ปัญหาจากระบบการศึกษาที่ไม่ครอบคลุมเและขาดประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาและหาทางออก เมื่ออนาคตทางการศึกษาของเยาวชนใน กทม. ยังไม่มีความชัดเจน Equity Lab แล็บฯเสมอภาค โดยความร่วมมือของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงจัดเวทีเสวนาออนไลน์ ‘การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เกี่ยวอะไรกับเด็กจนเมือง’ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เพื่อทบทวนปัญหาด้านการศึกษาของกลุ่ม ‘เด็กจนเมือง’ ประชากรเด็กชายขอบในเมืองใหญ่ และความหวังในการแก้ไขปัญหาที่ควรจะเกิดขึ้นในวาระของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2565
วิกฤตการศึกษาของเด็กเปราะบางในพื้นที่ กทม.
หากไม่ใช้คำว่าวิกฤตก็ไม่อาจหาคำใดมาเทียบเคียงกับสถานการณ์อันน่าเป็นห่วงต่อการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มเด็กจนเมืองในพื้นที่ กทม. ซึ่ง ครูจิ๋ว – ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ได้เล่าถึงสภาพปัญหาของเยาวชนที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิว่า ปัจจุบันยังมีเด็กจำนวนมากที่รอส่งกลับคืนเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเร่ร่อนและลูกหลานของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนเนื่องจากไม่มีเอกสารรับรองตัวตน ทั้งที่ในกระบวนการของระบบการศึกษาเองสามารถการทำเอกสารรองรับเพื่อยันยันการมีตัวตนของนักเรียนในโรงเรียนได้ ทำให้ขาดโอกาสได้รับเลขประจำตัว 13 หลัก อันเป็นสิ่งสำคัญในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ
ภายใต้การทำงานของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ทองพูลพบว่าปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. และจำเป็นต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ ปัญหาเด็กขาดการดูแล และภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการศึกษาในขณะที่พ่อแม่ตกงาน เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจบีบคั้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยต้องออกจากการศึกษากลางคัน
เช่นเดียวกันกับ ครูนาง – นริศราภรณ์ อสิพงษ์ หัวหน้าแผนกครูข้างถนน มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล (Mercy Centre) หนึ่งในผู้ที่คลุกคลีทำงานเพื่อคุณภาพการศึกษาของเด็กจนเมืองใน กทม. พบว่าในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมาทำให้จำนวนเด็กเร่ร่อนเพิ่มขึ้นถึงหลักพัน แม้จะไม่ใช่เด็กที่ใช้ชีวิตตามสี่แยกและสวนสาธารณะทั้งหมด แต่ก็ยังมีเด็กที่เร่ร่อนอยู่ในชุมชนที่อยู่อาศัย นอกจากนี้สถานการณ์ของโรคระบาดยังส่งผลให้ศูนย์เด็กปฐมวัยซึ่งจัดตั้งโดยมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคลเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากการศึกษา ต้องปิดตัวลงเหลือเพียง 17 แห่ง จากทั้งหมด 21 แห่ง ทั้งยังต้องลดจำนวนบุคลากรลงเนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณ ทำให้ต้องประคับประคองและแก้ไขปัญหาไปตามกำลังที่มี โดยไม่อาจทราบได้ว่าศูนย์เด็กปฐมวัยที่เหลืออยู่นี้จะอยู่ต่อไปได้นานเพียงใด
คุณภาพการศึกษากับงบประมาณที่ไม่ทั่วถึง
ปัจจัยหลักที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษาของกลุ่มเด็กจนเมืองคืองบประมาณที่ถูกจัดสรรจาก กทม. ซึ่งจากวิกฤตทางการศึกษาที่ได้กล่าวไปในข้างต้นก็จะพบว่า รากปัญหาที่ซึมลึกอยู่ภายในคือการขาดงบประมาณเพื่อสนับสนุนการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าชุดนักเรียน หรือแม้แต่ค่าอาหารกลางวัน
ในส่วนของงบสนับสนุนสำหรับศูนย์เด็กปฐมวัย นริศราภรณ์ระบุว่า กทม. ได้ให้ค่าอาหารกลางวันเฉลี่ยคนละ 20 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์การเรียนคนละ 300 บาทต่อปี ส่วนค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากนั้นทางศูนย์ฯ จะเป็นผู้จัดการเอง ซึ่งเมื่อพิจารณาจำนวนเงินที่ได้รับนั้นถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในกรุงเทพฯ ส่งผลให้ให้เด็กหลายคนเลือกที่จะไม่ไปเรียนเพราะไม่มีเงินจะมาโรงเรียน
ไม่เพียงแต่งบประมาณที่ถูกจัดสรรให้นักเรียนจะค่อนข้างน้อยแล้ว งบประมาณที่ใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาในสถานศึกษาก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งผลกระทบจากความขาดแคลนนี้ส่งผลถึงเด็กโดยตรง
“ในลักษณะความเป็นมูลนิธิขององค์กรเรา เงินงบประมาณจำนวนเท่านี้ค่อนข้างมีปัญหาในการจัดการอยู่พอสมควร งบประมาณที่น้อยทำให้ขวัญกำลังใจของบุคลากรที่พร้อมจะทำงานกับเด็กมีลดน้อยลง เมื่อองค์กรต้องลดจำนวนบุคลากรลง คนที่ยังอยู่ซึ่งรับหน้าที่สอนหนังสือให้เด็กปฐมวัยก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงตรงนี้เช่นกัน”
จากข้อมูลการจัดสรรงบประมาณของ กทม. ซึ่งปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
พบว่า กทม. มีสำนักต่างๆ ที่ต้องใช้จ่ายประมาณ 10 สำนัก รวมเป็นงบประมาณทั้งหมดราว 80,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายส่วนมากหมดไปกับการจัดการเรื่องการระบายน้ำ โยธา และการจัดการสิ่งแวดล้อมในเมือง โดยงบอันดับ 1 คืองบระบายน้ำซึ่งใช้ไปถึง 7,000 ล้าน ในขณะที่งบการศึกษานั้นอยู่ในลำดับสุดท้ายคือ 700 ล้าน จึงเกิดเป็นข้อสงสัยว่าเหตุใดงบประมาณเพื่อการพัฒนาคนไปสู่อนาคตของเมืองถึงได้ถูกจัดลำดับความสำคัญไว้น้อยที่สุด
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในท้องถิ่นหลายๆ ที่ ประเด็นการศึกษาจะถูกชูขึ้นเป็นนโยบายอันดับต้นๆ และสามารถบริหารจัดการด้านการศึกษาและดูแลเด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี แต่ กทม. ซึ่งมีทรัพยากรที่มากกว่าและพร้อมกว่ากลับมีวิธีการตรงกันข้าม นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของ กทม. ในอนาคตที่จะต้องจัดการกับงบประมาณที่มีให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ความซับซ้อนของปัญหาสังคมที่คาบเกี่ยว ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำและคุณภาพของการศึกษา
“เมื่อเราพูดถึงการเข้าถึงระบบการศึกษา ไม่ใช่เพียงแค่การเข้าถึงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการเข้าถึงอย่างมีคุณภาพด้วย เด็กบางคนจบการศึกษาระดับ ม.ปลาย หรือปริญญาตรี แต่ไม่สามารถเข้าถึงงานที่มีคุณภาพ บางก็ต้องทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาที่เป็นจริง แสดงให้เห็นว่าคุณภาพการศึกษาทำให้เด็กแต่ละระดับถูกถ่างให้ห่างออกจากกันมากขึ้น”
อนรรฆให้ความเห็นว่า การแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษารวมถึงปัญหาเด็กหลุดออกจากการศึกษาจำเป็นต้องใช้มาตรการแก้ไขในเชิงรุก ซึ่ง กทม. ควรสนับสนุนทุกเรื่องตามขอบเขต แต่ไม่จำเป็นต้องลงไปทำเองในทุกรายละเอียดกระบวนการ หนึ่งในปัจจัยที่ กทม. สามารถจัดการได้คือ การสร้างนโยบายความร่วมมือและการจัดสรรงบประมาณเพื่อการแก้ปัญหา
‘เด็กจนเมือง’ อยู่ตรงไหนในนโยบายพัฒนาเมือง?
“เราเห็นเขาชูนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาทั่วๆ ไป แต่คำถามเรื่องการศึกษาและการพัฒนาเด็กกลายเป็นนโยบายที่อ้ำอึ้ง พูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำ ซึ่งในความคิดเห็นของเรา มองว่าปัญหานี้อาจจะไม่ได้รับการแก้ไขตรงจุดภายหลังการเลือกตั้งครั้งนี้”
นริศราภรณ์กล่าวถึงปัญหาเด็กจนเมืองว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษามากพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ของ กทม. หลายครั้งที่ระบบการศึกษาในโรงเรียนบีบให้เด็กต้องออกจากการเรียนเพราะการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ตัวเลขที่ไม่สอดคล้องกันของจำนวนเด็กที่หลุดออกจากการศึกษาซึ่ง กทม. ได้ระบุไว้ว่ามีเพียงเล็กน้อย แต่ในความจริงนั้นมีถึงหลักหมื่นราย เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่มีความครอบคลุมชัดเจน และทำให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาถูกมองข้ามไป
ขณะที่ทองพูลซึ่งทำงานผลักดันให้เด็กจนเมืองได้เข้าสู่ระบบการศึกษามา ร่วมกับรองผู้ว่าฯ กทม. บุญนำ ทานสัมฤทธิ์ ในปี 2533 กระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2535 กล่าวว่า กทม. ได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือและสนับสนุนการศึกษา โดยดำเนินการร่วมกันผ่านเครือข่ายองค์กรเพื่อเด็กเร่ร่อนและสำนักพัฒนาสังคม จัดตั้งศูนย์สร้างโอกาสสำหรับเด็กในปี 2536 จำนวน 7 แห่ง ทั้งยังมีการรับรองว่า กทม. จะเป็นต้นแบบในการรับเด็กที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนให้สามารถเข้าเรียนได้ หากแต่ในปัจจุบันยังพบปัญหาขาดงบประมาณในการดำเนินการ ทำให้การเซ็นสัญญาการจ้างงานครูในศูนย์ฯ เป็นไปในรูปแบบครูอัตราจ้างแบบรายปี บุคลากรจึงไม่ได้รับเงินเดือนในอัตราที่สูงขึ้นแม้เวลาจะผ่านมาหลายสิบปี
“กทม. มี 50 เขต ทำไมถึงไม่มีศูนย์สร้างโอกาสในทุกพื้นที่ 50 เขต” คือคำถามที่ทองพูลกล่าวต่อการทำงานของ กทม.
หลักสูตรการศึกษาที่ยังคงเป็นช่องโหว่ ไม่สอดรับ หรือไม่เพียงพอต่อเด็กจนเมืองจำนวนมากที่ยังขาดโอกาส เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความไม่พร้อมของเมืองในการรองรับคุณภาพชีวิตของเด็ก ซึ่งสำหรับทองพูลเองได้เสนอแนวทางเพื่อสนับสนุนการศึกษาของกลุ่มเด็กจนเมืองเป็น 3 มิติ
- การผลักดันเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา ควบคู่ไปกับการฝึกอาชีพโดยไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ซึ่งตามระเบียบเดิมจะเริ่มฝึกอาชีพได้เมื่อได้รับวุฒิ ม.3) เพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาและเข้าสู่ระบบหลักและสวัสดิการของ กทม. เองได้โดยไม่ตกหล่น
- การปรับรอบสอบของการศึกษานอกระบบ (กศน.) ให้เป็นแบบไม่มีรุ่น โดยเพิ่มเป็นหลักสูตรรายบุคคล หลักสูตรตามความสามารถของเด็ก เพื่อแก้ปัญหาเด็กอายุเกินวัยถูกบีบออกจากระบบการศึกษา
- ภายหลังการผลักดันเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว จะต้องได้รับหลักฐานยืนยันการเป็นนักเรียน ต้องได้รับสิทธิ์ให้ได้เรียนอยู่ในพื้นที่ที่ตัวเองอยู่อาศัยไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ตาม
ทองพูลกล่าวอีกว่า การพัฒนาบุคลากรถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะกลุ่มเด็กในมูลนิธิเองมีทั้งเด็กที่มีภาวะการเรียนรู้บกพร่อง ภาวะสมาธิสั้น รวมไปถึงออทิสติก จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการที่จะทำให้ครูสามารถเข้าใจในความบกพร่องตรงนี้และสามารถสร้างกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กเหล่านี้ให้ได้
วิสัยทัศน์ผู้ว่าฯ กทม. กับอนาคตของเด็กจนเมือง
ในช่วงท้ายของวงเสวนา ข้อสรุปเล็กๆ จากผู้ร่วมประชุมเห็นพ้องไปในทางเดียวกันว่า ตำแหน่งผู้ว่าราชการแห่งกรุงเทพมหานครเปรียบเสมือนไพ่ใบสำคัญที่จะสามารถสร้างหรือดับความหวังให้กับประชากรแฝงกว่าครึ่งในพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะเด็กจนเมืองที่ยังคงต้องได้รับการช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการศึกษาและได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
วิสัยทัศน์ด้านการศึกษาและการลดความเหลื่อมล้ำสำหรับเด็กคือความหวังใหญ่ของนริศราภรณ์ หากผู้ว่าฯ กทม. สามารถร่างนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการศึกษาของเด็กจนเมืองและดำเนินการปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง ในอนาคตเด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ต้องออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านก็จะมีจำนวนน้อยลง เด็กจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ
สำหรับทองพูล มองว่าสิ่งที่ต้องการที่สุดจากผู้ว่าฯ กทม. คงไม่ใช่แค่วิสัยทัศน์ แต่เป็นความสามารถที่จะบูรณาการการทำงาน และคิดว่าผู้ว่าฯ กทม. ควรเป็นผู้นำที่สามารถสร้างความร่วมมือระหว่างสำนักพัฒนาชุมชน สำนักศึกษา สำนักอนามัย ให้ทำงานร่วมกันได้ เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับสิทธิและสวัสดิการอย่างเท่าเทียม
ในความคิดของอนรรฆมองว่า ผู้ว่าฯ กทม. ต้องมีความสามารถในการวางกรอบแนวทางการพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับเด็กและโรงเรียน ต้องสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาการศึกษาได้ รวมไปถึงสามารถจัดสรรค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวกับเมืองเพื่อนำมาใช้กับการศึกษาได้
“ต่อให้เงินไม่พอ กลไกไม่ได้ แต่ถ้าผู้ว่าฯ กทม. มีวิสัยทัศน์ ทุกอย่างก็จะเดินหน้าได้”
อนรรฆยังกล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่สำคัญอันเป็นภารกิจใหญ่หลวงของผู้ว่าฯ กทม. คือการหล่อเลี้ยงความหวังในชีวิตของเด็กๆ ให้คงอยู่ต่อไปให้ได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ยังคงรอการพัฒนา เด็กที่มีความหวังจะผลักดันให้ตัวเองยืนอยู่ในสังคมและแบ่งปันความช่วยเหลือให้แก่คนรอบข้างที่กำลังลำบาก นั่นคือกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลง
เพราะสังคมที่ดีต้องมอบอนาคตที่ดีแก่เด็กๆ เหล่านี้เช่นกัน
ชมเสวนาย้อนหลัง : https://web.facebook.com/equitylabeef/videos/327681509500992