แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในปี 2565 สำรวจโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาพบว่า เด็กไทยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามีมากกว่า 1.8 ล้านคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มช่วงรอยต่อ (ป.6, ม.3, ม.6) มักมีแนวโน้มที่จะไม่ศึกษาต่อและไม่กลับเข้ามาในระบบการศึกษา เนื่องด้วยสวัสดิการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจน ยังไม่ครอบคลุมระดับชั้นอนุบาล มัธยมปลาย และสายอาชีพ
และในขณะที่อัตราการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของเด็กที่ยากจน ยังคงทิ้งช่องว่างที่ห่างมากจากเด็กร่ำรวย โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2564 พบว่า เยาวชนจากครอบครัวที่ฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 10 ของประเทศไทย มีเพียงร้อยละ 11 เท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้ ต่ำกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 10 ของประเทศกว่า 6 เท่า
ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดการประชุมหารือและมีมติให้เกิดงาน สู่เส้นทางหลักประกันการศึกษา TCAS66 “การประชุมเพื่อพัฒนาแนวทางการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา” ขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องพระพรหม โรงแรม อัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมีการผนึกความร่วมมือจากสถานบันอุดมศึกษาต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมออกแบบและพัฒนาแนวทางการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ขึ้นในปี 2564
ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ‘การพัฒนากำลังคน’ คือ ส่วนสำคัญมากในการเดินหน้าของประเทศทั้งระบบ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่พยายามทำคือการสร้าง ‘เส้นทางหลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ ให้เด็กไทยนั้นหลุดออกจากกับดักความยากจน ให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้อย่างเสมอภาค
“สิ่งที่เราพยายามทำคือ การทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษา โดยไม่เลือกปฏิบัติ เท่าเทียมและเป็นธรรม ยิ่งเป็นน้อง ๆ ที่อยู่ในการดูแลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยจึงเปรียบเสมือนเป็นประตูบานแรกในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของน้อง ๆ เมื่อน้อง ๆ มีทักษะ มีสกิลติดตัว ได้ทำงานเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ก็จะสามารถดึงครอบครัวให้หลุดพ้นจากความยากจนได้”
ผลจากความร่วมมือมีนักเรียนที่อยู่ในกำกับการดูแลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้รับทุน และได้เข้าศึกษาต่อกว่า 21,922 คน คิดเป็นร้อยละ 12.46 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งนักเรียนกลุ่มนี้เปรียบเป็นช้างเผือก (Resilient Students) ที่แม้จะมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยกว่าเส้นความยากจนของประเทศ แต่สามารถฝ่าฟันอุปสรรค จนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสอบติดมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ
ด้าน ดร.ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา กล่าวถึง “บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ว่า การให้เด็กได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษานั้น ถือเป็นบทบาทสำคัญของรัฐที่ต้องเป็นฝ่ายให้การสนับสนุน
“การศึกษานั้นถือเป็น 1 มิติในการลดความเหลื่อมล้ำ ที่ส่งผลต่อส่วนอื่น ๆ อย่างมาก รัฐต้องมีกลไกลการเชื่อมต่อของนักเรียนให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเป็นธรรม และเท่าเทียมที่สุด เริ่มตั้งแต่โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ความเป็นอยู่ระหว่างการศึกษาจนกระทั่งเรียนจบ และเข้าสู่ตลาดของแรงงาน ยิ่งในอนาคตอัตราการเกิดไทยลดลง ทำให้กำลังแรงงานลดลง ซึ่งต้องเร่งผลักดันกำลังคนที่มีคุณภาพ ให้คนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เมื่อการเกิดน้อยลงเราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
นอกเหนือจากการผลักดันให้เด็กไทยเข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว สิ่งสำคัญเลยคือ “การสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา โอกาสประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน” ให้เกิดขึ้นในหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
ผศ.ดร.พลูศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ขยายภาพให้เห็นถึง ทิศทางของสถาบันอุดมศึกษาไทย ถึงความพยายามตลอด 2-3 ปี ที่เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่มากขึ้น พร้อมทั้งตลาดแรงงานที่ต้องการกำลังคนในด้านต่าง ๆ
“แต่ละสถาบันมีกลไกลต่าง ๆ ในการเปิดโอกาสในเด็กเข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษา ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ คือ สาขา business management หลายสถาบันมีการให้ทุนสนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนและฝึกการทำงานจริง หรืองานด้านเทคโนโลยี ที่ตอนนี้ค่อนข้างวิกฤต หลายสถาบันก็มีการ่วมมือกับเอกชนในการจะสนับสนุนเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งปัจจุบันกำลังผลิตอยู่ที่ 2-5 % เท่านั้นเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาด อีกสาขาที่มีความต้องการอย่างมากคือกลุ่มของ Help Care ผู้ช่วยในระบบดูแลสุขภาพเพื่อเติมกำลังคนเข้าไปในสังคมสูงวัย ซึ่งประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์สมบูรณ์มาแล้ว”
ด้วยการสนับสนุนกลไกลเหล่านี้เอง ที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมทางการศึกษามากขึ้น ทั้ง การที่เด็กเรียนและทำงานไปด้วย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพิ่มคนในที่ตรงกับความต้องการของการจ้างงานมากขึ้น เหมือนยุโรปที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบมากขึ้น การสร้างระบบในการเชื่อมโยงการทำงาน การสร้างการมีส่วนร่วมของเอกชน จนไปถึงสถาบันศึกษา ที่ต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เพราะต่อไปการศึกษาจะไม่ได้หมายถึงคนวัย 18-22 ปีเท่านั้น อีกต่อไปแล้ว
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ต้องมีหลักประกัน คือ “ความกลัว” เด็กกลัวที่จะเรียน เพราะเขาไม่หลักอะไรเลยที่จะสามารถทำให้เขามั่นใจ ว่า จะมีเงินพอเรียนต่อไหม เรียนจบแล้วจะมีอาชีพทำ
“การผลักดันเด็กเข้าระบบการศึกษา เด็กที่อยู่ตามภูมิภาค ผลักดันเด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัยตามภูมิภาคเพื่อหวังว่า น้อง ๆ จะเข้าไปพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น ที่ผ่านมา TCAS66 มีนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มยากจนและยากจนพิเศษ เลือกยืนยันสิทธิ์ในสาขาวิชาต่าง ๆ ได้แก่ อันดับ 1 สาขาเกี่ยวกับกฎหมาย สังคม ศิลปะวัฒนธรรม 6,457 คน อันดับ 2 สาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ 4,386 คน อันดับ 3 สาขาธุรกิจและการบริหารจัดการ 3,823 คน อันดับ 4 สาขาสุขภาพและสาธารณะสุข 3,770 คน กลุ่มที่ 5 สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 1,359 คน อันดับที่ 6 สาขาการเกษตร กสิกรรม ป่าไม้และประมง 1,219 คน และอันดับที่ 7 สาขาการศึกษาและการสอน 908 คน เราหวังว่าเด็กจะมีข้อมูลเหล่านี้ และสำคัญเลยคือการสร้างระบบการทำงานในระดับอุดมศึกษา ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจ และหลักประกันให้เขา ยิ่งข้อมูลไปถึงเด็กและผู้ปกครองได้มากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งกลางที่จะตัดสินใจ และมั่นใจ เดินเข้ามาในระบบมากขึ้น”
ทาง รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบ TCAS ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เองกล่าวว่า “เด็กจาก กสศ. เข้าสู่ระบบ TCAS66 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 11-12 เท่านั้น ประเด็นสำคัญของเด็กที่กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย พัฒนา TCAS มาเป็นเวลา 5 ปี นักเรียนไม่ต้องวิ่งรอบสอบ เหมือนระบบ Admission เดิม ที่เอื้อให้คนที่มีทุนทรัพย์มากมีโอกาสมากกว่าคนอื่น ๆ ระบบ TCAS นี้คือการสอบทีหลัง ที่สอบพร้อมกันเมื่อทุกคนเรียนจบ เพื่อไม่ต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการกวดวิชา ค่าใช้จ่ายเยอะสุดของระบบ TCAS คือ การเลือกอันดับในรอบ Admission สมัครได้ 10 อันดับ ค่าใช้จ่ายสูงสุด 900 บาท ลดลงกว่าระบบเดิมมาก”
เมื่อเด็กเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพงกันคือการทำให้เด็กยังสามารถเรียนได้ในระบบโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ในระดับอุดมศึกษามีกองทุน กยศ คอยดูแล หรือหากไม่ได้ทุน กยศ ก็อาจจะเป็นทุนมหาวิทยาลัย หรือมีระบบการทำงานที่เป็นหลักประกันให้น้อง ๆ ได้ ระบบ U-work (University Work) ที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งออกแบบขึ้นให้ตรงกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น
ทางด้านของ นายชัยรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เองกล่าวว่า “วันนี้เรามีเงินที่ให้กู้ไปแล้วประมาณ 6 ล้านคน เป็นเงินประมาณ 7 แสนล้านบาท ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี อัตราเบี้ยปรับ 0.5% และทุกคนเข้าถึงได้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นระดับไหน นอกจากนี้ยังมีการให้ทุนกู้ยืมในระดับปริญญาโทอีก ซึ่งเป็นทักษะแรงงานมืออาชีพที่ตลาดแรงงานบางกลุ่มต้องการอย่างมาก หมอที่มีความชำนาญ นักเทคนิคการแพทย์ วิศวกรเฉพาะด้านโดยมีการคำนวน ยอดเงินกู้อีก 5 ปีข้างหน้าว่า กยศ มีเงินเพียงพอที่จะมอบโอกาสให้น้อง ๆ ในระดับอุดมศึกษาก่อนไหม แถมในอนาคตก็จะมีการปล่อยให้กู้หลักสูตรระยะสั้น 18-60 ปี ใช้เวลา 3-6 เดือน อย่างหลักสูตรนักบริบารชุมชน กลุ่มของผู้ช่วยที่ดูแลผู้สูงอายุ ก็มีการขยายขอบเขตเพิ่มเติมให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้หลากหลายรูปแบบ และหลากหลายช่วงวัย”
แต่ละสถาบันทางการศึกษา ก็มีประสบการณ์ในการทำงานเชิงพื้นที่ที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้น้อง ๆ เมื่อน้อง ๆ เข้ามาเรียนแล้วจะไม่โดดเดี่ยว หรือหลุดออกจากระบบไปด้วยปัญหาทางการเงิน อาทิ
รศ.เพียรศักดิ์ ภักดี มหาวิทยาลัยของแก่น เล่าว่า ในส่วนของ มข.เอง มีทั้งทุน มอดินแดงเป็นทุนจากการทำบุญทอดผ้าป่าระดมทุนที่จะมาช่วยน้อง ๆ ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีส่วนงานที่ดูแลเรื่อง กยศ เรามีทุนต่อเนื่อง ปีละ 30,000 บาท, ทุนไม่ต่อเนื่อง ปีละ 10,000 บาท, ทุนเอกชน, โครงการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานที่มีงบประมาณเกือบ 10 ล้านบาท คอยดูแล มีแพลตฟอร์มในการส่งเสริมให้น้อง ๆ ได้ทำงาน ซึ่งแบ่งแยกย่อยไปตามคุณสมบัติของแต่ละทุน ครอบคลุมน้อง ๆ ที่มีบริบทหลากหลาย
ทางส่วนของ ดร.สมธีราภ์ พรมศิริ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ก็เช่นกัน เล่าว่า มหาวิทยาลัยสวนดุสิตมีโครงการสวนดุสิตเสริมโอกาส ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัย จำนวน 75 ชั่วโมงและได้ค่าตอบแทนเดือนละ 3,000 บาท ร่วมถึงการกู้ กยศ ด้วยอีกเดือนละ 3,000 นักศึกษาจะใช้ชีวิตอยู่ได้นอกเหนือจากการเรียน และโครงการสหกิจศึกษา ที่เปิดให้นักศึกษาที่เข้าเกณฑ์สามารถที่จะไปฝึกปฏิบัติการสอนที่โรงเรียนสาธิตละอออุทิศจำนวน 4 แห่ง เราจะมีทุนการศึกษาให้รายละ 5,000 บาทต่อเดือน และนอกจากนี้ยังมีการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์อื่น ๆ ที่ช่วยให้น้อง ๆ เข้าถึงการศึกษาได้อีกมาก
ด้านของ รศ.ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี เล่าว่า มจธ.ทำงานผ่าน Social Lab 6 มิติ ที่มีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทั้งคนยากจนในเมือง ในชนบท ชุมชนบนดอยและชาวเขาที่อยู่ห่างไกล ยากที่จะเดินท่างเข้าถึง ผ่านโครงการ 1.กลุ่มจำเพาะและโครงการพิเศษ มีทุนการศึกษาธรรมรักษา ไม่ต้องจ่ายค่าเทอม มีหอพักให้ไม่เกิน 2,300 มีค่าครองชีพรายเดือน ค่าอุปกรณ์การศึกษา 10,000 บาท ตามเกณฑ์ที่กำหนด 2.นักศึกษาเก่าสัมพันธ์ ทุนจากศิษย์เก่า มจธ. 3.โครงการพัฒนาอาชีพคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม 4.โครงการตามรอยพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 5.โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง และ 6.โครงการเด็กและเยาวชนชายขอบ
นอกจากนี้เอง ผศ.สุรศักด์ นุ่มมีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เล่าประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาว่า ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่นั้น แยกเด็กเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มของเด็กชาติพันธุ์ ที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน หรือมีบัตรเหลือง เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถกู้ กยศ ได้ จะพิจารณาก่อนเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งคิดเป็น 20% ของนักศึกษาทั้งหมด และ 2.กลุ่มกู้ยืมเงินจาก กยศ ซึ่งที่ผ่านมาทุนเหล่านี้ก็ไม่เคยเพียงพอสำหรับนักศึกษาที่มีแนวโน้มขาดแคลนทุนทรัพย์มากยิ่งขึ้น
ทั้งหมดนี้คือ “นวัตกรรมการลดความเหลื่อมล้ำในสถาบันอุดมศึกษา โอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตนักศึกษา สู่โอกาสพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย”