เข้าสู่ระบบ

การเตรียมความพร้อมเด็กปฐมวัย มีความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กในระยะยาว กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับที่เหมาะสม  โดยร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พัฒนาเครื่องมือสำรวจสถานะความพร้อม ในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด เพื่อสะท้อนสถานการณ์ด้านพัฒนาการ และความพร้อมของเด็ก ให้พร้อมเข้าสู่ระดับชั้นประถมศึกษา

ความคืบหน้า 100%

โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบออนไลน์และการขยายผลการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย สำหรับประเทศไทย

โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบออนไลน์และการขยายผลการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย สำหรับประเทศไทย เริ่มดำเนินการระยะแรกตั้งแต่ปี 2560 ด้วยการพัฒนาเครื่องมือสำรวจความพร้อมของเด็กปฐมวัย ซึ่งมี 3 มิติ คือความพร้อมของเด็ก  ความพร้อมของสถานศึกษา และความพร้อมของครอบครัว ด้วยการนำชุดเครื่องมือไปทดลองใน 2 จังหวัด ก่อนที่ระยะที่ 2 จะขยายเพิ่มอีก 6 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลละเอียดมากขึ้น และนำเครื่องมือมาใช้ใน ระยะที่ 3 โดยขยายเพิ่มอีก 19 จังหวัด ส่วนในระยะที่ 4 เป็นการสำรวจเพิ่มอีก 25 จังหวัด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกสศ. ที่ต้องการข้อมูลทั่วประเทศภายในปี 2565

จากการนำเครื่องมือสำรวจความพร้อมของเด็กปฐมวัยทั้ง 44 จังหวัด ในโครงการฯ ด้วยเครื่องมือทางสถิติ ในการประเมินความน่าเชื่อถือ วัดระดับสารสนเทศ และประเมินระดับความเบี่ยงเบน พบว่า การปิดสถานศึกษาจากสถานการณ์โควิด ทำให้เด็กเกิดภาวะถดถอย ทั้งด้านวิชาการและด้านความจำใช้งาน  ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่ระดับเศรษฐฐานะของครัวเรือน ก็มีผลต่อระดับความพร้อมของเด็กปฐมวัย สอดคล้องกับปัญหาอาหารไม่เพียงพอ ก็มีผลต่อความพร้อมของเด็กด้วยเช่นกัน  จึงควรต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อเพิ่มเวลาคุณภาพให้เด็กปฐมวัย รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อฟื้นฟูความพร้อมของเด็กปฐมวัย ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ให้ภาวะถดถอยจากโควิด ส่งผลต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ในระยะยาว กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นวงกว้างต่อไป