“ศิลปะไม่ได้สอนให้วาดรูปเป็น แต่สอนให้รู้จักการใช้ชีวิต”
ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) หรือในอีกนามคือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้กล่าวเอาไว้จนกลายเป็นคติพจน์อมตะเกี่ยวกับการศึกษาวิชาศิลปะ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงการรู้วิธีที่จะวาด เขียน หรือแกะสลักสิ่งต่างๆ เพียงอย่างเดียว แต่วิชาศิลปะยังมีข้อดีอีกหลายมิติที่ได้รับการศึกษามาแล้วว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้เรียนโดยเฉพาะเด็กเล็ก และวิชาศิลปะควรที่จะได้รับการยกระดับความสำคัญมากขึ้น
ปัจจุบันวิชาศิลปะเป็นหนึ่งในวิชาที่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี พ.ศ. 2551 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ และได้ระบุเอาไว้ในตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางว่า การเรียนศิลปะจะช่วยให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ชื่นชมความงาม มีสุนทรียภาพ ความมีคุณค่า ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์
อย่างไรก็ตาม หากมองไปยังโครงสร้างเวลาเรียนของหลักสูตรแกนกลางดังกล่าว จะพบว่าสำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นนั้น วิชาศิลปะมีจำนวนเวลาเรียนในระดับที่น้อยกว่าสาขาวิชาอื่นอยู่มาก คือ 80 ชั่วโมง ในขณะที่วิชาอื่นๆ อย่างคณิตศาสตร์มีจำนวนเวลาเรียนอยู่ที่ 120 ชั่วโมง และในช่วงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย วิชาศิลปะก็ยังคงได้เวลาเพียงแค่ 120 ชั่วโมง ขณะที่วิชาอื่นๆ ถูกให้ความสำคัญมากกว่าคือ 240 ชั่วโมง
เห็นได้ชัดว่า วิชาศิลปะมักเป็นวิชาที่ถูกให้ความสำคัญในอันดับท้ายๆ เมื่อเทียบกับวิชาอื่นๆ ในตารางเรียนของนักเรียนไทย อย่างคณิตศาสตร์ ภาษาไทย หรือวิทยาศาสตร์ ทั้งที่ความสำคัญของวิชาศิลปะเองนั้นก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากันแต่อย่างใด
ความสำคัญของวิชาศิลปะนอกเหนือไปจากการสร้างเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ดังที่ใครๆ ก็เข้าใจกันอยู่แล้วนั้น ยังสามารถใช้เพื่อพัฒนาผู้เรียนที่ประสบปัญหาด้านการอ่านอีกด้วย โดยงานศึกษาของ คริสติน เบอร์เกอร์ (Kristin Burger) และ เอลเลน วินเนอร์ (Ellen Winner) ตีพิมพ์ในวารสาร The Aesthetic Education หัวข้อ ‘Instruction in Visual Art: Can it Help Children Learn to Read’ มีข้อสรุปว่า การให้การเรียนรู้ด้านทัศนศิลป์ (visual art) ในวิชาศิลปะนั้นสามารถที่จะพัฒนาทักษะการเรียนรู้ผ่านสายตาได้ การเรียนการสอนด้านทัศนศิลป์จึงมีส่วนช่วยให้นักเรียนที่ประสบปัญหาด้านการอ่านสามารถเพิ่มศักยภาพได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
หนึ่งในสาเหตุที่นักเรียนไม่สามารถอ่านหนังสือได้อย่างแคล่วคล่องนั้น งานวิจัยชิ้นนี้ได้ระบุเอาไว้ว่า เป็นเพราะผู้เรียนมีทักษะด้านการเรียนรู้ผ่านสายตาที่ต่ำ การเพิ่มทักษะด้านทัศนศิลป์จึงเป็นวิธีการที่ผู้วิจัยแนะนำสำหรับการพัฒนาผู้เรียนให้อ่านออกเขียนได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เพียงแค่วิธีให้คัดลายมือหรืออ่านหนังสือมากๆ เพียงอย่างเดียว
นอกจากจะช่วยด้านการอ่านออกเขียนได้ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่ปัจจุบันเด็กไทยยังคงประสบปัญหากันเป็นจำนวนมากแล้ว วิชาศิลปะยังช่วยสร้างทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้แก่ผู้เรียนอีกด้วย โดยอดีตอาจารย์ประจำโรงเรียนประถมศึกษาในเมืองเฟิร์นเดล มลรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผันตัวมาเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ด้านศิลปะกับเด็กปฐมวัย แมรีแอน เอฟ. โคห์ล (MaryAnn F. Kohl) ได้ระบุเอาไว้ว่า การนำวิชาศิลปะมาให้เด็กได้ศึกษานั้น เป็นการสนับสนุนให้เด็กได้เผชิญความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลงมโนภาพในหัวให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งระหว่างกระบวนการนั้นจะเกิดปัญหามากมายที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการวาด การผสมสี ไปจนถึงการประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ที่จะมอบทักษะการแก้ไขปัญหา และค้นพบคำตอบของสิ่งต่างๆ อย่างเช่น “ทำไมถึงเกิดแบบนี้” และ “ทำอย่างไรเพื่อจะให้เกิดสิ่งนี้” ที่จะกลายเป็นความรู้ตลอดชีพของผู้เรียนต่อไป
นอกเหนือจากการเสริมสร้างทักษะด้านการอ่านออกเขียนได้หรือทักษะในการแก้ไขปัญหาแล้ว การเรียนศิลปะยังสามารถช่วยพัฒนาทักษะความเข้าใจโลกได้อีกด้วย โดยผลงานศึกษาของ เวนดี สเตราช์-เนลสัน (Wendy Strauch-Nelson) ศาสตราจารย์เกียรติคุณประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-ออชคอช (University of Wisconsin-Oshkosh) มลรัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่อง ‘Reuniting Art and Nature in the Life of the Child’ ในวารสาร Art Education ว่า สภาพปัญหาในปัจจุบันของเด็กคือ การขาดประสบการณ์ในการพบเห็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติด้วยตาตนเองตั้งแต่แรก สังเกตได้จากการสรุปผลตัวอย่างแบบสอบถามในปี ค.ศ. 1883 ว่าเด็กร้อยละ 63 ของเมืองบอสตันไม่เคยได้ปลูกต้นไม้ด้วยตนเอง และการนำธรรมชาติเข้ามาให้นักเรียนได้ศึกษาในชั้นเรียนก็ยังคงประสบปัญหามาจนถึงปัจจุบัน เพราะความสะดวกสบายจากการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว ซึ่งทำให้เด็กขาดประสิทธิภาพด้านจินตนาการ ด้านการระบุประเภท และการจัดการแก้ไขปัญหา เวนดีจึงเสนอทางออกไว้ในงานศึกษาว่า เราสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ด้วยการออกแบบกิจกรรมวิชาศิลปะให้ผู้เรียนได้มีการเชื่อมต่อออกไปยังโลกภายนอกตามความสนใจของผู้เรียน โดยเฉพาะการเร่งกระบวนการของความสงสัย เพื่อผลักดันให้ผู้เรียนได้ออกไปสำรวจหาคำตอบด้วยตนเองผ่านการออกแบบการเรียนในวิชาศิลปะ เช่น การวาดแผนที่ การวาดภาพสัตว์แต่ละชนิด การออกแบบสภาพแวดล้อมในจินตนาการ และการสำรวจโลกย่อส่วนผ่านงานออกแบบต่างๆ เป็นต้น
ดังนั้น วิชาศิลปะจึงไม่ได้มีคุณค่าน้อยกว่าวิชาอื่นๆ ในหลักสูตร ที่ควรได้รับความใส่ใจและพัฒนาหลักสูตรควบคู่กันต่อไปในอนาคต รวมไปถึงการออกแบบหลักสูตรวิชาอื่นๆ ให้สามารถนำศาสตร์และศิลป์ของวิชาศิลปะไปผสมผสานได้ ซึ่งจะเป็นการอุดช่องโหว่ด้านพัฒนาการของเด็กได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลดีต่อผลการเรียนในหลักสูตรของผู้เรียนทั้งหมด ไปจนถึงผลดีต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ การแก้ไขปัญหา และความเข้าใจโลก ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนในอนาคต
อ้างอิง
- Burger, K., & Winner, E. (2000). Instruction in Visual Art: Can it Help Children Learn to Read? Journal of Aesthetic Education, 34(3/4), 277-293. doi:10.2307/3333645
- หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.(2551). กระทรวงศึกษาธิการ.
- The importance of art in a child’s development
- STRAUCH-NELSON, W. (2012). Reuniting Art and Nature in the Life of the Child. Art Education, 65(3), 33-38. Retrieved March 29, 2021.