เอลิซ อัลไบรท์ (Alice Albright) ผู้บริหารสูงสุดของ Global Partnership for Education (GPE) ผู้สนับสนุนกองทุนทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ ได้ร่วมนำเสนอในเวทีเสวนาวิชาการนานาชาติถึงแนวทางการระดมทุนของ GPE เพื่อนำไปช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในหลายประเทศทั่วโลก ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่กำลังลุกลาม
GPE สนับสนุนการพัฒนาการศึกษาตามแผนงานการศึกษา ผ่านการระดมทุนจากผู้เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ โดยให้ความช่วยเหลือแก่เด็กกว่า 70 ประเทศทั่วโลก จนถึงเดือนมกราคม 2021 พบว่าสามารถระดมทุนได้ถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำไปสนับสนุนเด็กๆ เป็นจำนวนกว่า 360 ล้านคนทั่วโลก
เด็กกว่า 258 ล้านคนทั่วโลก หลุดจากระบบการศึกษา
ในช่วงที่ COVID-19 ระบาด GPE ได้ติดตามสถานการณ์การศึกษาอย่างใกล้ชิดและพบข้อมูลที่น่าสนใจ โดย เอลิซ อัลไบรท์ กล่าวว่า ก่อนที่สถานการณ์โควิดจะแพร่ระบาด มีเด็กและเยาวชนกว่า 258 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ของเด็กทั้งหมด ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียน
จากรายงานของ GPE ยังพบอีกว่าในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง เด็กๆ ที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยในกลุ่มประเทศนั้นมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับมัธยมมากกว่าเด็กที่ยากจนถึง 3 เท่า
มากกว่านั้นเด็กในครอบครัวฐานะยากจนมีแนวโน้มที่จะขาดสารอาหารมากถึง 2 เท่า ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ และเด็กที่มีความพิการก็มีโอกาสน้อยลงไปอีกหากต้องการจะเข้าถึงศึกษาในระดับชั้นมัธยม
ผลกระทบอีกประการที่ตามมาคือ การขาดครูที่มีความเข้าใจและผ่านการฝึกฝนที่ดีพอ การขาดทรัพยากรในการสนับสนุน ซึ่งทำให้เด็กเหล่านั้นได้รับการพัฒนาที่ล้าหลังในการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน
ล็อคดาวน์ปิดโรงเรียน เพิ่มความเหลื่อมล้ำ
ผลกระทบจาก COVID-19 ส่งผลเลวร้ายมากขึ้นต่อสถานการณ์ข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือวิกฤตการณ์ของการเรียนรู้ ขณะที่ทั้งโลกตกอยู่ใต้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด เด็กๆ ราว 1,900 ล้านคน ไม่ได้ไปโรงเรียน มากกว่าครึ่งเป็นเด็กที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
การปิดโรงเรียนตามมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นและยังทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ จนผลักให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์การระบาดของไวรัสอีโบลาในแอฟริกาเมื่อช่วงปี 2016 ที่ส่งผลให้เด็กผู้หญิงที่นั่นต้องทนทุกข์ทรมานจากความรุนแรงทางเพศ อาทิ การท้องก่อนวัยอันควร ความรุนแรงในครอบครัว และการใช้แรงงานเด็ก
เอลิซ อัลไบรท์ กล่าวว่า กรณีเช่นนี้ส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลที่ตามมาทำให้งบประมาณทางการศึกษาที่เคยได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐลดลง แน่นอนว่ากลุ่มเด็กเปราะบาง เช่น ผู้หญิง คนพิการ มีโอกาสถูกทิ้งไว้ข้างหลังสูง
“ทุกครั้งที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา นั่นหมายความว่าเขาต้องเสียโอกาสในการเรียนรู้ และสูญเสียศักยภาพในการหารายได้ในระยะยาวในชีวิตของพวกเขาโดยไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้”
ข้อเสนอของ เอลิซ อัลไบรท์ คือ ในขณะที่รัฐให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสุขภาพ รัฐควรต้องสนับสนุนการลงทุนด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะการศึกษาส่งผลอย่างสำคัญทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อการจัดการผลกระทบจากไวรัสโควิด
เขากล่าวด้วยว่า โรงเรียนเป็นสถาบันที่เข้าถึงชุมชนได้มากที่สุดของประเทศ และยังมีความสำคัญทางสังคม เช่น ด้านโภชนาการและความมั่นคงทางอาหาร และโรงเรียนยังทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องในการรณรงค์ด้านสาธารณสุข เช่น การล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย และการแจกจ่ายวัคซีน
“นี่เป็นทางออกที่ยั่งยืนสำหรับวิกฤติเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากโควิด-19” เอลิซ อัลไบรท์ กล่าว
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น มาตรการปิดโรงเรียนเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงที่จะฉุดรั้งความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงยิ่งขึ้น สิ่งที่ GPE ให้ความสนใจจึงมุ่งไปที่กลุ่มเด็กชายขอบของการศึกษาและเด็กที่ถูกกีดกัน เช่น ผู้ลี้ภัย เด็กที่ต้องการการเรียนรู้แบบพิเศษหรือเด็กพิการ เด็กที่มาจากครอบครัวฐานะยากจนที่สุด และเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล
GPE ได้ระดมทุนอย่างรวดเร็วกว่า 510 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำไปสนับสนุนการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส จนกลายเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนรายใหญ่ที่สุดในโลกในการแก้ไขผลกระทบด้านการศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด-19
สำหรับเงินทุนดังกล่าว จำนวน 475 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ถูกส่งมอบโดยตรงให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และให้ทุกประเทศที่สมัครสมาชิกเข้ามาอีก 25 ล้านเหรียญ เพื่อสนับสนุนแนวทางการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการวิจัย เพื่อหาแนวทางและวิธีการเพื่อใช้ในการเรียนการสอนทางไกล นอกจากนี้เงินทุนอีก 9 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังใช้ไปกับการสนับสนุนแผนการรับมือการระบาดใหญ่
ภายใต้การช่วยเหลือของ GPE ได้สรุปบทเรียนไว้ 4 ด้าน ที่ต้องให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในสถานการณ์โรคระบาด คือ 1) การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของเด็กผู้ด้อยโอกาส 2) การช่วยเหลือครู 3) การเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัย และ 4) สร้างกระบวนการที่ยืดหยุ่นของระบบการศึกษา
อ้างอิง: What does it mean in the Changing World amidst COVID19 Pandemic?