ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุไว้ว่า นักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ต้องกำหนดเป้าหมายให้ได้ก่อนว่าใครเป็นผู้เรียน เพื่อให้สอดคล้องกับโจทย์ปัญหาของเมือง ตามหลักการ ‘อยากให้เมืองเป็นแบบไหน ให้คนในเมืองเป็นผู้ออกแบบ’
สร้างพลเมืองตื่นรู้ รับมือสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ
กรณีศึกษาที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นต้นแบบเมื่อกล่าวถึงเมืองแห่งการเรียนรู้ที่เข้าร่วมเครือข่ายระดับโลกกับยูเนสโก และมีการจัดการเป็นอย่างดีคือ ‘เมืองโอคายามะ’ ประเทศญี่ปุ่น
“ESD (Education for Sustainable Development) ของญี่ปุ่น เน้นการปลูกฝังให้ประชาชนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมในชุมชน มีการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างยั่งยืนผ่านชุมชน และทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายฝ่าย”
คำกล่าวสรุปโดย ซาจิเอะ คุมาโนะ (Sachie Kumano) Staff Member of SDGs and ESD Promotion Division of Okayama City, RCE Okayama, Japan ที่ได้พูดถึง ‘การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เมืองโอคายามะ ประเทศญี่ปุ่น’ ภายในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘Learning City บทเรียนจากต่างเมือง’ เรียกได้ว่าเป็น Learning City ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งริเริ่มสร้างขึ้นตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development: ESD) โดยเกิดขึ้นจากการสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นอย่างเทศบาล มีการจัดตั้งหน่วยสนับสนุนส่งเสริม SDGs และ ESD ขึ้นมาโดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีการใช้กลวิธีการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ผ่านศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและโรงเรียนพันธมิตรของยูเนสโก
หัวใจสำคัญของการส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในเมืองโอคายามะ เน้นสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้ต่อปัญหารอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ นำบทเรียนที่เกิดขึ้นมาศึกษา ทำให้พลเมืองทุกช่วงวัยเป็นนักเรียนรู้สิ่งแวดล้อมที่ปรับตัวได้เร็ว รวมทั้งมีการโปรโมตส่งเสริมการเรียนรู้อย่างยั่งยืนผ่านชุมชน และทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายฝ่าย
คอร์สขุมทรัพย์ จากห้องเรียนธรรมชาติ
ดังที่กล่าวไปก่อนหน้าว่า โอคายามะเมืองแห่งการเรียนรู้ ให้ความสำคัญกับการสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ดังนั้นการออกแบบการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงไม่ถูกจำกัดให้อยู่แค่ในกรอบของทักษะหรือความรู้ระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่จะส่งเสริมและให้ความสำคัญกับทักษะการเป็นพลเมืองโลกควบคู่ไปด้วย
การจัดการและการออกแบบการเรียนรู้ด้านความยั่งยืน จะมีการใช้ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (Community Learning Center: CLC) ที่ตั้งอยู่ในโรงเรียนมากถึง 37 แห่ง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ อีกทั้งยังเป็นศูนย์ประสานงาน สร้างเครือข่าย ตลอดจนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ หรือกระทั่งแนะนำเทคนิคเชิงปฏิบัติให้กับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนของนานาประเทศ เยาวชนจึงไม่ขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้โลกกว้างนอกพื้นที่จังหวัดของตนเอง
โรงเรียนประถมศึกษาไดซันฟูจิ มีเนื้อหาการเรียนการสอนที่มีรายละเอียดหลากหลาย ซึ่งไม่ได้เกิดผลแค่ในรั้วโรงเรียนเท่านั้น แต่โรงเรียนแห่งนี้ยังก้าวไปไกลกว่าการเรียนรู้เรื่องเกษตรกรรม การรักษาสิ่งแวดล้อม ลดขยะ และพร้อมรับมือกับสภาวะเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยหลักสูตรที่กล่าวได้ว่าเป็นคอร์สขุมทรัพย์สำหรับเด็กๆ ให้สามารถเรียนรู้ไปถึงหลักคิดเศรษฐศาสตร์สีเขียว นำไปสู่การปฏิบัติที่เข้มแข็งนอกห้องเรียน ตลอดจนการประชาสัมพันธ์พืชผลการเกษตรที่ปลูกในท้องที่
เปิดโลกทั้งใบให้เด็กเรียนรู้
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือ โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายโอคายามะ อิจิโนมิยะ ที่ร่วมมือกับยูเนสโกและองค์กรห้างร้านต่างๆ พานักเรียนออกไปศึกษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม และธุรกิจนอกพื้นที่ เพื่อให้เด็กๆ ก้าวทันโลก สร้างการเรียนรู้เชิงธุรกิจระหว่างประเทศที่ยุติธรรมและเท่าเทียมผ่านกระบวนการผลิตร่ม โดยคัดเลือกตัวแทนนักเรียนให้เดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศ เพื่อศึกษาวิธีการผลิตร่มด้วยตนเอง ด้วยกระบวนการจัดการและออกแบบการเรียนรู้เช่นนี้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองแนวคิดของเด็กที่มีต่อโลกทั้งใบในภาพที่กว้างมากขึ้น
โครงการโอคายามะเมืองแห่งการเรียนรู้ นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยังดำเนินโครงการในระดับมหาวิทยาลัย มีการฝึกอบรมแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย และมีโครงการฝึกงานตามความสนใจ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่น ร้านค้าเอกชน และ NGOs ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายให้นักศึกษาทุกคนสามารถเชื่อมโยงความคิดและการมีส่วนร่วมกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงทำให้เมืองโอคายามะเป็นต้นแบบให้แก่เมืองอื่นๆ ทั่วโลก
ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้กับสถานศึกษาทั่วเมืองโอคายามะ ยังมีการจัดกิจกรรมและฝึกอบรม เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนและทุกช่วงวัยได้รวมตัวกันเรียนรู้และลงมือทำ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ มีการให้รางวัล ‘Good ESD Practice’ เพื่อสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงรางวัล ‘ESD Okayama’ ประจำปี เพื่อตอบแทนแนวทางปฏิบัติที่ดีของชุมชนท้องถิ่น อีกทั้งยังขยายฐานการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ ESD ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจ และองค์กรทางเศรษฐกิจ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการ ไปจนถึงสร้างความร่วมมือในระดับชาติและนานาชาติต่อไป
ข้อมูลจากยูเนสโกระบุว่า โครงการโอคายามะเมืองแห่งการเรียนรู้ นำเสนอแนวทาง การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบและทั่วถึง มีตัวอย่างที่โดดเด่นและครอบคลุมในการจัดการเมืองด้วยแนวทางแบบ 360 องศา ที่หยั่งรากลึกลงในท้องถิ่น สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และอีกหลายภาคส่วน อีกทั้งยังเป็นโครงการที่มีความหลากหลายและสร้างสรรค์ นับเป็นต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนและเมืองอื่นๆ ทั่วโลกที่มุ่งสู่ความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง: