ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์สำคัญสองประการ คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมผู้สูงอายุ และสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทั้งในทางเศรษฐกิจและด้านสังคม ซึ่งจะเป็นสิ่งที่คอยฉุดรั้งไม่ให้ประเทศไทย สามารถก้าวไปสู่ความเป็นประเทศรายได้สูงได้ ทางออกด้านหนึ่งจากปัญหาและอุปสรรคนี้คือ การทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เพื่อทำให้คนไทยเป็นกำลังทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพและผลิตภาพ การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจของบุคคล ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม นับเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสำหรับการปลดล็อคปัญหาดังกล่าว ภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างมีแผนยุทธศาสตร์เพื่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
สำหรับสถานการณ์ในด้านอัตราการเกิดและระดับฐานะทางเศรษฐกิจในประเทศไทยมีอัตราการเกิดของประชากร ต่ำกว่า 1.5 ต่อผู้หญิงหนึ่งคน ด้วยอัตราการเกิดที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่เหมาะสมในระดับนานาชาติถึงเกือบร้อยละ 301 เช่นนี้ สัดส่วนประชากรวัยแรงงานของไทยจึงอยู่ในแนวโน้มที่ลดลงทุกปี ตรงกันข้ามกับสถานการณ์เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2520-2540 ที่สัดส่วนประชากรวัยแรงงานไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และได้รับการศึกษาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 3-5 ต่อปี อย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปี จนทั่วโลก เคยกล่าวขานว่าประเทศไทยจะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 แห่งเอเชีย แต่โดยสถานการณ์ของโครงสร้างประชากรในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ และยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้