เข้าสู่ระบบ

นโยบายด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต่างกำหนดให้ต้องปฏิรูปการเรียนรู้ทุกระดับตั้งแต่ระดับปฐมวัย ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งสิ่งสำคัญคือการพัฒนาระบบการเรียนรู้ที่ต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และการพัฒนาระบบฐานข้อมูล เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ความคืบหน้า 100%

โครงการพัฒนาฐานข้อมูลสถานะความเหลื่อมล้ำและคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ แบบกลุ่มตัวอย่างซ้ำ (Longitudinal Sample) ในประเทศไทย

หลักการและเหตุผล

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจข้อมูลตัวอย่างซ้ำ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยผ่านโครงการลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพทุกปี ตั้งแต่ปี 2558 

โครงการพัฒนาฐานข้อมูลสถานะความเหลื่อมล้ำ และคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ แบบกลุ่มตัวอย่างซ้ำ ในประเทศไทยนี้ เป็นข้อมูลที่ครอบคลุมทุกมิติของเด็กปฐมวัยรายบุคคล ทั้งที่เกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน การศึกษา สุขภาพ รูปแบบและพฤติกรรมการเลี้ยงดู  รูปแบบและคุณภาพการเรียนการสอนของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเก็บตัวอย่างกว่า 1,400 รายจากประมาณ 1,300 ครัวเรือน ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ได้มีการปรับแผนการประเมินทักษะของเด็กกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้เครื่องมือประเมินทักษะด้านการบริหารชีวิต 3 ด้าน คือ ความจำขณะทำงาน ความสนใจจดจ่อ และความยับยั้งชั่งใจ เพื่อพัฒนาข้อมูลเด็กปฐมวัยให้ต่อเนื่องและสมบูรณ์ เป็นเครื่องมือในการสร้างองค์ความรู้และออกแบบนโยบายด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทย            

จากการสำรวจข้อมูลทำให้พบว่า การหยุดเรียนจากสถานการณ์โควิด ทำให้เกิดภาวะถดถอยในเด็กกลุ่มตัวอย่าง ในด้านทักษะการจดจำและทักษะความสนใจจดจ่อ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรวางแผนและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อฟื้นฟูทักษะของเด็กให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ให้ส่งผลต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ในระยะยาว  ขณะที่ระดับเศรษฐฐานะของครัวเรือนก็มีผลต่อทักษะของเด็กในวัยเรียน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาด้วยการยกระดับคุณภาพการศึกษาปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และพัฒนาทักษะให้ผู้ปกครองสามารถจัดกิจกรรมที่มีคุณภาพร่วมกับบุตรหลานของตนเอง รวมทั้งหากสามารถส่งเสริมให้มีการวิจัย โดยใช้ฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำ เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านอื่นๆ ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านทุนมนุษย์ได้อย่างยั่งยืน

1.การฝึกอบรมพนักงานเก็บข้อมูลชั่วคราว

2.ขั้นตอนวางแผนการลงสํารวจภาคสนาม

3.การนัดหมายเพื่อเข้าสัมภาษณ์

4.การสัมภาษณ์ข้อมูล

5.การตรวจสอบการกรอกแบบสอบถาม

6.การบันทึกข้อมูล

7.การตรวจสอบการบันทึกข้อมูล