การเรียนพิเศษของเด็กไทยดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมการศึกษาของไทยไปเสียแล้ว เห็นได้จากโรงเรียนกวดวิชาที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
ผลสำรวจของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ปี 2557 พบข้อมูลว่า เด็กในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและที่กำลังรอเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย จากจำนวน 1,231 คน (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) มีนักเรียนมากถึงร้อยละ 60.2 เลยทีเดียวที่ต้องเรียนพิเศษ
อีกทั้งผลสำรวจของโครงการ ‘การศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21’ จากศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ร้อยละ 67.02 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ร้อยละ 52.70 ก็เรียนกวดวิชานอกเวลาเรียนด้วยเช่นกัน
ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาที่สั่งสมมานานนับสิบๆ ปี โดยยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
เพราะห้องเรียนไม่ตอบโจทย์ เด็กจึงต้องพึ่งพาติวเตอร์
การที่เด็กต้องดิ้นรนไปเข้าเรียนพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของผู้ปกครองหรือตัวเด็กเองก็ตาม สาเหตุหนึ่งเกิดจากความไม่เชื่อมั่นในระบบการเรียนการสอนแบบปกติ ผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์ พบว่า เด็กนักเรียนมีความมั่นใจต่อระบบการศึกษาค่อนข้างน้อย คิดเป็น 60.1 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่าง อีกทั้ง 27.9 เปอร์เซ็นต์ของเด็กเหล่านี้ยังขาดความเชื่อมั่นว่า การเรียนการสอนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวจะทำให้พวกเขามีผลการเรียนที่ดีขึ้นได้ และคิดว่าการเรียนพิเศษจะได้ความรู้มากกว่าในห้องเรียน
พวกเขา (กลุ่มตัวอย่าง) ให้เหตุผลว่า การเรียนในห้องเรียนนั้นไม่ค่อยเข้าใจเนื้อหา จึงต้องการเพิ่มความเข้าใจในเนื้อหาแต่ละวิชาให้มากขึ้น รวมถึงเนื้อหาที่เรียนในห้องเรียนก็ไม่ตรงกับที่จะนำไปใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย
ด้วยเหตุนี้โรงเรียนกวดวิชาจึงเข้ามามีบทบาทในการทำหน้าที่เติมเต็มให้นักเรียนได้รู้เคล็ดลับวิชาที่จะนำไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือการสอบแอดมิชชั่นในคณะที่ตนเองมุ่งหวัง โดยครูผู้สอนในโรงเรียนกวดวิชามักนำข้อสอบในปีก่อนๆ มาให้เด็กได้ลองทำ และอธิบายคำตอบที่ทำให้เด็กเกิดความเข้าใจเนื้อหามากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้สอนหรือติวเตอร์ยังมีวิธีการและเทคนิคใหม่ๆ มาสอน ช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น หรือจดจำเนื้อหาได้ดีกว่าเดิม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การแต่งเพลงประกอบการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กได้จดจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษผ่านบทเพลง เป็นต้น
ทริคและเทคนิคของติวเตอร์เช่นนี้ ทำให้เด็กหลายๆ คนสนใจการเรียนพิเศษมากกว่าในห้องเรียน เพราะบรรยากาศในห้องเรียนที่มีชีวิตชีวาและชวนให้ตื่นตัวเวลาเรียนนั่นเอง
เด็กไทยวันนี้เครียดมากไปไหม
ปริมาณโรงเรียนกวดวิชาที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยอย่างน่าเศร้า ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นของเด็กที่มีต่อการศึกษาในโรงเรียน หรือนักเรียนส่วนใหญ่เลือกเรียนพิเศษเพราะเนื้อหาในห้องเรียนไม่สามารถนำไปใช้สอบวัดผลหรือสอบแข่งขันได้ อาทิ GAT ไม่ได้เป็นหนึ่งในวิชาที่โรงเรียนนำมาใช้สอนนักเรียนชั้น ม.6 แต่กลับนำวิชานี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นต้น
ความล้มเหลวของระบบการศึกษาเช่นนี้ ทำให้เด็กไทยเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพึ่งโรงเรียนกวดวิชา และเมื่อเพิ่มชั่วโมงการเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนเข้าไปอีก จึงยิ่งมีส่วนทำให้เด็กเกิดความเครียดสะสม
ข้อมูลของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (PISA THAILAND) พบว่า เด็กไทยใช้เวลาส่วนมากไปกับการเรียน และมีชั่วโมงเรียนมากถึง 1,200 ชั่วโมง/ปี (ยังไม่นับรวมเวลาสำหรับทำการบ้าน โดยเฉลี่ย 5.4 ชั่วโมง/สัปดาห์) เมื่อเทียบกับฮ่องกงและจีนที่มีเวลาเรียน 700 ชั่วโมง/ปี จะเห็นได้ว่าชั่วโมงเรียนของเด็กไทยที่มากพออยู่แล้ว เด็กยังต้องทำการบ้านและเรียนพิเศษเพิ่มเติมอีก ทำให้เวลาหลังเลิกเรียนที่พวกเขาควรได้พักผ่อนและได้ทำในสิ่งที่พวกเขาสนใจ ถูกบดบังจากการเรียนที่มากเกิน
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กและเยาวชนอายุ 11-25 ปี โทรเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต โดย 1 ใน 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ปัญหาจิตเวช ความรัก ซึมเศร้า ปัญหาครอบครัว และความเครียดหรือความวิตกกังวล
การเรียนพิเศษกับความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา
สถาบัน PISA THAILAD ระบุว่า การศึกษามีเป้าหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา โดยไม่ได้หมายถึงโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่ากันด้วย
ในระบบการศึกษาไทยนั้น เมื่อมีการวัดคะแนนเฉลี่ยของ OECD แล้ว นักเรียนแต่ละกลุ่มโรงเรียนมีผลการประเมินที่ต่างกันสูงมาก โดยมีเพียงกลุ่มโรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์และกลุ่มโรงเรียนสาธิตเท่านั้นที่มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่นๆ เช่น กลุ่มโรงเรียน/วิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ทั้งหมด
หากวิเคราะห์จากกลุ่มโรงเรียนสาธิตกับโรงเรียนมัธยมทั่วไปแล้ว กลุ่มนักเรียนที่ได้คะแนนสูงมีคะแนนห่างจากกลุ่มที่ได้คะแนนต่ำ เทียบเท่ากับเวลาที่เรียนในโรงเรียนมากกว่า 4 ปีเลยทีเดียว ทั้งนี้ เพราะโรงเรียนสาธิตมีลักษณะโรงเรียน ครู ทรัพยากร และเงื่อนไขอื่นๆ (เช่น เงินอุดหนุน) ที่ต่างจากโรงเรียนมัธยมทั่วไป
กล่าวคือ การรับเด็กเข้าเรียนของแต่ละโรงเรียนมีการวัดผลจากคะแนนสอบ เช่น สอบเข้า ป.1 ป.6 ม.1 เป็นต้น ทำให้เกิดการแข่งขันทางวิชาการสูง โรงเรียนที่มีทรัพยากร ครู หรือเงื่อนไขอื่นๆ ดีกว่าอีกโรงเรียนหนึ่งก็จะได้รับความนิยมมากกว่า และเพื่อให้ได้คะแนนที่ดี โรงเรียนกวดวิชาจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้เด็กมีคะแนนสูงเพียงพอต่อการสอบคัดเลือก
ด้วยเหตุนี้เด็กที่มีสถานะเศรษฐกิจครอบครัวดีย่อมจะมีโอกาสทางการศึกษามากกว่าเด็กที่ยากจน เพราะเด็กในครอบครัวยากจนไม่อาจมีต้นทุนเพียงพอที่จะเรียนพิเศษได้ และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กยากจนมีโอกาสที่จะได้เข้าสถานศึกษาชั้นนำน้อยกว่าเด็กที่มีสถานะทางการเงินดีกว่านั่นเอง