เข้าสู่ระบบ

สถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) หรือ "โควิด-19" ที่แพร่ระบาดหนักทั่วโลกโดยเฉพาะที่ต้องจับตาการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากจังหวัดสมุทรสาคร โดยเริ่มพบผู้ป่วยในประเทศจำนวนมากในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563 และเริ่มพบจำนวนผู้ป่วยในประเทศเพิ่มมากขึ้นและกระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย

ความคืบหน้า 100%

โครงการศึกษาและติดตามผลการนำร่องการใช้เครื่องมือการเรียนรู้ด้วยตัวเอง สำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาในสถานการณ์วิกฤต

หลักการและเหตุผล

สถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) หรือ “โควิด-19” ที่แพร่ระบาดหนักทั่วโลกโดยเฉพาะที่ต้องจับตาการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากจังหวัดสมุทรสาคร โดยเริ่มพบผู้ป่วยในประเทศจำนวนมากในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563 และเริ่มพบจำนวนผู้ป่วยในประเทศเพิ่มมากขึ้นและกระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย (ศูนย์ข้อมูล COVID-19,2563) เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและลดโอกาสการแพร่ระบาดใหม่ของโรคโควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้ สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงฯ ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ลงวันที่ 2 มกราคม 2564 โดยให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กำหนดใน 28จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ตาก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทองนครนายก กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาครฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระบุรี สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง ชุมพร และระนอง ปิดเรียนด้วย เหตุพิเศษ ตั้งแต่ วันจันทร์ ที่ 4 มกราคม 2564 ถึงวันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม 2564 หรือจนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ในระหว่างที่สถานศึกษาต้องปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษดังกล่าว ให้ส่วนราชการต้นสังกัด กำหนดแนวทางจัดการเรียนการสอนตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ เช่น การสื่อสารแบบทางไกล หรือด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หากไม่สามารถจัดการเรียนการสอนโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ สถานศึกษาอาจจัดการเรียนการสอนโดยใบสั่งงาน หรือมอบงานตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียน

ช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายประเทศใช้วิธีการสอนทางไกล ไม่ว่าจะเป็นการสอนออนไลน์ หรือแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ครูสอนในห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) หรือใช้การถ่ายทอดการสอนผ่านสัญญาณโทรทัศน์ เพื่อให้เด็กเรียนต่อที่บ้านได้ขณะปิดโรงเรียน แต่การใช้วิธีดังกล่าวทำให้เด็กบาง กลุ่มโดยเฉพาะเด็กในครอบครัวที่มีฐานะยากจนเสียเปรียบ เพราะไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลที่บ้าน นอกจากนี้ ในการเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เด็กจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ การเรียนที่บ้านจึงเป็นการผลักภาระให้ผู้ปกครอง อาจทำให้เหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้นหากผู้ปกครองไม่มีความพร้อมในการช่วยเหลือบุตรหลานของตนในการเรียน ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในการเรียนทางไกลก่อนข้างสูง ข้อมูลของสหภาพ โทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) บ่งชี้ว่า สัดส่วนของครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำสูงในการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัล โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีฐานะยากจน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติ แห่งชาติ พบว่า ในปี 2560 ในประเทศไทย ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 2 แสนบาทมีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 3 ของครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 2 แสนบาทขึ้นไปมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตร้อยละ 19 ของครัวเรือนทั้งหมด และหากจำแนกตามภูมิภาคพบว่า กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์สูงถึงร้อยละ 42 ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าในภาคอื่น ๆ มากกว่าเท่าตัว กล่าวคือ ครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์มีสัดส่วนร้อยละ 21 ในภาคกลาง ร้อยละ19 ในภาคเหนือ ร้อยละ 17 ในภาคใต้ และร้อยละ 14 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เสาวรัจ รัตนคำฟู , 2563)

จากแนวทางการที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้สถานศึกษาจัดให้กับผู้เรียนระหว่างที่มีการปิดเรียนกรณีพิเศษนั้น ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนักเรียนในกลุ่มยากจนพิเศษ ซึ่งขาดโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ และเพื่อให้การมอบหมายงานเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่าง มีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ทีมวิจัยได้พัฒนาชุดเครื่องมือการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อเป็นเครื่องมือให้กับสถานศึกษา ครูผู้สอน และนักเรียนในกลุ่มยากจนพิเศษเพื่อใช้พัฒนากระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถจัดการเรียนรู้แบบปกติได้

  1. เพื่อสนับสนุนครูผู้สอนในโรงเรียนนำร่องให้สามารถใช้ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Black Box) ที่ส่งเสริมความคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์และสนับสนุนทักษะชีวิตของผู้เรียน
  2. เพื่อพัฒนาแนวทางการสร้างชุดเครื่องมือการเรียนรู้ด้วยตนเองที่ส่งเสริมความคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์และสนับสนุนทักษะชีวิตของผู้เรียน
  3. เพื่อพัฒนาครูแกนนำให้เข้าใจรูปแบบและสามารถพัฒนาชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองที่ส่งเสริมความคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์และสนับสนุนทักษะชีวิตของผู้เรียน
  4. เพื่อติดตามและประเมินเพื่อพัฒนาการใช้ Black Box สำหรับการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self – Directed Learning Packaged) ทั้งจากพื้นที่ของ กสศ. และ พื้นที่เพิ่มเติม
  1. จัดอบรมการใช้ต้นแบบชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Black Box) ที่ส่งเสริมความคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์และสนับสนุนทักษะชีวิตของผู้เรียนให้กับครูแกนนำของนักเรียนกลุ่มเป้าหมายจาก 5 จังหวัด
  2. ดำเนินการมอบต้นแบบชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Black Box) ให้กับนักเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 485 คน
  3. ดำเนินการจัดทำแบบทดสอบ Pre-Test และ Post-Test สำหรับทดสอบความคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ของผู้เรียนในช่วงชั้นที่ 2 สำหรับทดสอบกลุ่มตัวอย่างในโครงการเพื่อเปรียบเทียบผลการใช้ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
  4. ติดตามผลการใช้งานชุดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ฯ ผ่านกระบวนการ PLC ออนไลน์ ลงพื้นที่ติดตามด้วยนักวิจัยในพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลผลการใช้ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
  5. พัฒนารูปแบบการสร้างชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองส่งเสริมความคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์และสนับสนุนทักษะชีวิตของผู้เรียน
  6. จัดอบรมขยายผลรูปแบบการสร้างชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองที่ส่งเสริมความคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์และสนับสนุนทักษะชีวิตของผู้เรียนให้กับครูแกนนำจากโรงเรียนนำร่อง

ระยะเวลาโครงการ

เมษายน 2564 – พฤศจิกายน 2564

หมวดหมู่งานวิจัย

เอกสารดาวน์โหลด