต้องปลอดภัย แต่โรงเรียนสายสามัญทั่วไป รวมถึงโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา (ปอเนาะ) ในพื้นที่ อาจไม่สามารถปกป้องลูกให้พ้นจากการเข้ามาแทรกแซงของฝ่ายความมั่นคงได้
เพื่อสร้างความไว้วางใจ ผู้เป็นแม่จึงเลือกที่จะส่งลูกไปเรียนในปอเนาะที่อยู่ในตัวเมืองหรือนอกพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่าต้องรับมือกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และถึงแม้จะเป็นปอเนาะเอกชน ก็ยังไม่สามารถที่จะมีคุณภาพการเรียนการสอนเทียบเคียงหลักสูตรโรงเรียนสามัญทั่วไปได้ นี่จึงเป็นอีกปัญหาที่เด็กต้องเผชิญและอาจนำไปสู่ความยากลำบากในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้วยเช่นกัน
ฐิตินบนำเสนอมุมมองที่ได้จากการค้นพบความแตกต่างในเรื่องของการเลือกเรียนต่อระหว่างเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า เด็กผู้หญิงในพื้นที่จะมีความทะเยอทะยานอยากเรียนหนังสือมากกว่า เพราะตระหนักว่าจะต้องหารายได้เลี้ยงชีพ พวกเธอจะพยายามเรียนสายสามัญและหาทางออกนอกพื้นที่ให้ได้ ในขณะที่เด็กผู้ชายยังติดอยู่ในความคาดหวังของพ่อแม่ที่จะต้องเรียนในสายศาสนา จึงนำไปสู่การหลุดออกจากระบบการศึกษาของภาครัฐ แต่ยังคงอยู่ในระบบการศึกษาศาสนา ซึ่งเป็นระบบการศึกษาที่ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะสามารถนำไปใช้ในการเลี้ยงชีพได้ ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ในการหาเลี้ยงครอบครัวจึงตกเป็นภาระของผู้หญิง
ผลกระทบที่ 3: ความรุนแรงและเลือกปฏิบัติ
ประเด็นที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุดในกระบวนการเยียวยาเด็กกำพร้า คือ เงื่อนไข ‘การรับรอง 3 ฝ่าย’
โดยประเด็นนี้ได้ถูกอธิบายไว้ในหนังสือ แสงสว่าง สตรีจิตอาสา : เลี้ยงเด็กกำพร้า ดับไฟใต้ (2559) ว่าการที่รัฐนำหลักการรับรอง 3 ฝ่ายมาใช้ มี 2 สาเหตุหลักที่สำคัญ ซึ่งคณะผู้จัดทำหนังสือชี้แจงไว้พอสังเขปคือ หนึ่ง – เป็นเหตุผลส่วนตัว ที่ไม่ได้มีการอธิบายหรือชี้แจงเพิ่มเติม และสอง – เป็นกลุ่มฝ่ายตรงข้ามรัฐที่พิสูจน์ได้จริง
เมื่อเด็กกำพร้าจำนวนหนึ่งไม่ถูกรับรองจากสามฝ่ายด้วยเหตุผลอันคลุมเครือข้างต้น จึงส่งผลให้กระบวนการเยียวยาช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐไม่สามารถเข้าถึงเด็กกลุ่มนี้ได้ ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในความรับผิดชอบของ NGO ไปโดยปริยาย ขณะเดียวกัน องค์กร NGO เองก็ต้องพยายามอย่างมากเพื่อเข้าถึงเด็กกลุ่มนี้ ทำให้เด็กบางคนอาจได้รับการช่วยเหลือจากภาคประชาสังคม และบางคนอาจถูกนำออกจากพื้นที่ทันทีโดยครอบครัว เพื่อหลีกหนีความระแวงจากการถูกติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐ
หลักการรับรอง 3 ฝ่าย ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นถกเถียงในภาคประชาสังคมและ NGO ตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากหลักการนี้ถือเป็นการตอกย้ำว่า รัฐเลือกปฏิบัติ และไม่ได้มองคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่ถึงอย่างนั้นประเด็นนี้กลับไม่ได้ถูกผลักดันสู่การแก้ไขอย่างจริงจัง การตั้งคำถามเหล่านี้จึงทำได้เพียงบันทึกไว้ในฐานข้อมูลต่างๆ เท่านั้น
ยิง ตาย จ่าย จบ: กระบวนการเยียวยาเด็กกำพร้า เพียงพอแล้วหรือไม่
สำหรับบริบทสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ฐิตินบ ได้สรุปกระบวนการเยียวยาของรัฐออกมาเป็นคำสั้นๆ ได้ว่า ‘ยิง ตาย จ่าย จบ’ โดยมีรายละเอียดในการจัดการ ดังนี้ (ข้อมูลจากรายงานการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลในปี 2555 ซึ่งรับรองโดย ศวชต.)
หนึ่ง – การลงพื้นที่เพื่อติดตามและเยี่ยมเยียนให้กำลังใจเด็กกำพร้า นำโดยผู้ได้รับผลกระทบด้วยกันเองที่ผันตัวมาเป็นนักเยียวยา และผ่านแกนนำ ‘สตรีจิตอาสา’ แกนนำเยียวยาระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชนในระดับต่างๆ รวมถึงบัณฑิตอาสา ฯลฯ ซึ่งหากรัฐรวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดระบบข้อมูลที่ครอบคลุมได้มาก ก็จะสามารถออกแบบการจัดการเยี่ยมเยียนได้อย่างต่อเนื่องและทั่วถึงมากขึ้นเช่นกัน
สอง – ตรวจสอบสิทธิในการเข้ารับการเยียวยา แล้วจึงจ่ายเงินเยียวยาก้อนแรก ซึ่งประเด็นที่น่าจับตามองคือ เงินเยียวยาที่ได้ไป ถูกนำไปใช้จ่ายอย่างไรในแต่ละครอบครัว
จากการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลในปี 2555 ซึ่งรับรองโดย ศวชต. พบว่า เงินเยียวยาดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการชำระหนี้สินเดิม ก่อสร้างบ้านใหม่ หรือซ่อมแซมบ้าน รวมถึงซื้อสิ่งฟุ่มเฟือยอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า มากกว่าการนำเงินไปลงทุนเพื่อส่งเสริมอาชีพ
ฐิตินบนำเสนออีกข้อค้นพบที่น่าตกใจคือ การมีรายจ่ายเป็นค่านายหน้าในการเข้าถึงสิทธิการเยียวยาของผู้สูญเสียที่เป็นชาวมุสลิม เนื่องจากข้อจำกัดทางภาษา ไม่สามารถอ่านและเข้าใจภาษาไทยได้ นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าทั้งครอบครัวมุสลิมและครอบครัวพุทธมีจุดร่วมเหมือนกันคือ การเหลือเงินเก็บออมเพื่ออนาคตน้อยมาก ขณะที่บางครอบครัวยังมีการนำทุนการศึกษารายเดือนสำหรับเด็กกำพร้าที่กระทรวงศึกษาธิการมอบให้จำนวน 4,500 บาท มาจุนเจือครอบครัวและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการดูแลเด็กกำพร้า
กล่าวโดยสรุปได้ว่า เงินเยียวยาถึงมือเด็กกำพร้าในสัดส่วนที่น้อยมาก มีส่วนแบ่งหลายคน และมีค่าใช้จ่ายหลายส่วน ด้วยเหตุนี้ จึงนำไปสู่การค้นพบข้อท้าทายที่สามารถตั้งคำถามไปยังภาครัฐและภาคประชาสังคมได้ว่า จะช่วยกันหาทางออกที่สมเหตุสมผลเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร
บาดแผลฝังลึกในจิตใจที่ถูกทำร้าย
ผลกระทบด้านสุขภาพจิตของผู้สูญเสียถูกขยายให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านการบอกเล่าประสบการณ์ของฐิตินบ ซึ่งได้นำเสนอถึงผลกระทบด้านสุขภาพจิตที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะสูญเสียคนในครอบครัวจากสถานการณ์ความรุนแรงเพียงอย่างเดียว หากแต่สถานการณ์และสภาพแวดล้อมหลังจากนั้นล้วนเป็นตัวเร่งที่จะยิ่งเปิดบาดแผลของผู้คนและเด็กในพื้นที่ให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะการถูกเลือกปฏิบัติในเด็กที่ไม่ได้รับการรับรองจาก 3 ฝ่าย นำไปสู่ความรู้สึกไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม รวมถึงบรรยากาศในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง ซึ่งไม่ได้ช่วยเยียวยาพวกเขาเลยแม้แต่น้อย
“ในสมัยนั้น เด็กนักเรียนต้องเรียนหนังสือแบบไม่เปิดหน้าต่าง เพราะกลัวระเบิด ในตอนเช้าระหว่างเข้าแถวหน้าเสาธง จะต้องมีเจ้าหน้าที่ทหารมาเฝ้าประจำการ เพราะอาจมีระเบิดเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ สิบกว่าปีที่เด็ก 3 จังหวัดชายแดนใต้ต้องเติบโตมาท่ามกลางความรุนแรง ลองคิดดูว่าจินตนาการของพวกเขาจะเป็นอย่างไร”
สำหรับการเยียวยาด้านสุขภาพจิตของผู้ได้รับผลกระทบโดยภาครัฐ จะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวง พม. และกรมสุขภาพจิต โดยมีการจัดตั้งศูนย์สุขภาพจิตประจำอำเภอและจัดอบรมให้แก่นักจิตวิทยาในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้คนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบได้เข้ามาใช้บริการ แต่นั่นเป็นเพียงการทำงานเชิงรับที่ยังคงนั่งรอให้คนเดินเข้าไปหาเพื่อขอคำปรึกษา ซึ่งเป็นไปได้ยากมากที่ผู้ได้รับผลกระทบจะสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน
เมื่อการเยียวยาจากภาครัฐยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและไม่สามารถครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดได้ รวมถึงแก้ปัญหาอย่างไม่ตรงจุด จึงทำให้ภาคประชาสังคมมีการจัดตั้งเครือข่ายที่เกิดขึ้นตามมาภายหลัง เพื่อที่จะเข้าช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่พวกเขาจะหลุดออกฐานข้อมูลในระบบการเยียวยา
จากผู้สูญเสีย สู่การเป็นนักเยียวยา
หนึ่งในข้อค้นพบของ ผศ.ดร.เมตตา กูนิง ผู้อำนวยการ ศวชต. (ขณะนั้น) นั่นคือ นักเยียวยาส่วนใหญ่ในพื้นที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่เคยสูญเสียและได้รับผลกระทบจากความรุนแรง พวกเขาสมัครใจเข้ามาทำงานเยียวยาเพื่อโอบอุ้มบาดแผลของเด็กๆ และผู้คนที่ต้องเผชิญหน้ากับชะตากรรมเดียวกัน นักเยียวยากลุ่มนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจากภาครัฐเท่าใดนัก มากกว่านั้นพวกเขายังต้องเผชิญกับ ‘ภาวะซึมเศร้า’ จากการต้องนั่งรับฟังปัญหาของผู้คนโดยขาดเครื่องมือดูแลใจตนเอง
“จากการทำงานสามารถเห็นได้อย่างเชิงประจักษ์ว่า ผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ล้วนมีอาการป่วยทางจิตใจ แต่น้อยคนนักที่จะได้รับการรักษา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชายที่ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคง การซ้อมทรมาน คนกลุ่มนี้ล้วนมีหนึ่งอาการอย่างน้อยร่วมกันคือ PTSD” ฐิตินบกล่าว
ฐิตินบบอกเล่าในฐานะผู้ร่วมจัดทำ ‘หลักสูตรนักเยียวยา’ ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อทำงานกับนักเยียวยาที่คลุกคลีกับงานด้านเด็กและสตรี ตลอดจนผู้ที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคง ในฐานะที่พวกเขาต้องคอยดูแลหัวใจของผู้สูญเสีย และต้องประคองจิตวิญญาณของตนท่ามกลางเรื่องราวโศกนาฏกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
หลักสูตรดังกล่าวเริ่มต้นจาก หนึ่ง – การฟัง ว่าจะรับฟังอย่างไรโดยปราศจากการตัดสิน ขณะเดียวกัน ผู้ฟังต้องไม่บอบช้ำเกินไปนักและมีวิธีจัดการตนเอง สอง – การให้คำปรึกษาภายหลังจากการรับฟัง เพื่อแนะนำแนวทางเบื้องต้นแก่ผู้เข้ารับคำปรึกษา ซึ่งสองกระบวนการหลักนี้จะทำให้ผู้สูญเสียสามารถตัดสินใจได้ว่า ตนกำลังเผชิญปัญหาด้านใด และต้องได้รับการแก้ไขอย่างไร โดยสองภาวะหลักที่มักพบในกลุ่มผู้รับคำปรึกษาคือ ภาวะโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD: Posttraumatic Stress Disorder) และภาวะซึมเศร้า ด้วยเหตุนี้จึงอาจมีการนำส่งต่อให้แก่จิตแพทย์ในพื้นที่ที่เป็นเครือข่ายทำงานร่วมด้วย เนื่องจากในหลักสูตรเยียวยานี้ยังมีข้อจำกัดคือ การขาดแคลนจิตแพทย์
ภาวะซ้ำเติมความยากลำบาก จากสถานการณ์โควิด-19
ฐิตินบบอกเล่าเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ชายแดนใต้ที่หนักหน่วงมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์โควิด-19 ว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการระบาดในกรุงเทพฯ โดยเริ่มต้นจากคลัสเตอร์ใหญ่จำนวน 132 คน ที่เป็นคนในพื้นที่ แต่เพิ่งเดินทางมาจากประเทศมาเลเซีย ตลอดระยะเวลาการระบาด จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากวิถีชีวิตของชาวมุสลิมที่ต้องมีการรวมกลุ่มในการประกอบศาสนกิจ (ละหมาด) และคนในพื้นที่ต่างยังคงใช้ชีวิตกันตามวิถีเดิม หรือมีการเดินทางข้ามพื้นที่ไปเผยแพร่ศาสนา ทำให้บางพื้นที่มีผู้ติดเชื้อจนไม่สามารถตรวจหาได้ว่าใครเป็นผู้รับเชื้อคนแรกและรับเชื้อมาจากไหน
ขณะที่การแก้ปัญหาของภาครัฐคือ การออกมาตรการอย่างตรงไปตรงมาว่าให้มีการบังคับปิดพื้นที่ส่วนกลางเพื่อลดการแพร่เชื้อ โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้สั่งการ แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐลืมนึกถึงคือ ความไม่ไว้ในเชื่อใจในรัฐไทยของคนในพื้นที่ รวมถึงความเชื่อทางศาสนาที่เชื่อว่าไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้นจริง ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มาตราการการสั่งปิดพื้นที่ส่วนต่างๆ ไม่สามารถใช้ป้องกันโรคระบาดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้
นอกจาการสั่งปิดพื้นที่ส่วนกลางแล้ว กรณีที่มีผู้ติดเชื้อในหมู่บ้าน รัฐจะสั่งการให้ใช้วิธีปิดล้อมหมู่บ้านโดยเจ้าหน้าที่ทหารและมีการใช้ลวดหนาม อีกทั้งไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ซึ่งต่อให้มีเจ้าหน้าที่ทหารคอยส่งเสบียงให้ ก็ไม่ได้ช่วยสร้างความไว้วางใจให้แก่คนในพื้นที่แต่อย่างใด เนื่องจากการใช้วิธีที่ไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ตั้งแรกเริ่ม
การศึกษาภายใต้บรรยากาศที่ถูกครอบด้วยความมั่นคง ผู้รับเคราะห์คือเด็กในพื้นที่ปิดล้อม
การปิดล้อมหมู่บ้านเพื่อไม่ให้คนในพื้นที่สามารถออกไปไหนได้ ทำให้หมู่บ้านนั้นๆ มีสภาพไม่ต่างจากชุมชนแออัด ฐิตินบเปรียบเทียบว่า สภาพในชุมชนแทบไม่ต่างจากชุมชนคลองเตย และผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ เด็กในพื้นที่ไม่ได้ไปโรงเรียน ซึ่งชุมชนแออัดไม่ใช่พื้นที่ในการเรียนรู้สำหรับเด็ก ส่งผลให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่อยากเรียนและเรียนได้น้อยลง จนนำไปสู่แนวโน้มที่เด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษาในที่สุด ถึงแม้จะมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้ามาดูแล แต่ก็สามารถดูแลเด็กเล็กและสนับสนุนให้ได้เรียนต่อจนถึงชั้นระดับม.3 เท่านั้น แต่หากจบ ม.3 ไปแล้วยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามารับช่วงต่อ ดังนั้น เด็กจำนวนมากอาจต้องเผชิญหน้ากับความเคว้งคว้างทันทีภายหลังจากสำเร็จการศึกษา
ฐิตินบกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังคงติดอยู่กับปัญหาความยากจนเป็นหลัก ซึ่งเป็นความยากจนข้ามรุ่น รวมไปถึงปัญหาอื่นๆ เช่น การไม่สามารถทำการประมงได้ เนื่องจากอาจเข้าข่ายการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU: Illegal Unreported and Unregulated Fishing) และไม่สามารถดำรงชีพด้วยงานเกษตรกรรมได้ เนื่องจากยางพาราที่ราคาตกต่ำ ทั้งหมดทั้งมวลนี้นำไปสู่การเกิดภาวะยากจนที่ซ้ำซ้อน
ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยตัดวงจรความยากจนในอนาคตได้ก็คือ การศึกษา หากยังไม่มีการผลักดันและแก้ไขปัญหาด้านนี้อย่างจริงจัง ท้ายที่สุดแล้ววัยรุ่นชายแดนใต้อาจจะต้องเติบโตในสภาพที่ไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับในระดับชั้น ม.3 ก็จำต้องออกมาทำงานเป็นแรงงานรับจ้างรายวัน นำไปสู่การกลายเป็นคนจนเมืองที่ทำงานภาคบริการระดับล่าง ในทางกลับกัน หากรัฐยังไม่สามารถจัดการและดูแล รวมถึงวางระบบเยียวยาที่ครอบคลุมและเหมาะสมได้ ปัญหาที่สะสมเหล่านี้อาจนำไปสู่การเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรงและสร้างความเกลียดชังในกลุ่มเด็กกำพร้าที่ไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาได้
หากรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลือกที่จะสนับสนุนด้านการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้อย่างเต็มที่ ผลักดันให้สามารถเข้าถึงระบบการศึกษา รวมถึงทรัพยากรที่ดีได้ อาจนำไปสู่การสร้างเด็กกลุ่มนี้ให้เติบโตไปเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ และเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยสร้างคุณประโยชน์ อีกทั้งมีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้ในอนาคต โดยจะสามารถเห็นได้จากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลผลสอบ PISA ของนักเรียนไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมาของ กสศ. พบว่ามีนักเรียน ‘กลุ่มช้างเผือก’ ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีเศรษฐานะต่ำที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของประเทศ สามารถทำคะแนนสอบได้ในระดับที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มคะแนนสูงสุดร้อยละ 25 ของโลก ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า แม้จะเป็นนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน ก็มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ที่ไม่น้อยไปกว่าใคร
ด้วยเหตุนี้ หากรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ต่างมีความเข้าใจและเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้เรียน กล้าที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน และมีเป้าหมายร่วมกันคือการพัฒนาเด็กกลุ่มนี้เป็นรายบุคคลผ่านการจัดสรรทรัพยากรและทำให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพได้ นี่ก็จะเป็นอีกทางออกที่จะสามารถช่วยเหลือและมอบความหวังให้เด็กกลุ่มนี้ได้มีสิทธิที่จะจินตนาการ เรียนรู้ และได้เติบโตเหมือนเด็กทั่วๆ ไปได้อีกครั้ง
“ไม่รู้เหมือนกันว่าคนในพื้นที่จะมีความหวังได้มากแค่ไหน เพราะพวกเขาถูกทับซ้อนด้วยปัญหาหลายด้าน แต่ยังคงปรารถนาให้คนในพื้นที่มีความหวังและรักษาความหวังเอาไว้เสมอ”
นี่คือความปรารถนาและข้อเสนอเดียวที่ฐิตินบได้ทิ้งทายไว้ก่อนจบการพูดคุย ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ผู้ซึ่งผ่านประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี
ที่มา: