เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป รูปแบบการเรียนการสอนก็ถูกปรับปรุงและพัฒนาตามกาลเวลาและประสบการณ์ แต่ถึงอย่างนั้นหลายโรงเรียนทั่วโลกรวมถึงไทยเองกลับยังมีรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งฟังคุณครูบรรยายโดยที่เด็กไม่สามารถแสดงความเห็นหรือกล้าปริปากเอ่ยถามได้ การอ่านและจำผ่านการท่องที่ไม่ส่งเสริมให้เด็กเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการกดทับความคิดของเด็ก ทั้งยังไม่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของพวกเขาให้นำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตในอนาคตได้อย่างแท้จริง
เอ็ดเวิร์ด ฮาร์คเนส (Edward Harkness) ผู้ที่มีความเชื่อและความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาและเทคนิคการสอนให้สร้างสรรค์ โดยเป็นไปในรูปแบบใหม่ที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดการคิดวิเคราะห์ กล้าพูด กล้าคุย กล้าถกเถียง และพร้อมรับฟังเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เขาจึงบริจาคโต๊ะเรียนทรงวงรีให้กับโรงเรียนฟิลลิปส์ เอ็กซีเตอร์ อะคาเดมี (Phillips Exeter Academy) โรงเรียนประจำชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา ในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ เพื่อให้โรงเรียนนำโต๊ะรูปวงรีนี้ไปใช้ประกอบการเรียนการสอนที่พร้อมให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึง โดยมีครูคอยนั่งฟังให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดเมื่อพวกเขาเกิดปัญหา
รูปแบบการเรียนการสอนนี้ถูกเรียกว่า ‘ฮาร์คเนส’ (Harkness) ที่ถูกพัฒนาและนำมาปรับใช้กับเด็กๆ ในโรงเรียนฟิลลิปส์ เอ็กซีเตอร์ อะคาเดมี มายาวนานเกือบ 100 ปี
ถกเถียง รับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดผ่านโต๊ะเรียนรูปวงรี
“…ไม่ใช่ห้องบรรยายแบบเป็นทางการที่มีโต๊ะเรียน แล้วก็มีแท่นที่มีผู้สอนยืนสอนอยู่ข้างหลัง แต่เป็นห้องเรียนที่มีเด็ก 8 คน นั่งล้อมโต๊ะกับครูผู้ที่สามารถพูดคุยกันได้ผ่านวิธีการสอนหรือวิธีการแบบประชุม โดยไม่ว่าเด็กจะมีค่าเฉลี่ยต่ำหรือสูงก็จะได้รับการสนับสนุนให้พูด และลองทำในสิ่งที่ยากสำหรับเขา เพื่อที่ครูจะได้รู้และตระหนักถึงสิ่งนั้น ดังนั้นนี่จึงจะเป็นการปฏิวัติวิธีการเรียนที่แท้จริง” เอ็ดเวิร์ด ฮาร์คเนส กล่าว
โต๊ะเรียนรูปวงรีที่วางอยู่กลางห้อง พร้อมนักเรียนจำนวน 8-12 คน ถือได้ว่าเป็นหนึ่งจุดเด่นของการเรียนการสอนแบบฮาร์คเนส ด้วยการเรียนการสอนที่นักเรียนและคุณครูนั่งรอบโต๊ะรูปวงรีด้วยกัน ประกอบกับจำนวนเด็กที่ไม่มากนัก จะช่วยทำให้เด็กรู้สึกสบายใจและกล้าถามเมื่อเกิดข้อสงสัย
การเรียนการสอนแบบฮาร์คเนส จะเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (student-centered) และมีความแตกต่างจากการเรียนการสอนรูปแบบอื่น ตรงที่ครูหรือผู้สอนจะไม่ยืนอยู่หน้าห้องเพื่อวางสถานะเป็นผู้สอนเพียงเท่านั้น แต่คุณครูจะเข้ามามีส่วนร่วมในวงสนทนาอย่างเงียบๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ผ่านการพูดคุยผ่านบทเรียน ถกเถียงและโต้แย้งกันอย่างมีเหตุมีผล โดยมีครูคอยให้คำปรึกษาอยู่ข้างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างการคิดวิเคราะห์และการคิดอย่างมีเหตุมีผล
ด้วยความใกล้ชิดของครูและเด็กที่มากกว่าการเรียนรูปแบบเก่า ทำให้เด็กที่ไม่กล้าหรือเขินอาย ได้รับการสนับสนุนจากครูที่นั่งอยู่ข้างๆ เพื่อเรียนรู้วิธีการสื่อสารได้มากขึ้น และคอยดึงศักยภาพของเด็กคนนั้นๆ ออกมา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาต่อไปในอนาคต
เพื่อให้เห็นภาพวิธีการเรียนรู้แบบฮาร์คเนสมากขึ้น เราจึงขอหยิบยกตัวอย่างการเรียนการสอนวิชาภาษาฝรั่งเศส ของโรงเรียนฟิลลิปส์ เอ็กซีเตอร์ อะคาเดมี มาประกอบการอธิบาย … การเรียนแบบฮาร์คเนสจะเน้นให้เด็กได้ลงมือทำเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้นในวิชาภาษาฝรั่งเศส เด็กจะเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการอ่านหนังสือ และเล่าเรื่องจากหนังสือที่ได้อ่าน ซึ่งนั่นหมายความว่า เด็กก็จะเรียนรู้โครงสร้างหรือรูปประโยคและคำศัพท์ต่างๆ ผ่านเนื้อรื่องด้วยตัวเอง
หลังจากนั้นครูจะให้การบ้านที่เป็นงานกลุ่มบ้างหรือเป็นคู่บ้าง เมื่อเด็กอ่านหนังสือที่ได้รับจนจบ ขั้นตอนต่อไปคือการให้เด็กเล่าเรื่องที่ตนเองอ่านว่าเข้าใจแบบไหนอย่างไรให้เพื่อนๆ ฟัง พร้อมทั้งตอบคำถามที่คิดว่าถูกต้องบนกระดาน โดยจะมีเพื่อนๆ กลุ่มอื่นมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหรือแก้ไขคำตอบของกันและกัน หากผิดถูกเช่นไรพวกเขาก็จะอธิบายและชี้แจงในเหตุผลของคำตอบนั้นๆ ด้วยตนเอง
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า นี่เป็นการช่วยปลูกฝังประสบการณ์และทักษะให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์ หรือคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ผ่านการให้เหตุผลและหาข้อเท็จจริงมาโต้แย้ง ถกเถียง และรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้และการพัฒนาตัวเองที่สามารถใช้ในการดำเนินชีวิตได้
พัฒนาผู้เรียนพร้อมพัฒนาผู้สอน
ครูถือเป็นบุคคลสำคัญยิ่งของการเรียนการสอนในทุกรูปแบบ แม้ว่าเบื้องหน้าคุณครูในรูปแบบการเรียนการสอนแบบฮาร์คเนส จะดูไม่มีบทบาทมากนักภายในห้องเรียน ทว่าเบื้องหลังของการเรียน คุณครูถือเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมาก
กล่าวคือ ผู้สอนแบบฮาร์คเนส จะต้องเป็นผู้กำหนดประเด็นการเรียนการสอนในแต่ละครั้ง และต้องคอยคุมประเด็นให้บทสนทนาของเด็กเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
เอฟเวอลีน คริสตอฟ (Evelyn Christoph) หนึ่งในคุณครูของโรงเรียนฟิลลิปส์ เอ็กซีเตอร์ อะคาเดมี กล่าวว่า การเป็นผู้สอนในรูปแบบนี้จะต้องกระตือรือร้น เพราะหากเด็กหรือนักเรียนพูดคุยกันจนบทสนทนาหลุดออกนอกประเด็น ผู้สอนต้องมีหน้าที่คอยดึงพวกเขากลับมา และหากนักเรียนมีปัญหาหรือหาทางออกกันไม่ได้ ผู้สอนจะต้องคอยให้คำปรึกษา คำแนะนำที่ชัดเจน กระชับ และเป็นผลแก่ผู้เรียนอย่างถึงที่สุด
เธอบอกอีกว่า การเรียนการสอนรูปแบบนี้ยังเปิดโอกาสให้คุณครูได้มีอิสระในการกำหนดรูปแบบการสอนของตนเอง เช่น การเลือกเนื้อหาที่จะสามารถสนับสนุนให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วมและพูดคุยกันได้มากที่สุด ดังนั้นนี่จึงถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับเธอ เพราะการเป็นครูก็ควรมีความรู้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรับมือและแก้ไขเมื่อเด็กเกิดคำถามขึ้นมา นั่นจึงทำให้เธอต้องคอยหาความรู้ใหม่ๆ และกระตุ้นตนเองให้คิดค้นรูปแบบการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์
การพัฒนาตนเองอยู่เสมอเช่นนี้ ทำให้ครูได้เรียนรู้ไปกับเด็ก จุดประสงค์ของการเรียนรู้แบบฮาร์คเนสจึงทำให้ผู้เรียนและผู้สอนได้แสดงจุดร่วมและเป้าหมายของการเรียนไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่เป็นเพียงการเรียนการสอนที่ถูกกำหนดมาอย่างตายตัวเฉกเช่นการเรียนด้วยการท่องจำ โดยที่เด็กๆ ไม่มีโอกาสได้แสดงทัศนะของตัวเอง