เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการเรื่องประสิทธิภาพการเรียนออนไลน์ของนักเรียน กระเพื่อมการตั้งคำถามของสังคมว่า 1 ปีที่ผ่านมานั้นนักเรียนไทยได้อะไรจากห้องเรียนออนไลน์บ้าง
อย่างที่ทราบกันดีว่าการเรียนออนไลน์ของเด็กปฐมวัยมีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ต้องการเพื่อน ครู และการเรียนการสอนผ่านการเล่น เพื่อการพัฒนาด้านร่างกาย ภาษา สติปัญญา และสังคม (1) หรือแม้แต่วัยประถม มัธยม มหาวิทยาลัย หรือครูผู้สอนเองก็มีความท้าทายไม่น้อยไปกว่ากัน
Equity lab ขอชวนทุกท่านมาถอดบทเรียนร่วมกันว่า 1 ปีที่ผ่านมาเด็กไทยได้อะไรบ้างจากห้องเรียนออนไลน์ ความท้าทายของครูและนักเรียนในช่วงที่ผ่านมา บทเรียนที่ได้จากการเรียนออนไลน์ทั้งในไทยและต่างประเทศ มีสิ่งใดที่ทำได้ดี และสิ่งใดที่อยากพัฒนาต่อไป ใน Equity talk ครั้งที่ 16 นี้ด้วยกัน
ความท้าทายของครู นักเรียน และการปรับตัวในห้องเรียนออนไลน์
ภาพเบื้องหน้าของห้องเรียนหน้าจอที่มีเสียงหัวเราะ ใครเล่าจะรู้ว่าเบื้องหลังทั้งครูและนักเรียนต่างต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของอุปกรณ์การเรียนของเด็กๆ การปรับตัวกับบรรยากาศการเรียนที่ไม่เหมือนเดิม การติดตามดูปัญหาเด็กของครูที่ปรึกษาที่มีจำนวนมาก ล้วนส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตของทั้งครูและนักเรียนไม่ต่างจากภาระงานที่ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
ครูทิว
“ต้องหาวิธีสนับสนุนช่วยเหลือสภาพจิตใจครูและนักเรียน เริ่มจากการลดจำนวนงานด่วน”
ครูทิวบอกกับเราเพิ่ม ครูหลายท่านกำลังปรับวิธีการสอน เพื่อให้นักเรียนมาเรียนแม้จะเข้าไม่ครบทุกคาบ เช่นกันกับครูภีที่เล่าว่า “ต้องปรับเปลี่ยนชิ้นงานให้เป็นมิตรและเหมาะสมกับนักเรียน (Student friendly) เพื่อแก้ปัญหานักเรียนไม่มีอุปกรณ์ครบ ให้เด็กใช้แอพแต่งรูปทำใบงานแล้วส่งมาให้ มอบหมายเป็นงานกลุ่มหรืองานห้อง เช่น ให้รับผิดชอบแปลมาคนละประโยค”
อ.วิริยะ เสริมว่าเราไม่สามารถวัดผลได้ตาม KPI เราจึงต้องยืดหยุ่น ในสภาวะแห่งความไม่มั่นคงนี้
เดินทางหน้าจอกันมา 1 ปี สิ่งที่เราทำได้ดีมีอะไรบ้าง
“ถอดรื้อสิ่งเดิมว่ายังจำเป็นมั้ยและตั้งคำถามว่าสามารถเป็นอะไรได้อีก”
ครูทิวบอกกับเราพร้อมกับอธิบายเพิ่มว่า วิกฤตครั้งนี้ทำให้ครูหลายคนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเนื้อหาใด งานแบบใด การวัดและประเมินผลแบบใด ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ของเด็กจริงๆ flip classroom ได้เกิดขึ้นอีกครั้งบนหน้าจอพร้อมๆ กับการเติบโตของชุมชนการเรียนรู้ของครูที่ได้พูดคุยกันถึงเรื่องของปัญหาที่พบในห้องเรียน
อ.วิริยะชวนคุยถึงจุดประสงค์ของการทำวง PLC (Professional Learning Community) ว่าแท้จริงแล้วคืออะไร ?
“การคุยกันเรื่องเด็ก รู้จักเด็ก และให้ครูเปลี่ยนการสอน ให้การบ้านครอบคลุมหลายวิชา รวมเป็นโครงงาน เปลี่ยนการสอนให้ครูเลิกสอน ให้เด็กได้เรียน ได้ทำกิจกรรม และต้องมีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญมาช่วยผลิตเครื่องมือ”
คงน่าเสียดายที่ถ้าเราจะทำไปเพื่อเก็บให้ครบชั่วโมง หรือแค่ถ่ายรูปทำเล่มรายงาน แต่ด้วยข้อจำกัด และปัจจัยต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พร้อม โรงเรียนไม่สามารถตัดสินใจได้เอง ครูไม่เชื่อว่าสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้วง PLC ยังไม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยในช่วงวิกฤตนี้ก็ทำให้เห็นความหวังจากการรวมกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงทางออกของปัญหาที่ครูกำลังเผชิญอยู่บ่อยครั้ง และเชื่อว่าจะติดตัวครูไปจนถึงโมงยามของการพบหน้ากัน
บทเรียนน่ารู้ ในไทยและต่างประเทศ
“ครูผู้รู้ ต้องไม่รู้ และสร้างกิจกรรมที่นำมาซึ่งการเรียนรู้”
อ.วิริยะ
อ.วิริยะเล่าว่าเด็กเป็นคนช่วยหาคำตอบให้ครูได้ พวกเขาไม่ได้โง่ ครูไม่ได้สอนไม่เก่ง แต่กำลังสอนผิดวิธี เด็กเกเรต้องการกอด ไม่ใช่การลงโทษ
“การแกล้งเพื่อนเป็นข้อความที่กำลังบอกว่าเด็กคนนี้กำลังต้องการการช่วยเหลือ ครูต้องเข้าใจ อดทน เหยียบเบรค แล้วความสัมพันธ์จะดีขึ้น เด็กทุกคนมีศักยภาพ ให้เราจับสัญญาณขอความช่วยเหลือนี้ให้ได้” ครูภีเสริม
เช่นกันกับครูทิวที่เล่าว่า “ครูต้องทำให้ห้องเรียนเป็นห้องเรียนประชาธิปไตย ครูพยายามฟังเสียงเด็กให้มากขึ้น”
“ เด็กไม่ใช่แก้วเปล่า ทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของเขาเอง”
นอกจากนั้นยังมีต้นแบบจากต่างประเทศที่เหมาะกับบริบทของไทย ที่ครูภีได้ยกตัวอย่าง เช่น การลดเวลาการสอน มีคาบคั่นตอนเปลี่ยนชั่วโมงจะได้ไม่เบียดเบียนเวลาเรียนจริง การจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการจัดวง PLC มีชั่วโมงที่ให้ครูเข้ามาคุยเล่นกับเด็กๆ และการบูรณาการเพื่อลดรายวิชา ให้เด็กเลือกเรียนตามสนใจ
สิ่งที่อยากแก้ไขเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น
“สิ่งที่มีค่ากับเด็กคือครู ไม่ใช่ครูที่สอนหนังสือ แต่คือครูที่สอนเด็ก”
อ.วิริยะ
อ.วิริยะชวนครูกลับมามองว่าสาเหตุที่เด็กไม่เข้าเรียนเป็นเพราะอะไรบ้าง ถ้าปัญหาอยู่ที่เนื้อหาที่ไม่ทันสมัย เด็กไม่เข้าใจ หรือเป็นการสอบแบบเดิม เราสามารถเปลี่ยนห้องเรียนของเราให้เด็กมีรอยยิ้มมากขึ้นได้ ด้วยการวัดผลที่ความสุข และความสร้างสรรค์ เช่น การอัดคลิปส่งแทนทำข้อสอบจากกระดาษ
“การประเมินเพื่อการเรียนรู้ ไม่ใช่เพื่อการตัดสิน”
ครูทิวเล่าว่าเพื่อให้ครูเห็นวิธีคิด และการทำงานของเด็กมากกว่ากรอบที่ส่วนกลางกำหนดมาให้ และนอกจากนั้นปัญหาพื้นฐานอย่างโครงสร้างของห้องเรียนที่มีจำนวนมาก ที่ครูต้องทำความรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อดูแลเด็ก และไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังก็เป็นสิ่งที่จำเป็น
นอกจากนั้น ครูภีได้เสนอเรื่องข้อสอบปลายทางเข้า ม.1 ม.4 หรือมหาวิทยาลัย ที่ต้องปรับลดตามการเรียนการสอนออนไลน์ที่ตัวชี้วัดเปลี่ยนไป เพื่อประโยชน์ต่อนักเรียนเป็นสำคัญ
ชวนผอ. และคุณครูทุกท่านร่วมถอดบทเรียนการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างในช่วงที่ผ่านมา (I learn) มีสิ่งใดที่ทำได้ดีแล้ว (I like) สิ่งใดที่อยากพัฒนาเพิ่มเติม (I wish) สิ่งใดที่ตั้งใจจะทำต่อไป (Next step)
Equity lab ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกท่านสร้างแห่งเรียนแห่งความสุขไปด้วยกันนะคะ
ขอบคุณวิทยากรทั้ง 3 ท่านที่มาร่วมวงเสวนาออนไลน์ Equity talk เรื่อง ถอดบทเรียน 1 ปี นักเรียนไทยได้อะไรจากห้องเรียนออนไลน์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์
ผู้ก่อตั้ง Eduzone
ครูธนวรรธน์ สุวรรณปาล
ครูวิชาสังคมศึกษา
แอดมินเพจ ครูขอสอน
ครูมิติ โอชสานนท์
ครูแนะแนวและภาษาต่างประเทศ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รัชดา
สิรามล ตันศิริ
เรียบเรียงบทสัมภาษณ์
อ้างอิง
- ณิชา พัฒนเลิศพันธ์. ‘เพราะการเรียนออนไลน์เป็นเรื่องยาก’ คุยกับนีท เบญจรัตน์ นักจิตวิทยาเด็กถึงสิ่งที่พ่อแม่ต้องเตรียมตัวกับ Learning From Home. https://creativetalklive.com/learningfromhome-1/