เรื่อง: ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ, ณิชกานต์ ภักดี
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
“อย่าเรียกเราว่านักเรียนทุนเลย” แต่เหตุผลหนึ่งที่ต้องมาคุยกับ ‘อิม’ พชร สูงเด่น รองบรรณาธิการบริหาร The Momentum เพราะอิมเคยได้ทุน Erasmus Mundus และเป็นที่มาของธีสิสหัวข้อ ‘Lifelong Learning: การเรียนรู้ตลอดชีวิต’
อิมบอกว่า Erasmus คือทุนการศึกษาให้เปล่าและเป็นทุนของผู้ด้อยโอกาสจริงๆ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น อิมยอมรับว่าต้องใช้ใบเบิกทางระดับ privilege หลายอย่าง ขั้นต่ำคือภาษา
ดังนั้นเรียนจบกลับมา หน้าที่ที่ยัดเยียดให้ตัวเองคือ บอกกล่าวถึงทุนนี้ให้ได้มากที่สุดพร้อมเคาะประตูให้ทุกคนที่สนใจและคอยดุนหลังว่า “ทำได้ เปิดโอกาสให้ตัวเองเถอะ”
เพราะอิมเชื่อว่า ถ้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างไม่ได้ ก็ต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงความคิด – คิดว่าตัวเองทำได้
จะหาว่าโลกสวยหรือมองโลกในแง่ดีเกินไปก็ได้ แต่การมองมุมบวกแล้วลุกขึ้นมาสู้กับมัน ก็ยังดีกว่าเอาแต่ก่นด่า ไม่ทำอะไรแล้วขังตัวเองอยู่ในนั้น
อิมเชื่อและเรียนรู้สิ่งนั้นมาตลอด 31 ปีของชีวิต
ตอนเด็กเติบโตในย่านคลองเตย แต่ ม.ปลาย กลายเป็นเด็กห้อง Gifted อยากให้คุณเล่าประวัติคร่าวๆ ให้ฟัง
เกิดและโตที่คลองเตย แต่ไม่ได้เรียนที่คลองเตย คุณพ่อพาย้ายออกมาก่อน พ่อใช้ประโยคว่าเขาไม่สามารถให้ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมได้ ตัดสินใจทุบหม้อข้าว หาธุรกิจใหม่ในพื้นที่อื่น เราเลยได้เรียนโรงเรียนคริสต์พร้อมกับพี่ชาย แล้วพี่ชายน่าจะเรียกว่าเป็นคนที่ฉลาดโดยกำเนิด ได้ที่ 1 ตั้งแต่อนุบาลเลย พอพี่ชายตั้งต้นดี น้องสาวเลยตกกระไดพลอยโจนไปด้วยว่าน่าจะเรียนดีเหมือนกัน
แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้นเลย ห้องมี 55 คน เราสอบได้ประมาณที่ 53 54 ตลอด คนจะเซอร์ไพรส์ว่า เอ๊ะ นามสกุลเดียวกัน ทำไมต่างกันได้มากขนาดนี้ ตอนนั้นเปรียบเทียบตัวเองอยู่ตลอดว่าฉันไม่ได้เก่งเท่าพี่ แต่พอ ป.2-3 เจอคุณครูคนหนึ่ง จำได้เลยว่าชื่อ ‘ครูสิริมา’ มีคำถามชวนให้เราตอบตลอดเวลา ชมเกินหน้าเกินตา ถ้ามองตอนนี้เขาอาจจะทำแบบเดียวกันกับเด็กทุกคน แต่เราในตอนนั้นตั้งแต่อนุบาลจนถึง ป.2 ไม่เคยถูกครูชมมาก่อน ถูกด่าด้วยซ้ำ จนกลายเป็นสิ่งที่เราเชื่อไปแล้ว
ครูสิริมาชมว่ายังไงบ้าง
มีครั้งหนึ่งเราตอบผิด เขาพูดว่า nice try มันคือ เฮ้ย พยายามได้ดีนะ ไม่ได้บอกว่ามันผิด แต่เราว่าคำนั้นมันเป็นนัยยะสำคัญมาก ถ้าเด็กคนหนึ่งถูกครูบอกว่าผิด นั่นคือความเปราะบาง ครั้งต่อไปไม่กล้ายกมือเลยนะ แต่ไม่ว่าครูสิริมาจะเรียกให้ทำอะไรก็ตาม เราจะอยากยกมือขอตอบ อยากได้คำชม
ครูสิริมาชวนให้ทำโน่นทำนี่ ไปเป็นบรรณารักษ์น้อย อันดับผลการเรียนก็ค่อยๆ ขยับจาก 50 มาเป็น 49 พอสอบไฟนอลเทอมแรกของ ป.3 สอบได้ที่ 37 พอสิ้นสุด ป.3 สอบได้ที่ 17 หลังจากนั้น ป.4-5 ก็เริ่มขยับเป็นเลขตัวเดียว
พอมองย้อนกลับไป เราเริ่มเห็นตัวเองว่าทำอะไรได้มากขึ้น มันส่งผลกับเราเยอะมาก ว่ามันเป็นไปได้ อยากจะบอกครูสิริมาว่าครูมีบทบาทระยะยาวกับคนคนหนึ่งมาก (ยิ้ม)
พอมัธยม สอบเข้าบดินทร์เดชาได้ แต่ยังไงก็ไม่รู้ ได้ไปอยู่ห้อง 14 ซึ่งห้อง 1 2 3 เป็นห้องคิง-ควีน แล้วครูจะบอกว่าห้อง 4-14 เป็นห้องคละ แต่เนื่องจากตัวเลขที่มันกำกับ เด็กห้อง 10 ขึ้นไปก็เชื่อแล้วว่าฉันคือบ๊วย 14 คือบ๊วยสุดๆ เลย ซึ่งบรรยากาศในห้องเรียนมันผ่อนคลายมาก แทบไม่มีใครมาสนใจพวกเราเลย ว่าจะทำอะไร จะเล่นอะไร
ตอน ม.4 มีโครงการ Gifted Program ปกติจะให้เด็กห้องคิงห้องควีนสอบ แต่เราอยู่ห้องคละ อยากไปสมัครสอบ รอบแรกไม่ได้ พอไปบอกพ่อว่าอยากเข้า Gifted Program มาก พ่อบอกถ้าอยากก็ลองไปคุยกับอาจารย์ อย่าเพิ่งคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ด้วยการถูกตัดสินแค่ครั้งเดียว เราก็ถาม มันคุยได้ด้วยเหรอ พ่อบอกลองไปคุยก็ไม่เสียหาย เลยขอไปคุยกับอาจารย์ว่าหนูอยากเข้าจริงๆ อยากให้ครูช่วยพิจารณา
สุดท้ายเขาก็เพิ่มโควตาให้อีก 1 คน กลายเป็นว่า ม.5-6 ได้ไปร่วมเรียนภาษาอังกฤษกับเพื่อนห้อง gifted ทำให้เราเพิ่งเห็นว่า โรงเรียนเรามีครูต่างชาติมาสอนแบบ intensive ด้วย เวลามีนักเรียนแลกเปลี่ยนมา เขาก็จะให้เราเป็นกลุ่มแรกที่ดูแล ตอนนั้นไม่ได้มองถึงความ privilege นะ มองแค่ว่า อุ้ย ดีจังเลย ได้เรียนหลักสูตร ม.6 ล่วงหน้า ขณะที่เพื่อนในห้องเดียวกันยังต้องเรียนหลักสูตรปกติอยู่เลย
ด้วยความที่สมัยมัธยมบ้า แฮร์รี พอตเตอร์ มาก พอเข้ามหาวิทยาลัยเลยสอบตรงเข้าโปรแกรมอินเตอร์ British American Studies ของธรรมศาสตร์ เพราะคิดว่าได้เรียนเกี่ยวกับประเทศอังกฤษ ฮอกวอตส์ (หัวเราะ) และเราก็มองว่าอังกฤษ อเมริกา เป็นประเทศมหาอำนาจ สิ่งที่เราสนใจอย่างหนึ่งคืออยากทำให้สังคมดีขึ้น และการที่จะทำสิ่งนั้นได้ เราก็ต้องเรียนรู้จากประเทศที่เจริญ มันเป็นความคิดแบบ naive มาก
พอเข้าเรียนก็ดีใจแค่ช่วงแรกเท่านั้น เพราะเป็นหลักสูตรอินเตอร์ เพื่อนส่วนใหญ่ก็มาจากโรงเรียนอินเตอร์ กลายเป็นว่าการสื่อสารของเราที่มาจากโครงการ gifted แทบไม่เท่ากับเขาเลย presentation ครั้งเแรก เพื่อนเกือบทุกคนไม่เตรียมอะไรมา แต่ improvise กันหมด ขณะที่เราอ่านและท่องล่วงหน้ามา 3 อาทิตย์ ยังพูดได้แข็งทื่อมาก เราเริ่มรู้สึกว่ายากและทำไม่ได้ แต่ข้อดีคือเราได้เรียนในสิ่งที่อยากรู้มาก ทำให้สนุก เราหิวกระหายมาก เลยต้องพยายามมากเป็นพิเศษ แต่ไม่ได้ถึงขั้นเฆี่ยนตีตัวเองว่า ฉันต้องเก่งให้ได้ แต่ด้วยความที่อยากเรียนมากๆ พอจบเลคเชอร์คลาสหนึ่งเราก็ทำเลคเชอร์สรุปของเราเอง จนกลายมาเป็นเลคเชอร์ที่อยู่ในห้องซีร็อกซ์ (ยิ้ม)
ไม่ใช่เพราะว่าอยากได้ที่ 1 เราแค่สนุกกับมัน แล้วก็ต้องขอบคุณประสบการณ์ช่วงนั้นที่เคี่ยวเข็ญเราโดยไม่รู้ตัว จนทำให้เราสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างปกติ โดยที่ไม่รู้สึกว่าติดขัดอะไร ไม่เขินอาย ไม่กลัว
เราอยากขอบคุณ ‘การได้ภาษา’ มากที่สุดในชีวิตการเรียนแล้ว เพราะนึกไม่ออกว่าถ้าไม่มีภาษาอังกฤษ ประตูความคิดทุกอย่างจะจำกัดมากขนาดไหน
มาถึงจุดเปลี่ยนคือ พอเข้าปี 2 สิ่งที่เราอยากเรียนต่อคือ development study แต่เราไม่ได้เรียน ด้วยความเป็นคณะเล็ก อาจารย์น้อย รอให้เปิดสอนก็ไม่เปิด เพราะคนเรียนน้อย เลยไปคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ไบรอัน เคเนดี ถามว่าสนใจย้ายแบบ transfer credit ไหม
เหมือนมีคนมาชี้โพรงให้กระรอก เราก็ไปติดต่อมหา’ลัยเอง เลยได้ไปเรียนปี 3-4 ที่ University of Wisconsin-Superior เรียนเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็น development study สมใจ และพออยู่ในสภาพแวดล้อมและครูอย่างนั้น ในหัวเราคิดอย่างเดียวเลยคือ ต้องทำงานมูลนิธิ หรือไม่ก็ organization องค์กรต่างๆ
พอกลับมาก็ได้ทำจริงๆ เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ชาติพันธุ์ต่างๆ ได้ช่วยเขาเตรียมตัว training สอนภาษาอังกฤษ ให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ก่อนที่จะไปประเทศปลายทาง ทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นอะไรได้มากกว่านี้ เขาเป็นได้มากกว่าแรงงานข้ามชาติ เรายกระดับด้วย interaction (สานสัมพันธ์) ทำให้เขารู้สึกนับถือตัวเอง
ตั้งแต่ประถมจนถึงมหาวิทยาลัย คุณเป็นเด็กที่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมไหม เพราะเห็น Shortcut บางอย่างที่คุณพยายามจะลดความไม่เท่ากัน พยายามทำในสิ่งที่เรียกว่า ลดความต่าง สร้างความเหมือน มาตั้งแต่เด็กๆ
เอาจริงๆ ใช่ มีดีเบทเรื่องหนึ่งที่อิมกับพ่อชอบคุยกันตลอดคือ พ่อจะมีความรักลูกหนักมาก เป็นพ่อที่ชมลูกสาวลูกชายเกินเบอร์ แต่สิ่งที่เรามักโต้แย้งกับเขาคือ เขาจะบอกว่าพี่ชายเก่ง ส่วนอิมก็มีข้อดีอย่างนั้นอย่างนี้ที่ไม่ใช่เชิงวิชาการ แต่พอวิชาการเราเริ่มดีขึ้น เขาก็จะชมว่าเราสองคนเก่ง เราบอกว่าไม่ มันไม่ได้เป็นเพราะอิมฉลาดโดยกำเนิดเลย แต่เพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปต่างหาก
พ่อชอบพากลับไปคลองเตย ไปเยี่ยมบ้านเกิด แล้วจะมีเพื่อน (ลูกเพื่อนพ่อ) ที่เราเคยแฮงเอาท์ด้วย ซึ่งตอนนี้บางคนมีลูกแล้ว บางคนถูกจับเพราะคดียาเสพติด ในหัวนี่แวบขึ้นมาเลยว่า ถ้าเรายังอยู่ตรงนั้น มีความเป็นไปได้สูงมากที่เส้นทางชีวิตเราก็จะเป็นแบบนั้น
เพียงแค่เราถูกดึงออกมาจากตรงนั้น แล้วก็ดันไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เจอครูสิริมา พอย้ายไปอยู่ในห้อง gifted ก็ถูกทำให้เชื่อว่าคุณทำได้ๆ คุณมีความสามารถ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเราเลย มันคือปัจจัยภายนอกมากๆ และส่งผลต่อความเชื่อของเราแบบไม่รู้ตัว
ในทางตรงกันข้าม คำว่า ‘คลองเตย’ กลับมีนัยยะในตัวมันเอง ต่างจากรามอินทรา คันนายาว ที่ไม่มี identities แต่ทำไมพอเราพูดถึงคลองเตยปุ๊บ ทุกคนมีภาพอะไรบางอย่างในหัว สำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น มองตัวเองแบบนั้นตลอดเวลา มันจะส่งผลต่อเขายังไง ภาพจำมันจะรุนแรงกับเขาขนาดไหนกับสิ่งที่ทุกคนบอกว่า นี่คือสิ่งที่คุณเป็น ฉะนั้นไม่รู้ว่าเรามีความพยายามอะไรหรือเปล่าที่จะลดความไม่เท่ากัน แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เชื่อตลอดว่า มันไม่ใช่เพราะเรา แต่เพราะสภาพแวดล้อม
เราถึงคิดมาตลอดว่าการสร้างสภาพแวดล้อมแบบนี้เป็นหน้าที่ของเรา เพราะครั้งหนึ่งเราก็เป็นผู้โชคดีที่ได้รับโอกาสมา เราเชื่อว่า privilege มักมาพร้อมกับหน้าที่เสมอ
หมายความว่าเด็กคนหนึ่งที่โตมาพร้อมกับความแตกต่างเต็มไปหมด อาจไม่สามารถถีบตัวเองได้ แต่ต้องพึ่งโอกาสและสภาพแวดล้อมภายนอก?
คำว่า ‘เท่า’ ก็เป็นคำที่ทำให้เรา mislead (เข้าใจผิด) พอสมควร เพราะจริงๆ ก็ไม่ได้มีสิ่งที่เรียกว่าเท่าได้เลย เราไม่จำเป็นต้องเท่ากับใครเลย เราไม่จำเป็นต้องเหมือนใครเลย แต่ถ้าเราเอาไม้บรรทัดมาวัดว่าเราต้องเท่ากับคนอื่น เราจะขูดรีดตัวเองตลอดเวลา
เจตนาของอิมคือ แค่อยากให้เขารู้ว่า เขาเป็นอะไรได้มากกว่านั้น หนังสือที่อิมแปลให้กับสำนักพิมพ์ Book scape ชื่อ ‘Helping Children Succeed’ พูดถึงประโยค capable of being more เยอะมาก มันยิ่งใหญ่มากนะ เราพูด Growth Mindset เยอะ แต่จะพูดในเชิงคอนเซ็ปต์เสียส่วนใหญ่ คำถามคือการเข้าสู่ Growth Mindset คอนเซ็ปต์มันทำยังไง จริงๆ มันแค่นี้เลย คือการกระตุ้น ฉีกขอบเขตของคนคนหนึ่งว่าทำได้มากกว่านี้
เรารู้สึกว่าคนชอบไปตีกรอบตัวเองว่า นี่คือสิ่งที่ฉันเป็น แล้วก็ใส่ตัวเองไว้ใน box แบบนั้น แต่จริงๆ อาจจะไม่มี box อะไรเลยก็ได้ ทุกอย่างมัน endless ถ้าจะกลับมาเรื่องการเรียนรู้ การศึกษา มีคำหนึ่งของเยอรมันที่พูดถึงนัยยะการศึกษาไว้ดีมากคือ bildung ซึ่งคำนี้เป็น synonyms ของ learning กับ education ในภาษาเยอรมัน แต่รากศัพท์ของคำนี้มันโคตรสะท้อนถึงสิ่งที่คนเยอรมันมองคำว่าการศึกษาหรือการเรียนรู้
ในรากของคำว่า bildung มันเป็น creation of self คือการก่อร่างสร้างตัวของคนหนึ่งคน ฉะนั้นนัยยะของคำนี้เมื่อบอกว่าการศึกษาหรือการเรียนรู้สร้างตัวตนของคนคนหนึ่งขึ้นมา และจะไปได้เรื่อยๆ เป็น process ที่ไม่มีทางสิ้นสุด ตรงข้ามกับนัยยะการศึกษาที่เราคุ้นชินในปัจจุบันที่มีไทม์ไลน์ชัดเจน มีเป้าหมาย มีตัวชี้วัด ต่อให้เราได้ไปถึงตัวชี้วัดอันนั้น มันก็มีเส้นสุดของมัน
ทำไมสนใจทุน Erasmus Mundus
Erasmus เป็นชื่อที่ได้ยินมาตลอดอยู่แล้ว เป็นทุนที่ความพิเศษ คือไม่ได้อยู่ที่แคมปัสใดแคมปัสหนึ่ง ฉะนั้นการได้เดินทางไปหลายๆ ที่สำหรับเด็กคนหนึ่งจึงเป็นความน่าหลงใหลด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว
Erasmus เป็นทุนเต็ม ครอบคลุมค่าใช้จ่าย ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ทุกอย่าง เหมือนจ้างให้คนคนหนึ่งไปเรียน ยิ่งพอตอนสัมภาษณ์ รู้เลยว่าเป็นทุนที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของคนที่เข้าไปอยู่มาก เขาไม่ได้คัดหัวกะทิหรือคัดจากความเก่ง แค่ต้องการความหลากหลายของคนให้มากที่สุด แล้วคุณไม่ต้องไปคิดด้วยนะว่าเขาพยายามแสวงหาความหลากหลายแบบไหน คุณก็เป็นของคุณไปอย่างนั้นแหละ ถ้าคุณใช่ คุณก็ไปอยู่ในพื้นที่นั้นเอง
ถามว่าเขาต้องการความหลากหลายยังไง ภูมิหลังทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย ภูมิหลังทางสังคมที่หลากหลาย มันส่งผลมากๆ กับบรรยากาศการเรียนแบบ discussion แล้วเรารู้สึกว่ามันแฟร์มาก พอยิ่งไปอยู่ในห้องเรียนจริงๆ มีเพื่อนมาจากเปรู มาจากอินเดียที่ไม่ใช่ชนชั้นอีลิทในประเทศ แล้วเป็นคนที่ contribute ให้คลาสเยอะมาก เพราะว่าเขามาอีก mindset หนึ่ง ซึ่งต่างจากเพื่อนอังกฤษที่ academic สุดๆ เวลาเกิด crash กันของความหลากหลายในห้องมันระเบิดสมองมาก ถ้าทุกคนมาจากแบ็คกราวด์เดียวกัน เห็นโลกเดียวกัน ไม่มีทางที่คุณจะได้ discussion แบบนี้เลย เราเลยรู้สึกว่าทุนนี้พยายามปิด gap ในเรื่องนี้จริงๆ
ถึงแม้ทุนนี้จะเน้นเรื่องความหลากหลาย เน้นให้คนทุกระดับมาเจอกัน แต่เอาเฉพาะบริบทสังคมไทย การจะเดินไปถึงทุนแบบนี้มันยากมาก อย่างน้อยก็ต้องผ่านความ Privilege บางอย่าง เช่น ภาษา หรือคะแนน TOEFL IELTS
จริง สุดท้ายเราก็ยังติดหล่มความ english speaking world โลกที่ภาษาอังกฤษมันมี privilege มีอำนาจบางอย่างของมันอยู่ดี เอาแค่ในคลาส การคุยกันเป็นภาษาอังกฤษก็ตีกรอบความคิดให้ต้องไปอยู่ในโลกของตะวันตกแล้ว
เพื่อนคนอื่นๆ อย่างเช่นอินเดีย พื้นฐานภาษาอังกฤษเขาได้อยู่แล้ว แต่สำหรับเรา บอกเลยว่าต่อให้เราจะมาจากชนชั้นกลาง แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถขยับมาหา basic requirement เพื่อที่จะสอบทุนนี้ด้วยซ้ำ เพราะต่อให้เป็นทุนก็ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งตัวชี้วัดของการพูดภาษาอังกฤษได้ส่วนใหญ่ก็ต้องกลับไปที่การสอบ TOEFL IELTS ซึ่งดูราคาสอบตอนนี้ไม่รู้ว่ากระโดดไปเท่าไหร่ รุ่นอิมประมาณ 8,500 หรือ 10,000 แล้วถ้าเราสอบไม่ผ่าน เราก็ต้องสอบวนไปอีกนะ
อิมเคยไปเจอเพื่อนคนหนึ่ง บอกจะมากรุงเทพฯ มาสอบ IELTS เขาต้องเดินทางจากต่างจังหวัดเพื่อมาสอบ IELTS ในกรุงเทพฯ แล้วก็ต้องหาที่พัก กรุงเทพฯ มีความ privilege เหนือกว่าจังหวัดอื่น
ถ้าเป็นแต่ก่อนอาจจะดุตัวเองมากกว่านี้ ไม่กล้ารับ privilege เหมือนกับเราเห็นโครงสร้างที่มันโคตรไม่แฟร์ ไม่แฟร์กับใครเลย แล้วเราสมควรแล้วหรือที่จะได้รับสิ่งนี้ คำถามคือถ้าคุณปิดโอกาสแบบนั้น แล้วมันช่วยให้อย่างอื่นดีขึ้นไหม คำถามต่อไปคือแล้วจะใช้ privilege ที่เรามีเพื่อขยาย privilege แบบนี้ให้มีต่อไปอย่างไร มันจึงเป็นโจทย์ตั้งต้นตั้งแต่แรกว่า ฉันต้องพูดถึงทุนนี้ให้ได้
เรามีหน้าที่ให้ข้อมูล เหมือนแก้ไปทีละเปลาะ แต่หลายคนติดอยู่ที่ mindset ว่า “แต่หนูจะได้เหรอพี่” “แต่หนูมาจากที่นี่นะ” “แต่หนูไม่ได้เรียนเก่งนะ” คำพวกนี้มีอยู่เต็มไปหมดเลย ไม่ต่างจากตัวเราตอน ป.2 อยู่ลำดับที่ 54 เลยนะ
mindset พวกนี้ฝังรากมาก มันไม่ได้มาจากเด็ก แต่มาจากทุกคนที่พูดคำนี้กับเขา ย้ำตลอดเวลาว่าต่างจังหวัดต่างจากกรุงเทพฯ
อย่างโรงเรียนที่มีคำว่า ‘วัด’ นำหน้า ทำไมมันชอบมีนัยยะอะไรบางอย่างซึ่งไม่ได้ส่งผลกับโรงเรียนเลย แต่มันส่งผลกระทบกับเด็กที่อยู่ในนั้น และผลจากการฝังลึกมากมันทำให้คนคนหนึ่งตัดสินใจที่จะทำหรือไม่ทำอะไร คุณไม่ต้องไปพูดว่าเด็กไม่ขวนขวาย เด็กไม่ขยันหรือไม่กล้า ก็สังคมตะโกนบอกเขาปาวๆ ว่านี่คือสิ่งที่เขาเป็น
การเขียนหนังสือของคุณเรื่องทุน Erasmus คุณต้องการเขียนเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงความคิดใช่ไหม
ลึกที่สุดก็หวังว่าจะทำอย่างนั้นได้ แต่พอพูดอย่างนี้มันดูทะเยอทะยานมากเลยนะว่าหนังสือเล่มหนึ่งจะทำอย่างนั้นได้ แต่เอาจริงๆ เราโยนความทะเยอทะยานเชิงมหภาคอย่างนั้นไปแล้ว เรามองแค่ว่าถ้ามีแค่สักคนอ่านแล้วรู้สึกว่ามันเป็นไปได้ แล้วคุณทำได้ ถ้าหนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่นี้ได้ เรา complete แล้วนะ
ถามว่าสุดท้ายเราก็มีความหวังว่ามันคงจะกระจายอะไรได้บ้าง ทำให้เขาเห็นถึงความเป็นไปได้ นั่นคือพื้นฐานเลย แล้วก็ให้รู้ว่ามันมีอยู่และมันโคตรจับต้องได้ แล้วไม่ใช่แค่ทุนนี้เท่านั้น มันมีอีกเยอะ ถ้าคุณฉีกตัวเองออก you can be more มันมีอยู่ มันมีประตูบานนี้อยู่ อย่าเพิ่งปิดตัวเอง
ในชีวิตจริงคนเรายังถูกตีกรอบด้วยอุปสรรคหลายอย่าง ถึงแม้จะทำใจให้ตัวเองมี Growth Mindset ก็เถอะ แต่เรายังอยู่ภายใต้โครงสร้างที่มีแสงสว่างน้อยมาก
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสิ้นหวัง เด็กยุคนี้ แค่หางานได้ก็โคตรเป็นความโชคดีของชีวิตแล้ว เราอยู่ในกาลเวลาที่มันไม่ง่ายจริงๆ แต่มันมีสิ่งหนึ่งที่อิมเชื่อตลอดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ท่าทีของเราในการ react กับสิ่งนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
คำถามคือถ้ามันมีสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว เราจะเลือกแบบไหน เราจะเลือกซ้ายเลือกขวา หรือจะยอมจำนนกับมัน ก่นด่าว่าทำไมโชคร้ายจังวะเกิดมาในยุคนี้ หรือ เอาวะ เปลี่ยนอะไรไม่ได้ก็ต้องทำอะ เอาให้ถึงที่สุด
ไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษานะ แต่ไม่ว่าเรื่องใดๆ ก็ตามในชีวิต มันเกิดขึ้นแล้ว คุณจะเลือกอะไร คนมักจะชอบบอกว่าไม่มีทางเลือก แต่ reaction ของเราคือทางเลือกเสมอ ตอนนี้แม้กระทั่งการมองโลกในแง่ดี ก็ง่ายต่อการถูกแขวะ แต่ถามว่ามันมีมุมอื่นให้เรามองอีกไหม
ถ้าสมมุติมันเกิดเหตุการณ์ เราสิ้นหวังสุดๆ แล้วถ้าต้องเลือกมองแง่ดีกับแง่ร้ายจะเลือกอะไร แง่ดีนั้่นให้เราหาทางไปต่อ กลับมาเป็นผู้แอคทีฟอีกครั้ง take action กับมันให้ถึงที่สุด ต่อให้การได้ทุนมันยาก มันมีคนที่ได้มากกว่าเยอะมาก คำถามคือแล้วคุณก็จะ give up หรือคุณจะแบบ…เอาวะ เอาให้สุดไปเลย
ทำไมถึงทำ Thesis เรื่อง ‘Lifelong Learning การเรียนรู้ตลอดชีวิต’
ตอนที่ไปเรียนทุน Erasmus หลักสูตรคือ Education Policy for Global Development แล้วเวลาพูดเรื่องการศึกษา คนก็จะชอบนึกแต่ภาพในโรงเรียน
ด้วยความที่เป็นสายเวิร์คช็อป ชอบไปเข้าร่วมโครงการนั่นนู่นนี่ตลอดเวลา เรารู้สึกว่ามัน learn มันเติบโตขึ้นตลอดเวลา แล้วเรารักความเป็น learning space ไม่ว่าจะในที่ทำงานหรือที่อื่นๆ
เพื่อนประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ในคลาสก็เลือกสาย education ในเชิงระบบ แต่เราก็คุยกับอาจารย์ว่าเราไม่ได้เห็นเส้นทางอาชีพของเราในการเป็นครูหรือนักนโยบายการศึกษา เรายัง frame สิ่งที่มันอยู่ในหัวไม่ได้ โชคดีที่อาจารย์ที่ปรึกษาพูดว่า มันมีคอนเซ็ปต์เรื่อง lifelong learning อยู่ แล้วเราก็แบบ…โอ้โห ซึ่งคอนเซ็ปต์นี้ส่วนใหญ่จะผูกมากับ adult education ก็คือ informal education หรือการศึกษาผู้ใหญ่ การศึกษานอกระบบต่างๆ นานา เราสนใจ และรู้สึกว่ามันตอบโจทย์กับอาชีพที่เรามองในระยะยาวว่า ไม่ว่าสุดท้ายเราจะ end up ในสายอาชีพแบบไหน เราจะอยู่กับมันไปได้ตลอด
คำว่า Lifelong Learning ถูกนำมาใช้เยอะและเชิงบวก ถูกแซะว่าโลกสวยอีกต่างหาก แต่อยากชวนคุยต่อว่า เอาเข้าจริง Lifelong Learning มันทำได้จริงไหม ถ้าจะเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เด็กเลย
จริงๆ เรื่องนี้ตอนที่ทำธีสิสเรื่องแรกที่เขียน อาจารย์ที่ปรึกษาคอมเมนต์ตั้งแต่เรื่องแรกเลยว่า คุณมองมันในแง่ดีเกินไป เราก็…อ้าว แล้วมันไม่ดีเหรอ (หัวเราะ) แล้วอาจารย์เคี่ยวเข็ญจนเราเลือกไปทำธีสิสที่ประเทศเป็นสิงคโปร์ โชคดีมากเพราะมันทำให้เราได้เห็นความจริงบางอย่าง
สิ่งที่ค้นพบคือ lifelong learning ในสิงคโปร์มันผูกกับความเป็นทุนนิยมสูงมาก หนักมาก โปรแกรมที่เราเข้าไปผูกกับตัวธีสิสคือ skill future ซึ่งมันเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ
รัฐบาลให้เครดิตให้กับประชาชนสิงคโปร์ ที่สมมุติเรามี 5,000 เครดิต เอาเครดิตนี้ไปเรียนหลักสูตรใดก็ได้ ฟรี วินๆ มาก แต่สิ่งที่มาค้นพบหลังจากทำ analysis คือ ทุกเนื้อหาหลักสูตรที่เขาเปิดให้เรียน ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับ skill ที่รัฐบาลเลือก เป็นอาชีพที่รัฐบาลเลือกแล้วว่านี่คือสิ่งที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ
มันมาจากบทสนทนาครั้งหนึ่ง ไปกินข้าวกับเพื่อนแล้วเราก็พูดถึงธีสิส ว่าประเทศยูโชคดีมาก เพื่อนหันมาบอกว่ารัฐบาลประเทศนี้บังคับทุกเรื่องแหละ บังคับแม้กระทั่งว่าควรจะต้องเรียนอะไร ถ้าฉันอยากจะเรียน art แบบ pure art เรียนได้ไหม หรือ sociology แบบเราได้หรือเปล่า คำตอบคือไม่มีเลย นี่คือเรื่องจริง ต่อให้มันถูกทำให้เป็นคำที่ดีหลายครั้ง เราก็จะตกหลุมพรางว่า นี่คือสิ่งที่ดี โดยที่เราไม่ได้ระมัดระวังมากพอที่จะเห็นว่ามันมี agenda อะไรซ่อนอยู่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ value ของผู้ปกครองประเทศมากจริงๆ
แล้ว Lifelong Learning แบบไทยๆ ควรจะเป็นยังไง
ถ้าจะให้ดีที่สุดอิมเชื่อในการแก้ pain point มันมี common pain point ร่วมกันของสังคมเราอยู่คือเราไม่ค่อยให้อิสระตัวเองมากเท่าไหร่ เพราะมีอะไรบางอย่างที่ครอบเราไว้ในความถูกต้อง ศีลธรรม เรามีกรอบมีกล่องเยอะมาก แม้กระทั่งในฐานะคนที่รักการเรียนรู้หลายครั้งเราก็ติดกับดักว่า นี่คือสิ่งที่ฉันควรจะเรียน นี่คือสิ่งที่ฉันควรจะรู้ นี่คือสิ่งที่ฉันควรจะเป็น
โดยส่วนตัวเราอยากให้มัน lifelong learning ที่โคตรจะขึ้นกับ free view (มุมมองอิสระ) ของบุคคลนั้นจริงๆ อะไรก็ได้ อยากรู้ต้องได้รู้ อยากลองต้องได้ลอง ไม่ต้องมี agenda ของใครเลย กลับมาสู่คำนั้นของภาษาเยอรมันที่รักมากจริงๆ คือ creation of self ค่อยๆ สร้างตัวเองจากสิ่งใดๆ ก็ตามที่เราสนใจ ซึ่งอันนี้เป็นธรรมชาติมนุษย์ขั้นพื้นฐานมากที่เราเติบโตมาด้วยเซนส์ของความอยากรู้อยากเห็นแต่ไหนแต่ไร แต่พอเรายิ่งโต เราชอบมีเสียงที่ปิดความอยากรู้ของเราไปโดยปริยาย เป็นไปได้ไหมถ้าเราจะไม่ปิดเสียงนั้น
“เราควรจะเชื่อว่าเราเป็นได้มากกว่านี้” ความคิดตั้งต้นแบบนี้มันลดความเหลื่อมล้ำได้ไหม
ถ้าให้ตอบแบบจริงๆ นะ ‘ไม่ได้’ เพราะว่าปัญหามันซับซ้อนมาก แล้วมันเชื่อมโยงเกี่ยวข้องในทุกมิติทุกระดับด้วย ทั้งส่วนตัว ครอบครัว สังคม ที่ทำงาน โครงสร้าง การปกครอง ฉะนั้นอิมไม่เชื่อเลยว่ามันมีคำตอบเดียวในการแก้ไขปัญหา แต่ถามว่ามันสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะกะเทาะตัวเองออกมาได้ไหม เพราะความเหลื่อมล้ำมันเป็นสิ่งที่ภายนอกกระทำกับเรา
กลับไปสู่ความเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือเรื่องหนึ่ง ส่วน reaction ของเรากับมันคืออีกเรื่องหนึ่ง ถ้าความเหลื่อมล้ำมันกระทำกับเราแล้ว แต่เรายังไปกระทำตัวเองชั้นที่ 2 ด้วยการคิดว่าฉันอยู่ในกับดักของความเหลื่อมล้ำ แล้วฉันไม่มีทางออกจากสิ่งนี้ ถ้าให้พูดแบบถึงที่สุดนะ เรากำลังอยู่ในบทบาทของผู้ถูกกระทำ แล้วผู้ถูกกระทำขังตัวเองอยู่ในนั้นต่อไป
ตรงกันข้าม ถ้าเลือกเป็น active player ในทุกอย่าง อยากรู้ก็ต้องแอคทีฟ อยากเรียนก็ต้องแอคทีฟ อยากเป็นได้มากกว่านี้ก็ต้องแอคทีฟ ซึ่งพวกนี้มันคือ reaction ที่จะ take action ไม่ว่าสิ่งที่กระทำต่อเราคืออะไรก็ตาม
หลายครั้งคนจะชอบมองว่า มองโลกในแง่ดีไป แล้วยังไงเหรอ คำถามคือมันเหลือหนทางไหนให้เรามอง แล้วถ้าสิ่งนี้มันกระทำกับเราแล้ว คุณมีทางเลือกแค่ inaction กับ full action แล้ว inaction ไม่ช่วยอะไรเลย ไม่ช่วยแล้วอาจจะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นด้วย สิ่งเดียวที่ทำได้คือ the only action ตั้งแต่การเชื่อว่าเราเป็นได้มากกว่านี้ ไม่ว่าใครจะบอกว่าเรามี identity อะไรติดตัวมา ตะโกนบอกตัวเองให้ได้ว่า ไม่เชื่อ ไม่ใช่ แล้วลองให้มันมากกว่านี้ อันนี้เป็นสิ่งที่โคตรเชื่อมาตลอดเลย
ติดตามเสวนาออนไลน์ผ่านทาง fb live Equity Talk #6 ‘เมื่อโรงเรียนปิด ประตูการเรียนรู้จะเปิดได้อย่างไร’ โดย สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) | กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กับ คุณพชร สูงเด่น รองบรรณาธิการผู้หมกมุ่นกับการอ่าน เขียน เรียนรู้ตลอดชีวิต คุณบอล – ทายาท เดชเสถียร และ คุณยอด – พิศาล แสงจันทร์ พิธีกรรายการหนังพาไป คุณกรทอง วิริยะเศวตกุล ผู้ร่วมก่อตั้งแฟนเพจ SpaceTH.co
รับชมและแลกเปลี่ยนความเห็นได้ผ่านแฟนเพจ Equity Lab แล็บฯ เสมอภาค https://www.facebook.com/watch/equitylabeef/