เป็นเรื่องที่พบเห็นอยู่เสมอกับการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองใช้ความรุนแรงกับบุตรหลาน ครูทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียน หรือแม้แต่กระทั่งความรุนแรงที่เกิดจากการกลั่นแกล้งรังแก หรือที่เรียกกันว่า ‘บูลลี่’ (bully) จากเด็กนักเรียนด้วยกันเอง
10 มีนาคม 2563 หรือ 1 ปีที่แล้ว ปรากฏข่าวเศร้าสลดเมื่อ มติชนออนไลน์ รายงานว่า พบเด็กนักเรียนชั้น ม.2 เขียนจดหมายลาตาย ข้อความว่า “ลาก่อนเด้อทุกคน ที่ผมทำไปมันเป็นเอง ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเรียน มันเกี่ยวกับเพื่อนในห้อง ถูกเคยล้อ เคยแกล้ง จนถึงทุกวันนี้ ผมทนไม่ไหวจิงๆ เลยจะจบชีวิตตนเอง”
ฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า ประเทศไทยเรามีการบูลลี่สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น
จากการสำรวจของเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ปี 2563 พบว่า ในกลุ่มเด็กอายุ 10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน จำนวน 1,500 คน มีเด็กถึง 91.79 เปอร์เซ็นต์ เคยถูกบูลลี่
วิธีบูลลี่ที่พบมากที่สุดคือ การตบหัว 62.07 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา ล้อบุพการี 43.57 เปอร์เซ็นต์ พูดจาเหยียดหยาม 41.78 เปอร์เซ็นต์ และอื่นๆ เช่น นินทา ด่าทอ ชกต่อย ล้อปมด้อย พูดเชิงให้ร้าย เสียดสีผ่านโลกโซเชียล นอกจากนี้เด็ก 1 ใน 3 หรือ 35.33 เปอร์เซ็นต์ เคยถูกกลั่นแกล้งรังแกประมาณเทอมละ 2 ครั้ง และเด็ก 1 ใน 4 หรือ 24.86 เปอร์เซ็นต์ ถูกกลั่นแกล้ง 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์เลยทีเดียว
บุคคลที่แกล้งมักเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ซึ่งเด็กมากกว่าครึ่งหรือ 68.93 เปอร์เซ็นต์ มองว่า การบูลลี่ถือเป็นความรุนแรง
ผลกระทบจากการถูกบูลลี่ส่งผลให้เด็กบางคนคิดโต้ตอบหรือต้องการเอาคืนถึง 42.86 เปอร์เซ็นต์ มีอาการเครียด 26.33 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสมาธิกับการเรียน 18.2 เปอร์เซ็นต์ ไม่อยากไปโรงเรียน 15.73 เปอร์เซ็นต์ เก็บตัว 15.6 เปอร์เซ็นต์ และมีอาการซึมเศร้า 13.4 เปอร์เซ็นต์
ลักษณะของเด็กที่มักถูกบูลลี่
PISA ได้จำแนกลักษณะของเด็กที่มักถูกกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า อะไรเป็นเหตุให้พวกเขาตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น โดยเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อเดือน กับเด็กที่ไม่ได้ถูกกลั่นแกล้ง ดังนี้
เพศ – ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD พบว่า นักเรียนชายถูกกลั่นแกล้งมากกว่านักเรียนหญิงอยู่ 5 เปอร์เซ็นต์ และในไทยต่างกันที่ 14 เปอร์เซ็นต์ แต่บางประเทศ อย่างเบลเยียมและสหราชอาณาจักร พบเด็กนักเรียนหญิงถูกกลั่นแกล้งมากกว่านักเรียนชาย เป็นต้น
สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม – เมื่อเปรียบเทียบเด็กตามสถานะทางการเงินและสังคม พบว่า เด็กที่มีสถานะด้อยกว่ามักถูกรังแกอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อเดือน
ใน 41 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ และประเทศสมาชิก OECD พบว่า เด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยกว่า มักถูกกลั่นแกล้งมากกว่าเด็กที่มีฐานะเศรษฐกิจและสังคมดีกว่าอยู่ 4 เปอร์เซ็นต์ และในไทย 7 เปอร์เซ็นต์ แต่ถึงอย่างนั้นประเทศอย่าง ญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย กลับพบว่าเด็กที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมดีกว่า มีอัตราถูกกลั่นแกล้งผกผันกับประเทศอื่นๆ
ระดับชั้น – นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นกลุ่มที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกมากที่สุด และลดลงเรื่อยๆ เมื่อเข้าช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย
ผลการเรียน – ผลการเรียนเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้เกิดการบูลลี่ในโรงเรียน ตัวอย่างจาก PISA 2018 ได้เปรียบเทียบประสบการณ์การถูกบูลลี่ของเด็กที่มีคะแนนการอ่านสูงกับต่ำ โดยค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD พบว่า กลุ่มนี้มีสัดส่วนต่างกัน 13 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ยังพบข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า การกลั่นแกล้งส่งผลกระทบเชิงลบต่อคะแนนการอ่านของเด็ก และยังส่งผลให้นักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งมีแนวโน้มที่จะขาดเรียนมากกว่านักเรียนที่ไม่ถูกกลั่นแกล้งอีกด้วย
กล่าวคือ สำหรับประเทศสมาชิก OECD หากดัชนีการถูกกลั่นแกล้งเพิ่มขึ้น 1 หน่วย ผลคะแนนการอ่านของเด็กจะลดลง 9 คะแนน ส่วนประเทศไทยจะลดลง 14 คะแนน อีกทั้งเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อเดือน จะมีคะแนนการอ่านน้อยกว่านักเรียนที่ไม่ถูกกลั่นแกล้งถึง 21 คะแนน และของไทยน้อยกว่าถึง 33 คะแนน
การบูลลี่ไม่ใช่แค่เรื่องล้อเล่น แต่ส่งผลกระทบรุนแรงทั้งทางจิตใจและร่างกายของเด็ก อีกทั้งเชื่อมโยงไปถึงผลการเรียนของเด็กไม่ว่าโดยตรงและโดยอ้อม เลวร้ายกว่านั้นหากเด็กที่ถูกบูลลี่ไม่อาจแบกรับความเจ็บปวดไว้ได้ อาจนำไปสู่การสูญเสียที่ไม่อาจหวนคืน