เข้าสู่ระบบ

การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัย ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะนอกจากเด็กจะเป็นหลักประกันในชีวิตให้กับคนในครอบครัวแล้ว ยังเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย การจัดการศึกษาในเด็กปฐมวัยให้เกิดประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าต่อสังคม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งครูถือเป็นบุคลากรสำคัญที่สุดในด้านการศึกษา ดังนั้นการจะพัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษาก็หนีไม่พ้นที่จะต้องพัฒนาที่หลักสูตรการผลิตครู เพื่อนำไปสู่การสร้างเด็กปฐมวัยที่มีคุณค่า

ความคืบหน้า 100%

โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาข้อเสนอในการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย

หลักการและเหตุผล

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการสมวัย พร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา สนับสนุนและช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พัฒนาครูให้มีความสามารถ พัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงสนับสนุนให้มีการวิจัยแนวทางพัฒนาครูให้มีความรู้ ความสามารถ และส่งเสริมให้ตั้งสถาบันต้นแบบผลิตและพัฒนาครู

โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาข้อเสนอในการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็กและครูผู้ช่วยนี้ เป็นการศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับมาตรฐาน สร้างเด็กปฐมวัยให้มีลักษณะพึงประสงค์ รวมทั้งพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก เป็นต้นแบบผลิตครูจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานในสังกัดต่าง ๆ  ศึกษาวิเคราะห์องค์ความรู้ การปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย เพื่อจัดการศึกษาให้เด็กช่วงรอยต่อจากชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษา

ทั้งนี้โครงการฯ ได้ทำข้อเสนอการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วยที่มีประสิทธิภาพ ด้วยหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ ที่เป็นนวัตกรรมการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย  มุ่งเน้นรูปแบบการเรียนการสอนที่เอื้อให้นักศึกษาสามารถลงพื้นที่ปฏิบัติการสอนได้ตลอด 4 ปี ให้นักศึกษาเชื่อมโยงการเรียนรู้จากรายวิชาของภาคเรียนนั้น นำไปใช้ในบริบทจริง โดยออกแบบการเรียนการสอนเป็นแบบวิชาเดียวต่อเนื่อง รวมทั้งยังได้ทำข้อเสนอต่อ กสศ.เพื่อพัฒนาสถาบันต้นแบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัยด้วย

  1. เพื่อจัดทำแนวทางการพัฒนหลักสูตรในการผลิตครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วยที่มีความยืดหยุ่นสอดรับกับบริบทพื้นที่ในการทำงานที่มีความแตกต่างและการดึงท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
  2. เพื่อจัดทำแนวทางการพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วยที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมที่เหมาะสมผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการฝึกปฏิบัติจริง (Practices) เพื่อสร้างบัณฑิตที่สามารถดูแลเด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 8 ปีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความรู้ความชำนาญในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยช่วงรอยต่อชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษา
  3. เพื่อจัดทำข้อเสนอในการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วยที่มีประสิทธิภาพ
  4. เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย
  1. ศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับมาตรฐานหลักเกณฑ์ และสร้างให้เด็กปฐมวัยมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ โดยครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้
    1. แนวทางการจัดหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับมาตรฐาน หลักเกณฑ์และคุณลักษณะเด็กปฐมวัยที่พึงประสงค์
    2. รูปแบบและแนวทางการจัดหลักสูตรและการเรียนรู้ (หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี หลักสูตรอนุปริญญา หลักสูตรประกาศนียบัตร และ/หรือ หลักสูตรการผลิตครูปฐมวัยที่ได้รับคุณวุฒิเทียบเท่า)
  2. ศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วยที่จะพัฒนาเป็นต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วยจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานและ/หรือองค์กรในสังกัด
  3. ศึกษาและวิเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็กและครูผู้ช่วย เพื่อพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาสำหรับเด็กช่วงรอยต่อจากชั้นอนุบาลศึกษาถึงประถมศึกษา
  4. ศึกษาและวิเคราะห์องค์ความรู้ กรณีศึกษา และบทเรียนจากต่างประเทศ เกี่ยวกับการดำเนินงานภารกิจ และบทบาทของสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย