เรื่อง: กานดา ณ พิกุล
สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนอย่างกะทันหันจากการเรียนในห้องเรียนแบบปกติไปเป็นการเรียนการสอนทางไกล ทั้งแบบออนไลน์และออนแอร์ ในภาวะที่โรงเรียนต้องปิดตัวจากการระบาดของ COVID-19 กลายเป็นการสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนและอินเทอร์เน็ตได้ เพราะไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ ตัวอย่างเช่น เด็กนักเรียนผิวสี เชื้อชาติอเมริกัน-สเปน รวมถึงชนพื้นเมืองในสหรัฐอเมริกาที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาลดลง
อย่างไรก็ตาม การสูญเสียโอกาสในการเรียนของเด็กนักเรียนก็ได้เกิดขึ้นไปแล้ว ถึงแม้ภายหลังจะมีการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนทางไกลที่พยายามจะให้เข้าถึงนักเรียนทุกกลุ่ม โรงเรียนจึงต้องพัฒนาระบบการเรียนรู้เพื่อเร่งให้เด็กที่มีความเสี่ยงตามทันบทเรียนให้ได้มากขึ้น โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจหรือวิจัยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มชั่วโมงเรียน และกระตุ้นให้เด็กมีความสนใจเรียนเพิ่มขึ้น รวมถึงการประเมินผลที่เข้มข้น ซึ่งต้องอาศัยการลงทุนอย่างมหาศาล
เพิ่มการลงทุน หนทางก้าวไปข้างหน้า
การลงทุนอาจให้ผลลัพธ์ที่ดี หากเป็นรูปแบบการเรียนแบบตัวต่อตัวและการเรียนออนไลน์ จากตัวอย่างในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการลงทุนและปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน ได้แก่
- เพิ่มชั่วโมงเรียน
การเพิ่มชั่วโมงเรียนมีจุดประสงค์เพื่อเร่งให้เด็กเรียนได้ทันตามที่หลักสูตรกำหนด โดยเพิ่มวันเรียนจากปกติ และเพิ่มการเรียนเสริมหลังเลิกเรียน รวมถึงเรียนพิเศษวันเสาร์-อาทิตย์ และการเรียนภาคฤดูร้อน โดยจำกัดจำนวนนักเรียนให้เหลือเพียง 8-12 คนต่อกลุ่ม
ผลจากการวิเคราะห์พบว่า การเรียนการสอนเพิ่มเติมในภาคฤดูร้อนปี 2021 ของสหรัฐอเมริกาจะประสบความสำเร็จถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ในวิชาการอ่าน ช่วยให้นักเรียนเรียนได้รวดเร็วขึ้นภายใน 25 ชั่วโมงต่อวิชาในวิชาคณิตศาสตร์และวิชาภาษาศาสตร์ จากเดิมที่ต้องใช้เวลาเรียนตามปกติถึง 3 เดือน และลดอัตราการขาดเรียนถึง 22 เปอร์เซ็นต์ และการลาเรียนถึง 37 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจุบันในบางรัฐมีการเพิ่มเวลาเรียนต่อ 1 ปีการศึกษา จาก 180 วัน เป็น 210 วัน และยังเพิ่มการเรียนการสอนภาคฤดูร้อนให้แก่เด็กนักเรียนอีกด้วย
ทั้งนี้ อาจมีการพัฒนาการเรียนการสอนภาคฤดูร้อนในโรงเรียนทั่วสหรัฐในปี 2021 นี้ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 50,000 บาทต่อคนต่อปี รวมๆ แล้วต้องใช้เงินประมาณ 1.26 ล้านล้านบาท เพื่อเข้าถึงครึ่งหนึ่งของเด็กนักเรียนทั้งหมด 53 ล้านคน
- เพิ่มการกวดวิชาแบบเข้มข้น
การกวดวิชาแบบเข้มข้น คือการติวแบบตัวต่อตัว หรือนักเรียน 2 คน ต่อครู 1 คน การกวดวิชาเริ่มต้นโดยสถาบันการสอนคณิตศาสตร์ในบอสตัน มีการทดลองให้เด็กนักเรียนที่เรียนช้าทดลองเรียนแบบ 2 คน ต่อครู 1 คน เป็นเวลา 50 นาทีทุกวันในการเรียนปกติ สอนทั้งเนื้อหาที่เรียนในชั้นเรียนปกติ และเนื้อหาพิเศษเพิ่มเติม โดยต้นทุนในการลงทุนกวดวิชาอาจลดลงได้ ด้วยการจ้างครูที่เพิ่งจบใหม่ แต่สามารถสอนเด็กนักเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ 1-2 คนได้ ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างดี เด็กนักเรียนสามารถเรียนตามทันและล่วงหน้าบทเรียนปกติไปได้ถึง 1-2 ปี ในการกวดวิชาเพียง 1 ปี
การกวดวิชาทำให้เด็กอนุบาลสามารถอ่านออกเขียนได้เร็วขึ้น และการกวดวิชานี้ได้ผลดีเมื่อกวดวิชาในเวลาเรียนปกติมากกว่าหลังเลิกเรียน และการสอนโดยครูที่เพิ่งจบใหม่ยังให้ผลดีกว่าการใช้อาสาสมัครหรือสอนโดยผู้ปกครองของเด็กเอง ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 75,000 บาทต่อคนต่อปี รวมๆ แล้วต้องใช้เงิน ประมาณ 1.98 ล้านล้านบาท เพื่อที่จะเข้าถึงครึ่งหนึ่งของเด็กนักเรียนทั้งหมด 53 ล้านคน
- พัฒนาแผนการสอน
สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษาของเด็กนักเรียนได้มากที่สุด คือ กระบวนการสอนของครูที่ตรงแผนการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานอย่างถูกต้องและครบถ้วน โดยเปรียบวิธีการที่ครูเป็น ‘นั่งร้าน’ ที่ช่วยให้เด็กๆ ก่อร่างสร้างตึกของตัวเองในระหว่างที่โครงสร้างยังไม่ถูกวาง ด้วยวิธีการที่หลากหลาย โดยครูจะทำหน้าที่เป็น ‘ตัวช่วย’ หรือผู้สนับสนุนให้เด็กคนหนึ่งพัฒนาความรู้ความสามารถในจุดที่ตัวเองยืนอยู่ ไปจนถึงจุดที่ตัวเด็กมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การพัฒนาแผนการสอนของรัฐมิสซิสซิปปี โดยจัดการสัมมนาและอบรมคุณครูให้มีความรู้ความสามารถในการช่วยเหลือ สนับสนุนให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนได้มากขึ้น โดยภาครัฐและคุณครูทั่วสหรัฐจะมีมาตรฐานแผนการเรียนการสอนที่สูงขึ้น และช่วยสนับสนุนให้เด็กนักเรียนพัฒนาความรู้ความสามารถได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
การเร่งโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กอาจจะต้องแลกมากับการลงทุนอย่างมหาศาล หากจะนำมาปรับใช้กับบริบทในประเทศไทยจึงต้องประเมินทั้งความคุ้มค่าและความเหมาะสม