วีระพงษ์ กังวานนวกุล หรือ ‘เบิ้ม’ เติบโตมาในครอบครัวใหญ่ เป็นพี่ชายที่แบกความหวังของน้องๆ และครอบครัว เขาในวัยนั้นถูกคาดหวังให้เดินในเส้นทางอาชีพที่มั่นคงตามขนบสังคม… ไม่วิศวะก็สถาปนิก แต่ความสนใจของเขาชัดเจน คือการเกษตร และการทำงานที่พาเขาไปเห็นชีวิต เห็นคน เห็นสังคม และเห็นโลกกว้าง
นั่นทำให้วันนี้เราต่างรู้จักเขาดีในฉายา ‘ครูข้ามพรมแดน’ ผู้ทำงานด้านเด็กเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ และผู้ด้อยโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสม และทำงานเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มผู้สูงอายุผ่านการประดิษฐ์ของเล่นไม้จากวัสดุธรรมชาติ รวมทั้งทำงานกับเครือข่ายประชาชนชายแดนไทย เมียนมา และลาว เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาโดยไม่เลือกชาติพันธุ์
Equity Talk สนทนากับ วีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และครูข้ามพรมแดนที่คลุกคลีกับงานเด็กและเยาวชนมากว่า 20 ปี เขาทำงานด้วยความเชื่อว่า “สังคมที่ดี ต้องเป็นสังคมของคนทุกวัย” นั่นเพราะเด็กไม่สามารถเติบโตได้ด้วยตนเองทั้งหมด สภาพแวดล้อม สังคม และครอบครัว คือองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้พวกเขามีทักษะ มีศักยภาพ เก่งและแกร่ง แม้ว่าเด็กเหล่านั้นจะอยู่ในพื้นที่เปราะบางก็ตาม
การศึกษาของเด็กที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทยมีลักษณะอย่างไร
มันเหมือนเราตัดเสื้อทีละส่วน ตัดเฉพาะแขน กระเป๋า ตัว แล้วเอามาประกอบกัน แต่เราไม่ได้เห็นทั้งทรงว่ามันควรจะเป็นยังไง คนแม่สอดหรือรัฐในพื้นที่แถบชายแดนก็จะมองว่า กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ คนชายแดน กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะมีปัญหา เรามักมองพวกเขาในมุมของความด้อย มีปัญหาเป็นตัวตั้ง ทำไมเราไม่เปลี่ยนโจทย์ให้มันกลายเป็นโอกาส
อย่างผมทำงานในโรงเรียนเขตรัฐกะเหรี่ยง ชายแดนอำเภอพบพระ จังหวัดตาก เราพบว่าเด็กคนหนึ่งเขาพูดได้ถึง 4 ภาษา ทั้งอังกฤษ พม่า ไทย กะเหรี่ยง แต่เราก็ไปมองว่าเขาเป็นแรงงานพม่า แรงงานชายแดน แต่กลับไม่ได้ดึงจุดแข็งของเขาให้เป็นโอกาสในการพัฒนา หรือการส่งเสริมธุรกิจในพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อกับนานาประเทศได้ คือไม่ได้มองเขาเป็นทรัพยากรมนุษย์ แต่มองว่าเขาต้องมีปัญหา ทุกวันนี้เราจึงเห็นปัญหาการลักลอบเข้าเมือง ถามว่าเขาเก่งไหม เก่ง แต่เขาอยู่ในพื้นที่ไม่ได้เพราะพื้นที่มันไม่มีความมั่นคง ไม่ปลอดภัย มีแต่การสู้รบ การรุกรานพื้นที่ มันก็ทำให้การศึกษาในระบบที่เขาควรจะได้รับมันไม่มี มันก็เลยถูกจัดการศึกษาแบบพิเศษจากกองกำลัง DKBA (กองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย – Democratic Karen Buddhist Army) บ้าง KNU (กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง – The Karen National Union) บ้าง หรือองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานตรงชายแดน ก็ได้จัดการศึกษาหลักสูตรพิเศษขึ้นมา แล้วส่งเด็กไปยังประเทศพัฒนาที่เขาต้องการ อย่างอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี
คุณเคยทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดน รวมถึงทำงานด้านผู้สูงอายุ เล่าให้ฟังหน่อยว่าทำอะไรบ้าง
ส่วนตัวเราก็เป็นเด็กนอกระบบ เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง มาเรียนจบก็ตอนอายุเยอะแล้ว ซึ่งตอนที่ทำงานแถบชายแดน ตอนนั้นได้ทุนของ UNICEF ก็บุกเบิกทำโครงการอบรมวิชาชีพให้เด็กกลุ่มเสี่ยง สมัยนั้นเรียกว่า ‘เด็กตกเขียว’ ที่อยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ถูกล่อลวงตั้งแต่เด็กๆ ไปค้าบริการ คือทำงานในแวดวงนี้ตั้งแต่ปี 2538
ช่วงที่ทำงานกับ UNICEF เรารู้สึกว่า เด็กเขาเก่ง พอได้รับการพัฒนาจากเรา เขาก็เป็นเด็กที่ทำกิจกรรมได้ คล่องแคล่ว กล้าคิดกล้าพูดกล้าทำ แต่ถามว่าเขาแกร่งไหม เขาไม่แกร่ง เวลาโดนสังคมในชีวิตจริงเข้าไปกระทบ เขาก็จะเปราะบาง ซึ่งเราไม่สามารถดูแลเขาได้ทั้งชีวิต แต่โจทย์คือ เราจะให้ความแกร่งเขาได้ยังไง เราจึงมองไปที่บริบทของครอบครัว ไม่ว่าเด็กๆ จะอยู่ในความเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงก็แล้วแต่ เขาต้องอยู่ให้ได้ เราเลยออกมาทำงานกับกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ สมัยปี 2540 ทำขนานไปกับงานเด็กและเยาวชน
งานด้านการเรียนรู้ของเด็กชายแดนไทยว่ายากแล้ว การทำงานด้านผู้สูงอายุควบคู่ไปด้วย น่าจะยากกว่ามาก?
งานที่เราทำกับคนเฒ่าคนแก่ถือว่ายากที่สุด แต่เรามีความเชื่อว่า เด็กไม่สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง มันต้องมีองค์ประกอบและสิ่งแวดล้อมรอบข้างให้เขาได้แตกกิ่งก้านสาขาความคิดออกไป
เราจึงตั้งกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ขึ้นมา โดยเชื่อว่าสังคมมันต้องเป็นสังคมของคนทุกวัย เรื่องคนเฒ่าคนแก่ในสมัยนั้นไม่มีใครทำอย่างจริงจัง
ทำไมงานประเด็นผู้สูงอายุจึงเป็นงานยาก
เพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางความคิดและเทคโนโลยีด้วย จากอนาล็อกมาดิจิทัล ช่วงยุคนั้นมันกระโดดเร็วมาก ใครจะไปรู้ว่าผู้สูงอายุ 70-80 ปีในตอนนี้จะใช้สมาร์ตโฟน ในขณะที่สมัยก่อนเราไม่เคยคิดว่าจะมี การก้าวข้ามบริบททางสังคมยุคนั้นมันยากสำหรับคนที่ต้องปรับตัว แล้วคนที่ปรับตัวก็คือคนที่มีอิทธิพลต่อการอยู่ร่วมกันในบริบทครอบครัวของสังคมไทย เพราะสังคมไทยเป็นครอบครัวใหญ่ อยู่ด้วยกัน มีพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ซึ่งทุกคนคือองค์ประกอบในการกำหนดชีวิต ความคิด และอนาคตของลูกหลานในยุคนั้นหมด
เราเลยคิดว่า การทำให้คนที่เข้าใจยากที่สุด เข้าใจการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนผ่านของคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น (อายุประมาณ 30-40 ในยุคนี้) มันยาก เราก็เลยเลือกเครื่องมือในชุมชนขึ้นมาชิ้นหนึ่งคือ ภูมิปัญญาของเล่นพื้นบ้าน โดยเอามาเป็นตัวเดินเรื่องเพื่อนำไปสู่การพัฒนาในเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม การอยู่ร่วมกัน นิทานพื้นบ้าน วิทยาการจัดการ การออกแบบสร้างสรรค์ ก็เลยกลายเป็น ‘พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ ในปัจจุบัน
อีกด้านเราก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 แต่ตอนนั้นเราเด็กมากนะ อายุแค่ 20 กว่า เราพยายามทำให้เป็นรูปธรรมที่สุด ซึ่งบริบทคนทำงานสมัยนั้นมองว่า เรื่องผู้สูงอายุไม่เกี่ยวกับเด็ก ขณะที่เรามองว่า เรากำลังทำงานกับอนาคต มันก็ท้าทายมากในยุคนั้น แล้วเราก็คิดว่า จุดแข็งของคนเอเชียที่เกื้อกูลกันในชุมชนชนบท ดูแลไปมาหาสู่ มีประเพณีที่เชื่อมโยงกัน บริบทเหล่านี้มีค่ามากพอๆ กับ ‘สิทธิ์’ ในความหมายว่า คุณป่วย รัฐจ่าย เราเลยคิดว่า พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ จะต้องทำให้เกิดกลไกการอยู่ร่วมกันของคนทุกวัยในพื้นที่
ถามว่า ณ วันนี้มันไปถึงไหม ยังไปไม่ถึง ทุกคนกลับไปติดหล่มในสิทธิ์ที่ว่า ทุกคนต้องได้สิทธิ์สวัสดิการเท่านั้นเท่านี้ แต่ถามว่าท้องถิ่นลงมาเล่นในการสนับสนุนการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมไหม ก็ต้องถือว่าน้อย เราให้ความสำคัญกับการรองรับประชากรสูงอายุ แต่เราแทบจะทำน้อยมากหรือไม่มีเลยก็ว่าได้
อยากให้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ สำเร็จถึงขั้นไหน แล้วสังคมแวดล้อมที่ดีจะโอบอุ้มการเติบโตของเด็กอย่างไร
ช่วงแรกเราคิดว่า การทำให้ท้องถิ่นมาดูแลกระบวนการทำกิจกรรมหนุนเสริม การให้คุณค่า การส่งเสริมอาชีพ การดูแลสุขภาพต่างๆ แต่ว่าทั้งหมดทั้งมวลต้องเป็นกิจกรรมที่คนทุกวัยมีส่วนร่วม ไม่ควรแยกเด็ก แยกผู้ใหญ่ เหมือนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ชอบแยกเด็กกับผู้สูงอายุ คือมันไม่ควรแยก มันควรเป็นหนึ่งเดียว แต่คุณจะไปลงรายละเอียดเชิงย่อยอะไรก็ว่ากันไป
สุดท้ายแล้วถ้ากระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ของคนทุกวัยมีความสัมพันธ์กัน ก็จะนำไปสู่การมีสวัสดิการที่ดีได้ เราเชื่ออย่างนั้น แต่พอรัฐมามองเรื่องสวัสดิการเลย ให้เงิน ให้เบี้ยยังชีพเลย มันก็ทำให้เราละเลยต้นทุนเดิมที่มีค่าในเรื่องของการเกื้อกูล การดูแลกัน
ความยากและโจทย์ในการทำงานกับเด็กในพื้นที่เปราะบาง มีอะไรบ้าง
โจทย์ของเราคือจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับเด็กยังไง เราก็เลยพยายามนำเสนอกระบวนการให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ประสบการณ์ตรง ไปฝึกงานอย่างจริงจัง ไม่ใช่ไปฝึกงาน 3 เดือน แล้วกลับมาวิพากษ์เหมือนไปฝึกงานมานานแล้วรู้ทุกอย่าง ไปแรกๆ มันอาจจะได้เห็น อยู่ไปสักพักก็จะได้ฟังแล้วลงมือทำ ไปจนถึงการนำความรู้ทั้งหมดมาประมวลแล้วออกแบบอย่างมีระบบมากขึ้น
ท้ายที่สุดเราคิดว่า เด็กๆ จะเลือกเป็นอะไรก็ได้ แต่เขาจะมีแก่น มีหลักคิดอยู่ว่าสิ่งที่เขาได้รับการพัฒนาไป มันอยู่ด้วยกันอย่างองค์รวม ไม่ใช่แยกเป็นเรื่องๆ ดังนั้น ระบบการศึกษาหรือระบบการเรียนโดยพื้นฐานอาจจะต้องรู้ทุกเรื่อง อาจไม่ต้องเก่งทุกเรื่อง แต่ต้องรู้หลัก แล้วถ้าจะลงลึกเรื่องอะไรก็สามารถกระโจนลงไปยังจุดนั้นได้ เราคิดว่าทักษะที่พยายามให้เด็กเข้าใจเป็นแก่นในหลักคิดของการเติบโตในการอยู่ร่วมกันในชายแดน
เพราะเด็กแถบชายแดนรุ่นใหม่ๆ เขาไม่รู้หรอกว่าความขัดแย้งในเมียนมาทำให้ประเทศชาติไม่ได้รับการพัฒนาหรือมีความขัดแย้ง หรือคนเชื้อสายพม่าที่เขาโตมา บางทีเขาก็ไม่รู้ประวัติศาสตร์ เราจึงมักบอกเด็กๆ รุ่นหลังๆ ว่า ความขัดแย้งขอให้มันจบที่รุ่นพ่อ แต่การอยู่ร่วมกันในปัจจุบันต่างหากที่เรายังต้องคงอยู่ พอเราสร้างนิยามหรือความรู้ความเข้าใจใหม่ มันก็จะนำไปสู่สังคมสันติสุข เราเชื่ออย่างนั้น เรื่องเหล่านี้บางทีไม่มีคนบอก หรือคนที่บอกมักจะเป็นพ่อแม่ที่อาจจะมีอคติบางอย่างว่า ‘กูไม่เอา กูไม่คบคนกะเหรี่ยง’ แต่เราก็ต้องให้ความคิดใหม่ว่า มันไม่ใช่ มันต้องอยู่ด้วยกัน
เด็กๆ ต้องเจออะไรบ้างกับการเผชิญมายาคติและการศึกษาที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อพวกเขา
ความเกลียดชัง ความรุนแรง และความขัดแย้ง คือสิ่งที่พวกเขาต้องเจอแน่นอน และเมื่อต้องเผชิญอะไรเช่นนั้น พวกเขาอาจเติบโตมาเป็นคนที่… ไม่ได้ร่วมสร้างสังคมใหม่ หรือมีทัศนคติฝังใจที่จะส่งต่อความเกลียดชัง
คุณเห็นพัฒนาการของรัฐไทยและเพื่อนบ้านมากน้อยแค่ไหนในการทำความเข้าใจเด็กชายแดน รวมถึงมิติทางการเรียนรู้ของพวกเขา
คนทำงานในพื้นที่ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ เขาเข้าใจบริบท วิธีการทำงาน การเกื้อกูลและการหนุนเสริมเด็กกลุ่มนี้ ผมมองว่าในทางปฏิบัติหน้างานแล้ว ไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาคือตัวกฎหมายของเราบางอันที่ไม่มีความชัดเจน ไม่ได้มีข้อกำหนดหรือข้อบังคับที่เป็นรูปธรรมของแต่ละพื้นที่ เพราะเราอยู่ติดชายแดนหลายประเทศ ชายแดนฝั่งตะวันตกติดกับเมียนมา ติดกับรัฐอิสระและกองกำลังกลุ่มน้อยก็จะมีอีกบริบทหนึ่ง ติดกับลาวก็อีกบริบทหนึ่ง ติดกับกัมพูชาก็อีกบริบทหนึ่ง มันแตกต่างกัน ฉะนั้นเรามีกฎหมายอันเดียว หากเราสามารถกระจายอำนาจให้ตัวแทนรัฐในพื้นที่ในแต่ละภาค แต่ละเขต ได้ออกแบบ และให้อำนาจอย่างจริงจัง เราคิดว่าอันนี้มันอาจจะทำให้งานเชิงป้องกันและงานเชิงส่งเสริมคุณภาพชีวิตถูกจัดการได้ ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น มิติความมั่นคง เศรษฐกิจ โรคระบาด มันเกี่ยวข้องกันหมด
เราคิดไปถึงว่า มันอาจจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษทางการจัดการระบบการศึกษาบางอย่าง อาจจะต้องคิดให้ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ใช่พูดเรื่องความมั่นคงหรือเศรษฐกิจอย่างเดียว เรามองว่าอาจต้องมีแนวคิดเช่นนี้ แต่เราอาจจะยังไปไม่ถึง
ยกตัวอย่างหน่อยได้ไหม
เช่น ในแคมป์อพยพที่แม่ฮ่องสอน ก็พบว่าองค์กรระหว่างประเทศอย่าง UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) ก็คัดเลือกเด็กดีๆ เก่งๆ ไปอยู่ประเทศเขาหมด ขณะที่เราไม่มีวิธีคิดในการเอาศักยภาพของคนที่มีความสามารถในพื้นที่ตรงนั้นกลับมาช่วยบ้านช่วยเมือง ช่วดูแลในพื้นที่ร่วมกัน
หรืออย่างเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐาน เราอาจจะให้เด็กได้เรียนถึง ม.3 แต่นอกเหนือจากนั้นเราไม่มีมาตรการส่งเสริมให้เด็กตามชายแดนได้เข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างสง่างาม หลายคนก็เข้าเรียนได้ แต่บางที่ก็ไม่ให้ใบประกาศจบการศึกษา เรียกว่าให้โอกาส แต่ไม่ให้ใบประกาศ สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาทั้งสิ้น
ยกตัวอย่าง หม่อง ทองดี ถ้าเขาไม่ได้พับจรวดเก่ง ไม่ได้ไปแข่งระดับนานาชาติ เขาก็จะไม่มีโอกาส แล้วกว่าเขาจะได้บัตรประชาชนมาใช้เวลาตั้งกี่ปี เรื่องแบบนี้เราช้า ทำให้การพัฒนาทุนความรู้และการใช้ชีวิตของเด็กมันช้า
อะไรคืออุปสรรคใหญ่ที่ต้องเจอในการทำงานประเด็นเชิงสังคมที่ละเอียดอ่อน
มันเป็นเรื่องของการสื่อสาร เราใช้ข้อมูลในการสื่อสารไม่รอบด้าน เราไม่ได้เอาข้อมูลมาสร้างความรู้หรือความเข้าใจหรือสร้างการมีส่วนร่วมในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างจริงจัง ปัญหาหลักๆ จึงเป็นเรื่องของการสื่อสารและการให้ความหมาย บางเรื่องเราให้ความหมายแค่มุมเดียว ก็เลยทำให้เข้าใจไม่หมด
อย่างเช่น เราอยากให้เด็กๆ ชายแดนมาเรียนมาฝึกเรื่องการดูแลสุขภาพ เป็นผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยหมอ หรือเป็นนักกายภาพ แต่ถ้าโรงพยาบาลชุมชนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่รับน้องๆ ที่มีความสนใจในการเป็นผู้ช่วยพยาบาลหรือเป็นนักกายภาพ การแพร่กระจายของผู้ป่วยหรือการเกิดโรคระบาดในพื้นที่ชายแดนก็จะทะลักข้ามมา การแก้ปัญหาคือว่าถ้าเกิดเราสามารถพัฒนาร่วมกัน พัฒนาเฉพาะด้านกับคนในพื้นที่ชายแดนให้มีความรู้ความเข้าใจร่วมกัน ก็จะสามารถเฝ้าระวังการแพร่ระบาดและความเสี่ยงของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้
หรืออย่างสมัยก่อน เรื่องของครูดอย ครูชายแดน จะมีมิติเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ การศึกษา เพราะงานชายแดนมีความอ่อนไหว หากมีความงดงามของการอยู่ร่วมกัน สงครามการต่อสู้ก็จะไม่เกิด อันนี้คือสันติสุขใต้พรมแดน ที่อยู่เหนือพรมแดน หมายความว่า ชีวิตจริงที่เราอยู่มันเป็นอย่างนี้ แต่เหนือพรมแดนเนี่ย รัฐจะมองว่าห้ามล้ำเส้น ห้ามข้ามมา ถ้าคุณรุกล้ำ แปลว่าคุณเอาเปรียบไทย แว่นมันต่างกัน
หมายความว่า ในพื้นที่ชายแดน มนุษย์อยู่ร่วมกันได้ ต่อกันติด แต่ในแง่ความมั่นคงจะถูกมองอีกแบบหนึ่ง
ใช่ คือถ้าพูดอย่างงี้มันคือเขตวัฒนธรรมหรือเขตการปกครอง สมัยก่อนอาจไม่ได้ขีดชัดว่านี่คือไทย นี่คือพม่า สมัยก่อนมันไม่มี แต่มันมีความสัมพันธ์ระดับล่างที่มีความผูกพัน เป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติ ใช้วัดเดียวกัน หรือนับถือพระองค์เดียวกัน มีประเพณีและวันสำคัญวันเดียวกัน
แต่ถ้ามองในแง่พรมแดนก็คือ ถ้าคุณข้ามไป คุณรุกล้ำอธิปไตย แว่นที่มองมันต่างกัน เพราะฉะนั้นเรื่องข้างบนจึงเป็นเรื่องนิติศาสตร์ ข้างล่างเป็นรัฐศาสตร์ ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่คนในพื้นที่ แต่อยู่ที่ข้างบนมองลงมาในมุมความมั่นคง
ปัจจุบัน อคติหรือการแบ่งแยกความเป็นอื่น โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนเบาบางลงบ้างหรือเปล่า
มันเป็นทางคู่ขนานกันตลอดเวลานะ ระหว่างมองแบบอธิปไตยกับมองแบบคนข้างล่าง แต่ถ้าพูดถึงเรื่องให้รัฐบาลส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ แน่นอนมันพูดถึงระดับล่างทั้งหมด ยิ่งท่ามกลางการสูญเสียของสงครามหรือการต่อสู้ข้ามประเทศ เราว่าประชากรโลกทุกคนคงไม่ได้ปรารถนาอย่างนั้นหรอก เขาก็จะมองหาอะไรที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เรื่องการอยู่ร่วมกัน ความดีความงาม ดนตรี หรืออะไรต่างๆ ที่เป็นวิถีร่วมกัน
ในเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ คุณต้องการให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปเพิ่มโอกาสในด้านใดอีกบ้าง
ผมคิดว่ารัฐไทย ไม่รู้หน่วยงานไหน อาจจะเศรษฐกิจ สังคม หรือหน่วยงานความมั่นคงก็แล้วแต่ ถ้าเขาเปลี่ยนวิธีคิดในการจัดการความมั่นคงหรือการจัดการประชากรระหว่างประเทศได้ ก็จะเป็นโอกาสในการที่เราจะสามารถรองรับแรงงานที่มีคุณภาพ เช่น ช่างฝีมือด้านต่างๆ จากเมียนมาที่มีเยอะ อย่างนี้เป็นโอกาสของเรามากกว่า
เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนโจทย์ใหม่ ให้คุณค่าใหม่ อันนี้สำคัญ เวลาที่เราข้ามไปฝั่งนู้น เราได้กินผัดกะเพราที่อร่อยในตองจี หรือเมืองหลักต่างๆ คนส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่เคยมาทำงานในประเทศไทยแล้วกลับไปเป็นแรงงานก่อสร้าง เย็บผ้า เป็นช่างฝีมือคุณภาพมากเลย เราก็เสียดายนะ ว่าเราปล่อยช่างฝีมือเหล่านี้กลับบ้าน ไปตั้งกิจการอยู่ฝั่งโน้นหมดแล้ว แต่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานไม่เคยมองเลยว่าจะมีวิธีจัดการอย่างไรที่จะก้าวข้ามการค้าแรงงานนอกระบบหรือการเอาเปรียบแรงงานไม่ให้เข้าระบบ หรือว่าการจัดเก็บภาษีนู่นนี่นั่น ซึ่งเรากำลังเสียโอกาสตรงนี้ไป