เป็นความจริงที่ว่า ปัจจัยทางการเงินคือเครื่องมือสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการศึกษาให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น แต่จะดีแค่ไหนหากมีนวัตกรรมทางการเงินสำหรับช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้เด็กเหล่านั้นถูกทิ้งไว้ข้างหลัง คำถามคือ นวัตกรรมที่ว่านั้นควรจะมีรูปแบบอย่างไร
ปุจฉาข้างต้นเป็นจุดเริ่มแนวคิดของ Pan-Impact Korea องค์กรเพื่อส่งเสริมคุณค่าทางสังคม ผ่านนวัตกรรมทางการลงทุนและนโยบายสาธารณะ จนท้ายที่สุด วิสัชนาของ Pan-Impact Korea จึงปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมอย่าง Social Impact Bond (SIB)
Social Impact Bond เป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐและเอกชนประเทศเกาหลีใต้ ในการช่วยเหลือกลุ่มเด็กเปราะบาง อย่างเด็กที่มีกลไกทางสติปัญญาบกพร่อง (Borderline Intellectual Functioning: BIF) กล่าวคือ มีระดับไอคิวอยู่ที่ระหว่าง 71-84 โดยประมาณ ซึ่งมักถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มที่มีพัฒนาการการเรียนรู้ช้า และเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีระดับสติปัญญาถดถอยลงไปอีกเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น
ฮเยมิน ลี (Hyemin Lee) ผู้จัดการแห่ง Pan-Impact Korea ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีการประชุมวิชาการ หัวข้อ ‘Innovative Financing for Equitable Education’ ไว้ว่า
“ขณะที่เรากำลังมองหาประเด็นสำหรับขับเคลื่อนโครงการ SIB สิ่งที่พวกเราพยายามค้นหา ได้แก่ กลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังโดยปราศจากการเหลียวแล เด็กเหล่านี้มักจะอยู่ในสถานสงเคราะห์ เราจึงดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับพวกเขา และตัดสินใจเลือกพวกเขาเป็นกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ”
และเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กที่มีกลไกทางสติปัญญาบกพร่อง ตลอดจนเพื่อทำให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับสังคมได้อย่างคนปกติ Pan-Impact Korea จึงออกแบบให้โครงการ SIB มุ่งไปที่เด็กกลุ่มนี้ผ่านการออกพันธบัตรตอบแทนการพัฒนาสังคม และได้ตกลงทำสัญญาไว้กับหน่วยงานการปกครองแห่งกรุงโซลในปี 2015
“ในปี 2016 โครงการเริ่มต้นด้วยการจัดหาบริการ โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเด็กที่มีกลไกทางสติปัญญาบกพร่อง ซึ่งอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กจำนวน 100 คน ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี” ลีกล่าว
อย่างไรก็ดี การพัฒนาระดับสติปัญญาของเด็กไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยในด้านอื่นๆ อีกมากมาย โดยอุปสรรคใหญ่ของโครงการในระยะนี้ ได้แก่ สภาพแวดล้อม
“ในกรณีนี้หากเด็กๆ ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมก็สามารถทำให้ระดับสติปัญญาเกิดการพัฒนาได้ ดังนั้นเราจึงจัดให้มีการทดสอบระดับไอคิวให้แก่เด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ซึ่งผลที่ออกมาทำให้เราประหลาดใจอย่างมาก เพราะค่าคะแนนของเด็กที่มีกลไกทางสติปัญญาบกพร่องในสถานสงเคราะห์ กลับอยู่ในระดับที่สูงกว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวปกติถึง 2 เท่าตัวด้วยกัน”
แต่ก็เป็นดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เด็กกลุ่มที่มีกลไกทางสติปัญญาบกพร่องนี้มีแนวโน้มที่จะยิ่งมีระดับสติปัญญาถดถอยลงไปอีกเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น นั่นหมายความว่า สภาพแวดล้อมมีผลอย่างมากที่ทำให้ระดับสติปัญญาของพวกเขาลดน้อยถอยลง เพราะขาดเครื่องมือในการส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาที่เหมาะสม
“โครงการ SIB จึงเข้าช่วยเหลือเด็กที่มีกลไกทางสติปัญญาบกพร่องเหล่านี้ผ่านการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลเด็ก เพื่อพัฒนาระดับสติปัญญาที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมของพวกเขา โดยจัดให้มีโครงการฟื้นฟูสภาพจิตใจและอารมณ์ ตลอดจนจัดให้มีโครงการพัฒนาทักษะทางสังคม
“ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ เพราะโครงการ SIB สามารถยืนระยะได้อย่างมั่นคงเป็นเวลานาน” ลีสรุป
ในเบื้องต้น โครงการได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาเด็กที่กลไกทางสติปัญญาบกพร่องในสถานสงเคราะห์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 42 จากจำนวนทั้งหมด แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับบรรลุเกินเป้าหมายเป็นอย่างมาก กล่าวคือ สามารถช่วยพัฒนาระดับสติปัญญาของเด็กในโครงการได้ถึงร้อยละ 52.7
ความสำเร็จของโครงการ ส่งผลให้ในตอนนี้ Pan-Impact Korea ได้ร่วมมือกับหน่วยงานการปกครองแห่งกรุงโซล เพื่อเดินหน้าโครงการในระยะที่ 2 อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในการแก้ปัญหาการว่างงานของเยาวชนในลำดับถัดไป