จากสถิติการสอบ TCAS ปี 2565 พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า เด็กนักเรียนกลุ่มเปราะบาง หรือนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ เข้าถึงระบบการสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เด็กจำนวนมากหลุดจากระบบการศึกษากลางคัน บ้างหันไปศึกษาต่อในสายอาชีวะ บ้างออกไปทำงานหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว เป็นต้น
ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักก่อนว่า TCAS คืออะไร และเหตุใดจึงเกิดปรากฏการณ์เช่นนั้นขึ้น
ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือที่เรียกกันว่า TCAS (Thai University Central Admission System) คือระบบการรับเด็กเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่ช่วยเพิ่มความเท่าเทียมและลดปัญหาการกีดกันสิทธิ์ต่างๆ ให้กับเด็ก ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบโดยองค์กรที่ประชุมอธิบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)
จากการศึกษาข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ซึ่งได้สำรวจติดตามนักเรียนทุนเสมอภาค (โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข) และนักเรียนทุนปัจจัยพื้นฐาน (ทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน) ในระดับชั้น ม.3 ปีการศึกษา 2561 จำนวนทั้งสิ้น 148,021 คน ต่อมาในปีการศึกษา 2564 พบว่านักเรียนกลุ่มนี้เรียนอยู่ชั้น ม.6 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 62,042 คน จนกระทั่งถึงปีการศึกษา 2565 พบว่า เด็กกลุ่มนี้สมัครสอบ TCAS จำนวน 31,865 คน ขณะที่มีนักเรียนยืนยันสิทธิ์เพียง 20,018 คน
คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ นักเรียนทุนเสมอภาคและนักเรียนทุนปัจจัยพื้นฐานอีก 128,003 คนที่เหลือ หายไปไหน?
เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ปัญหาที่รอการแก้ไข
หากพิจารณาจากเงื่อนไขการคัดเลือกในระบบ TCAS จะพบว่า สาเหตุที่นักเรียนยื่นสมัครสอบไปแล้ว แต่กลับไม่ยืนยันสิทธิ์ อาจเพราะมีข้อจำกัดและเหตุผลส่วนตัวหลายประการ อาทิ ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรืออาจยังไม่มีคณะที่ชอบ
เว็บไซต์ mytcas.com ของ ทปอ. ระบุว่า ระบบ TCAS เปิดให้ผู้สมัครเลือกได้ว่าจะไม่ใช้สิทธิ์หรือสละสิทธิ์ก็ได้ กรณีไม่ต้องการเรียนในสาขาวิชาดังกล่าว หรือเปลี่ยนใจไม่ต้องการเข้าศึกษาในสถาบันดังกล่าว เพื่อจะสมัครในรอบต่อไป
ขณะเดียวกัน หากมองในแง่ค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบก็นับว่าเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้นักเรียนจำนวนหนึ่งตัดสินใจที่จะไม่สมัครสอบหรือยอมสละสิทธิ์ได้ด้วยเช่นกัน โดยการสอบ TCAS จะแบ่งรอบการสมัคร 4 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ค่าสมัครอยู่ที่ 200-1,000 บาท รอบที่ 2 โควตา (Quota) ค่าสมัคร 200-600 บาท รอบที่ 3 คัดเลือกกลาง (Admission) สามารถเลือกได้ 10 อันดับ ค่าสมัครตั้งแต่ 150-900 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนอันดับที่เลือก และรอบที่ 4 รับตรงอิสระ (Direct Admission) ค่าสมัคร 200-1,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เด็กอีกจำนวนมากที่ไม่ได้สมัครสอบ TCAS อาจมิใช่เพราะปัญหาเรื่องค่าสมัครสอบเพียงอย่างเดียว หากยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ควรพิจารณาร่วมด้วย
ข้อมูลพื้นฐานของเด็กนักเรียนทุนเสมอภาคและนักเรียนทุนปัจจัยพื้นฐาน ทั้งหมดเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีฐานะยากจน หรือมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่อาจเข้าถึงโอกาสที่จะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้
จากการสำรวจติดตามนักเรียนกลุ่มดังกล่าวที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.3 ปีการศึกษา 2561 จนถึงการสอบ TCAS ปีการศึกษา 2565 จะเห็นว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าวคาบเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยตรง และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษากลางคัน เด็กจำนวนหนึ่งต้องออกไปประกอบอาชีพเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว หรือบางคนอาจหันไปศึกษาต่อสายอาชีพ
รายงานฉบับพิเศษ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2565 ของ กสศ. ระบุว่า มีเด็กไทยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามากกว่า 1.8 ล้านคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ (ป.6 ม.3 และ ม.6) ที่มักจะหลุดจากระบบในช่วงปิดเทอมและอาจจะไม่กลับเข้ามาเรียนอีก
“ยิ่งไปกว่านั้นวิกฤตโควิด-19 ยังสะท้อนและเปิดแผลให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยลุกลามและร้ายแรงแค่ไหน โดยพบว่าเด็กยากจนพิเศษมีจำนวนเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ ผู้ปกครองตกงานมากขึ้น รายได้ลดลง เกิดภาวะยากจนเฉียบพลัน ทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบกับนักเรียนโดยตรง” รายงานระบุ
อุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา
โจทย์ที่ท้าทายของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาไทยในอนาคต จำเป็นต้องพิจารณาจากแนวทางการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข และทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาภาระค่าใช้จ่ายของกลุ่มครัวเรือนยากจน
อย่างไรก็ตาม การจัดสรรทุนดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ และเหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยข้อเสนอของ กสศ. คือ ให้ปรับปรุงอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ได้แก่ ระดับอนุบาล 1,000 บาท ระดับประถม 1,000 บาท ระดับมัธยมต้น 4,000 บาท และระดับมัธยมปลาย 9,000 บาท
ส่วนการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข ให้ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ได้แก่ ระดับอนุบาล 4,000 บาท ระดับประถม 5,100 บาท ระดับมัธยมต้น 4,500 บาท และระดับมัธยมปลาย 9,100 บาท
การเพิ่มการลงทุนด้านการศึกษาดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอัตราการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษให้สูงกว่าร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในระบบการศึกษา จึงเปรียบเสมือนการลงทุนสร้างความเสมอภาคเพื่อให้นักเรียนในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำหลุดพ้นจากเส้นความยากจน
ที่มา
- คู่มือระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (Thai University Central Admission System: TCAS) ปีการศึกษา 2565 https://assets.mytcas.com/d/TCAS65-manual-v7-21dec64.pdf
- โครงการทุนเสมอภาค (โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข) https://www.eef.or.th/fund/support-poor-students/
- รายงานฉบับพิเศษ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2565 https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2022/02/EEF-2022-year-report.pdf