กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงจัดให้มีโครงการนำร่องใช้เครื่องมือการเรียนรู้ด้วยตัวเองสำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาในช่วงที่มีสถานการณ์วิกฤต ที่เด็กไม่สามารถไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ ผ่านการใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ที่บรรจุอยู่ใน Black box ส่งเสริมเด็กและเยาวชนรวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาให้ “เรียนสุข สนุกสอน” ตามเป้าหมายของ กสศ.
ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตโควิด อาจารย์ธีระพันธุ์ ธีรานันท์ หัวหน้า Q-Coach Node4 อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนพรหมานุสรณ์ จ.เพชรบุรี เล่าว่า ได้มีโครงการทำกล่องเครื่องมือเพิ่มทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กอยู่แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมา กสศ. เชื่อในเรื่อง Active learning หรือการเรียนรู้แบบลงมือทำ จึงสนับสนุนให้เด็กเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติและเมื่อเกิดภาวะวิกฤตโรคระบาดขึ้น จึงได้ออกแบบ Black box ขึ้นมาทดลองใช้ในพื้นที่ควบคุมพิเศษ
สำหรับกล่องเครื่องมือ Black box 1 กล่อง ไม่ได้หวังเพียงให้เด็กอ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นให้เด็กได้พัฒนา “A S K” คือ Attitude (ทัศนคติ) Skill(ทักษะ) และKnowledge(ความรู้) เพราะก่อนหน้านี้ เด็กและเยาวชนไทยถูกมองว่าขาดทักษะการคิด การแสดงออกและความรับผิดชอบ แต่เมื่อเด็กได้รับกล่องเครื่องมือที่ถูกออกแบบกิจกรรมร่วมกันระหว่างครูและนักเรียน โดยครูมีหน้าที่ ชี้นำให้เด็กไปค้นคว้า หาเรื่องที่ตนเองชอบ ตามตัวชี้วัดในหลักสูตรแล้วนำมาปรับกิจกรรมใน box ให้เหมาะสม รวบรวมสาระการเรียนรู้มากกว่า 4 วิชา บรรจุลงไปใน 1 กิจกรรม ก็ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้มากขึ้น
เมื่อเป็นกิจกรรมที่เด็กสนใจด้วยตัวเอง เด็กก็จะเต็มใจทำผลงานชิ้นนั้นๆออกมาให้สำเร็จ จนอาจนำไปสร้างเป็นนวัตกรรมต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นของตนเองได้ ส่งผลให้เด็กมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็ก ครูและผู้ปกครอง ทำให้สามารถประเมินผลการเรียนได้ทั้งด้านทัศนคติ ทักษะ และความรู้ในเด็กผ่านผลงานที่ทำสำเร็จ ขณะที่ผู้ปกครองยังสามารถประเมินเด็กได้ด้วยว่ามีความรับผิดชอบและมีวินัยหรือไม่ โดยมีคลิปวิดีโอที่ผู้ปกครองถ่ายขณะทำกิจกรรมและส่งเข้าไปในไลน์เป็นหลักฐานการทำกิจกรรม
ส่วนในเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ไม่มีความพร้อมในการใช้สื่อออนไลน์ ที่ต้องใช้ระบบออนแฮนด์นั้น แม้จะมีคู่มือหรือใบงานที่เป็นเอกสารอยู่ใน Black box ก็ตาม แต่เมื่อนำผลลัพธ์ของการทำกิจกรรมมาเปรียบเทียบกัน กลับพบว่าเด็กที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้กลับมีความได้เปรียบมากกว่า อาจารย์ธีระพันธุ์ จึงเห็นว่าหากรัฐต้องการลดช่องว่าของเด็ก ก็ควรสนับสนุนเครื่องมือและสัญญาณอินเตอร์เน็ต เพื่อให้เด็กชนบท เด็กในเมือง รวมทั้งเด็กกลุ่มเปราะบาง ได้เรียนรู้อย่างรอบด้านไม่ต่างกัน
แม้ว่าจากผลการทดลองใช้กล่องเครื่องมือ Black box จะพบว่ายังไม่สามารถแก้วิกฤตการศึกษาได้ทั้งระบบ แต่ก็สามารถแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตโควิดได้ ซึ่งในอนาคตเมื่อเด็กกลับมาเรียนแบบออนไซต์ 100% หากนำ Black box มาใช้ในการเรียนการสอนตามปกติด้วย ก็จะยิ่งทำให้เด็กสามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น ตรงตามแนวคิดของกสศ. ที่มองว่า “การได้ปฏิบัติจริง ทำให้เด็กจำสิ่งที่เรียนรู้ได้แม่นยำกว่าการท่องจำ”