กระแสฮือฮาจากซีรีส์ชื่อดังบน Netflix อย่างเรื่อง เกมกระดานแห่งชีวิต (The Queen’s Gambit) ที่เริ่มฉายตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ปลุกกระแสความตื่นตัวของเกมกระดานที่อยู่คู่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่นับว่าน่าเสียดายที่เทรนด์การเล่นหมากรุกยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเพียงพอสมกับประสิทธิภาพที่มันสามารถมอบให้ได้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกสมอง การสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์ ไปจนถึงการแก้ปัญหาเรื่องการกีดกันเด็กบางกลุ่มออกจากกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้โดยมองข้ามความถนัดของนักเรียน
หมากรุกถูกคิดค้นขึ้นเมื่อราว 1,500 ปีมาแล้วในประเทศอินเดีย เพื่อใช้สำหรับอบรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนเชื้อสายชนชั้นนำ ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังหลายภูมิภาคทั่วโลก และได้รับการยอมรับว่าสามารถพัฒนากระบวนการทางสมองได้อย่างแท้จริง ทำให้บางประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาถึงกับนำหมากรุกมาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการให้การศึกษาสำหรับเด็ก
ตัวอย่างสำคัญคือ องค์กร ‘Chess In Schools’ ในกรุงนิวยอร์คที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 ได้เข้าไปจัดการเรียนการสอนหมากรุกในโรงเรียนของภาครัฐ โดยเฉพาะโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 48 โรงเรียน ในกรุงนิวยอร์คเป็นประจำทุกปี และในปี ค.ศ. 2020-2021 มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 6,000 คน
โครงการนี้เป็นการนำกระบวนการเรียนรู้แนวใหม่ (new approach to learning) ไปพัฒนาศักยภาพเด็กให้สามารถเรียนต่อจนจบระดับชั้นมัธยมปลาย สร้างกระบวนการคิดคำนวณสำหรับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และเพิ่มโอกาสให้เด็กหลุดจากวังวนของความยากจนได้
การนำหมากรุกมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการศึกษานั้น มีงานศึกษาถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหมากรุกออกมาแล้วอย่างมากมาย หนึ่งในนั้นคืองานเขียนของ โมห์มัด อิบราฮิม (Mohmad Ibrahim, 2014) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร BEST: I, JHAMS (BEST: International Journal of Humanities, Arts, Medicine and Sciences) ในหัวข้อ ‘BENEFITS OF PLAYING CHESS AND ITS APPLICATIONS IN EDUCATION’ โดยระบุว่า หมากรุกสามารถพัฒนาทักษะการเพ่งความสนใจ การคิดอย่างมีวิสัยทัศน์ ทักษะการคิดล่วงหน้า การเลือกอย่างมีเหตุมีผล การประยุกต์และปรับตัวไปกับบริบท ไปจนถึงความสามารถด้านการวางแผนของเด็ก ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาด้านการเรียนรู้ของเด็กในชั้นเรียนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
สอดคล้องกับผลการศึกษาของ ดอกเตอร์คาลวิน เอฟ. เดเยอร์มอนด์ (Dr.Calvin F. Deyermond) อาจารย์ประจำโรงเรียน North Tonawanda City School District ที่ระบุว่า หมากรุกสามารถพัฒนาทักษะของนักเรียนได้หลากหลายทักษะ โดยไม่จำกัดช่วงอายุใดๆ ของนักเรียน งานศึกษายังพบด้วยว่า นักเรียนที่ประสบปัญหาด้านการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์หรือทักษะด้านการอ่าน สามารถมีพัฒนาการในวิชาดังกล่าวดีขึ้นหลังจากได้เรียนรู้การเล่นหมากรุก
นอกจากนี้แล้วในงานเขียนของโมห์มัดชิ้นข้างต้น ยังได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของหมากรุกและกระบวนการศึกษาที่น่าสนใจเอาไว้ด้วย กล่าวคือ
หมากรุกเป็นมิตรกับคนทุกคน สามารถก้าวข้ามกำแพงใดๆ ก็ตามที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเรียนรู้ เนื่องจากสามารถเรียนรู้วิธีการเล่นได้ทั้งผู้ชายหรือผู้หญิง ทั้งนักเรียนที่มีความสามารถโดดเด่นหรือนักเรียนที่มีความสามารถในระดับมาตรฐาน นักเรียนที่มีความสามารถด้านกีฬาหรือนักเรียนที่อยู่ในด้านตรงข้าม และยังเป็นแรงขับเคลื่อนเชิงบวกให้แก่พัฒนาการของผู้เรียนอย่างไม่จำกัดช่วงอายุ ทำให้หมากรุกเป็นหนึ่งในนวัตกรรมด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่งเช่นกัน
เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากอินเดียและสหรัฐอเมริกามาสู่ประเทศไทยกันบ้าง ข้อมูลจากเว็บไซต์ระบบการบริหารจัดการคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา (saronline.bangkok.go.th) ของสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ ‘การปฏิบัติที่เป็นเลิศ’ (Best Practices) มีโครงการของแต่ละโรงเรียนในกรุงเทพฯ จำนวนถึง 479 โครงการ แต่กลับมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับหมากรุกและหมากกระดานต่างๆ เพียงแค่ 8 โครงการเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นการเล็งเห็นศักยภาพของหมากรุกที่มีต่อกระบวนการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ตัวอย่างหนึ่งจากรายงานโครงการ ‘กีฬาหมากกระดาน’ ของโรงเรียนรางราชพฤกษ์นุชมีอุทิศ พบว่า การนำหมากรุกมาใช้นั้นสามารถช่วยให้นักเรียนมีความสามารถในการจดจำสิ่งที่เรียนรู้จากผู้สอน มีความสามารถในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ไปจนถึงมีผลการทดสอบคะแนน O-NET ที่ดีขึ้น
หากมีการนำหมากรุกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการจัดการเรียนการสอน จะสามารถพัฒนาทักษะของนักเรียนในหลายระดับชั้นได้อย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงยังสามารถทำลายกรอบกำแพงที่ปิดกั้นความสามารถในการเข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนหลายประการ เช่น ความถนัดส่วนตัวในแต่ละวิชา ความสามารถด้านกีฬา ไปจนถึงความแตกต่างระหว่างอายุและเพศของนักเรียน
เกมหมากรุกยังสามารถประยุกต์ใช้อุปกรณ์จากสิ่งรอบตัวเท่าที่หาได้ โดยไม่ต้องซื้อหาอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมดในราคาแพง ที่สำคัญที่สุดคือ การนำหมากรุกมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนจะสามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการวางแผน อันเป็นทักษะที่จะติดตัวผู้เรียนไปได้ตลอดชีวิต ดังที่นักหมากรุกอาชีพชาวรัสเซีย แกร์รี คาสปารอฟ (Garry Kasparov) ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า
“หมากรุกช่วยให้เกิดสมาธิ พัฒนาการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล สอนให้รู้จักกันเล่นตามกฎกติกาและรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง รวมไปถึงทักษะการแก้ปัญหาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย”
การเดินหมากครั้งสำคัญของกระบวนการเรียนการสอนด้วยหมากรุก อาจจะเป็นการเคลื่อนไหวบนหนทางใหม่สำหรับอนาคตของชาติ และอาจสามารถ ‘รุกฆาต’ ปัญหามากมายในระบบการศึกษาไทยด้วยวิธีการที่แปลกใหม่ไปกว่าเดิม
อ้างอิง
- MOHMAD IBRAHIM. (2014). BENEFITS OF PLAYING CHESS AND ITS APPLICATIONS IN EDUCATION. BEST: International Journal of Humanities, Arts, Medicine and Sciences. Vol.2(11). 31-36.
- Chess in the Schools
- SAR Online
- 30 Chess Quotes For All the Chess Enthusiasts