ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย เป็นปัญหาที่สะสมมายาวนานจนฝังรากลึก กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไขยาก และก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเด็กที่มีฐานะดีกว่า ก็จะมีโอกาสได้รับคุณภาพทางการศึกษาที่ดีกว่าเด็กที่มีฐานะยากจน โดยเมื่อถึงเวลาที่ต้องสอบแข่งขันกัน เด็กที่มีฐานะดีกว่า ก็มักจะทำคะแนนได้ดีกว่าตามไปด้วย แต่ยังคงมีเด็กกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่าเด็กช้างเผือก ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กไทยที่มีฐานะยากจนกลุ่มล่างสุด 25% ของประเทศ สามารถทำคะแนนสอบ PISA อยู่ในกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด 25% ของประเทศ โดยในประเทศไทยมีเด็กกลุ่มนี้อยู่ประมาณร้อยละ 13 ของเด็กกลุ่มฐานะยากจนล่างสุด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OICD 11.3%
โดยการวิเคราะห์เชิงลึกจากคะแนนสอบ PISA เป็นรายวิชา ยังพบว่าเด็กช้างเผือก ทำคะแนนวิชาวิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 492 คะแนน คณิศาสตร์ 487 คะแนน การอ่าน 482 คะแนน ซึ่งทั้ง 3 วิชา มีคะแนนมากกว่าค่าเฉลี่ยของเพื่อนนักเรียนในวัยเดียวกัน ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงสุดครึ่งปี ถึง หนึ่งปีการศึกษา และมีค่าเฉลี่ยคะแนนมากกว่าเพื่อนนักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมในระดับเดียวกัน 3-4 ปีการศึกษา รวมถึงมากกว่านักเรียนไทยโดยเฉลี่ยของประเทศ 2 ปีการศึกษา ในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ 3 ปีการศึกษาในด้านการอ่าน
เด็กช้างเผือกไทยแม้จะมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำสุด แต่กลับมีความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ หรือ Growth Mindset ที่สูง คิดเป็นร้อยละ 58 เทียบเท่ากับนักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มสูงสุด โดยจากผลสำรวจของ OECD ยังพบว่ากว่าร้อยละ 80 ของเด็กกลุ่มช้างเผือกเหล่านี้ ต่างก็ต้องการที่จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ขณะที่หลายคนมองไปถึงระดับการศึกษาที่สูงกว่าปริญญาตรีด้วย
แต่ในความเป็นจริง กลับมีเด็กเรียนดีจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรทั้งประเทศ ที่ได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า ประมาณร้อยละ 32 แสดงให้เห็นถึงช่องว่างของโอกาสทางการศึกษาที่แตกต่างกันถึง 6 เท่า สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ซึ่งเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา จึงร่วมสนับสนุนการวิจัย เพิ่มโอกาสทางการศึกษา เพื่อหวังให้เด็กกลุ่มด้อยโอกาสแต่มีความสามารถ ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่
เพราะจากผลการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัย Harvard ,MIT และ Stanford ได้อธิบายถึงสาเหตุของปัญหาการสูญเสียเด็กช้างเผือกเพราะความยากจนไว้ว่า เด็กจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีโอกาสทางการศึกษาน้อยกว่าเด็กจากครัวเรือนที่มีรายได้สูงถึง 10 เท่า จึงสรุปได้ว่าเด็กช้างเผือกจากครัวเรือนที่ยากจนที่สุดของประเทศ แม้จะมีพรสวรรค์หรือศักยภาพเพียงใด แต่เมื่อขาดโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาค รวมถึงขาดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมการพัฒนาทักษะในระยะยาว ความสามารถที่มีก็ไม่อาจพัฒนาไปได้อย่างเต็มศักยภาพ และเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งทักษะและความสามารถที่มีอยู่นั้นก็จะสูญหายไป
ขณะที่ผลสำรวจของ PISA ยังยืนยันด้วยว่า หากไทยสามารถช่วยเหลือเด็กกลุ่มช้างเผือกเหล่านี้ ทั้งการสนับสนุนให้พ่อแม่มีแนวทางส่งเสริมเด็กและเยาวชน การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลในโรงเรียนกับเด็กกลุ่มนี้ รวมทั้งการแนะแนวโอกาสการศึกษาต่อ ก็จะสามารถช่วยเหลือกลุ่มเด็กช้างเผือกให้ได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กกลุ่มยากไร้ ด้อยโอกาสอื่นๆ ได้พัฒนาตัวเอง กลายเป็นเด็กช้างเผือกด้วย แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ดีในประเด็นความพยายามต่อสู้กับอุปสรรคของเด็กแต่ละคน แต่หากดูที่ตัวเลขสถิติในภาพรวมทั้งประเทศ ที่เด็กยากจนต้องพลาดโอกาสศึกษาต่อในระดับที่เกินกว่าภาคบังคับ จากปัญหาสถานะเศรษฐกิจในครัวเรือน ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ
การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่เร่งดำเนินการ เด็กกลุ่มนี้ก็มีโอกาสที่จะต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ก่อนที่จะได้รับการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ซึ่งจะถือเป็นความสูญเสียยิ่งใหญ่ของชาติ ในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ ที่จะเติบโตมาเพื่อช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต