โควิด-19 ในหลายๆระลอกที่ผ่านมา ส่งผลให้เด็กต้องกลับมาเรียนรู้อยู่ที่บ้านซ้ำๆเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัย จากการเปิดปิดโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กที่ไม่แน่นอน แต่อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยก็ยังคงต้องดำเนินต่อ และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ‘นีท’ เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น มองผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตและการเรียนรู้แบบใหม่ว่าเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กปฐมวัย เพราะข้อจำกัดหลายๆอย่างที่มากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 จึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพื่อจะเตรียมพร้อมให้เขาจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม เพราะหากไม่มีวิธีช่วยจัดการอาจส่งผลให้เขามีภาวะทางอารมณ์ที่มากขึ้น รวมไปถึงพัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งร่างกาย อารมณ์และสังคม และสติปัญญาถดถอย ไม่เหมาะสมตามวัยเท่าที่ควร
พัฒนาการเด็กปฐมวัยถดถอย ผลจากการปิดโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก
พอโควิด-19 เข้ามา หลายๆอย่างถูกเปลี่ยนแปลง ประการแรก คือ การมีกฎหรือต้องมารู้จักตัวเองในรูปแบบใหม่ที่มีกฎหรือข้อจำกัดมากขึ้น ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง เด็กเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เช่น เด็กบางคนใส่หน้ากากไม่คล่อง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ออกจากบ้านก็จะต้องใส่หน้ากากให้ได้และต้องเคร่งครัดกับการล้างมือ ซึ่งกฎเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าชีวิตของพวกเขาอยู่ยาก โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยหรือเด็กเล็กที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันในการรับมือกับสถานการณ์ที่จำกัดมากขึ้น
“เด็กปฐมวัยหรืออนุบาลคือขั้นของการฝึกวินัย ซึ่งการฝึกวินัยเบื้องต้นมันสามารถทำให้เด็กมีอารมณ์โกธรได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแค่การที่พวกเขาต้องอยู่กับกฎหรือข้อจำกัดที่มันมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด มันก็อาจทำให้พวกเขามีอารมณ์โกธรได้ง่ายขึ้น”
‘นีท’ เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์
‘นีท’ ได้พูดถึงผลของการฝึกวินัยเบื้องต้นในเด็กปฐมวัยที่อาจทำให้เกิดอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ และการที่พวกเขาต้องอยู่กับข้อจำกัดที่มากขึ้นจากสถานการณ์โควิด รวมถึงกระบวนการสอนของผู้ปกครอง หากเข้มงวดมากเกินไปก็อาจส่งผลต่ออารมณ์และพัฒนาการบางอย่างของเด็ก
ในขั้นการพัฒนาทางจิตสังคมของเด็กปฐมวัยตามทฤษฎีของ Erikson เด็กช่วงวัยนี้จะมีความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง (Sense of Autonomy) และเริ่มที่จะเรียนรู้การควบคุมตนเอง (Self Control) นอกจากนี้ยังเริ่มจะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เริ่มสร้างบุคลิกภาพและความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจากการทำกิจกรรมและประสบการณ์ร่วมกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวและการอบรมสั่งสอนโดยพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในครอบครัว จะช่วยให้เด็กได้ซึมซาบเข้าไป เป็นการรู้สำนึกผิดชอบชั่วดีในความคิดและแสดงออกผ่านพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ถ้าผู้ปกครองให้การอบรมเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม จะทำให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง ถ้าพ่อแม่เลี้ยงแบบควบคุมอยู่ในกฎระเบียบมากเกินไปก็จะทำให้เขารู้สึกผิด และส่งผลต่อการพัฒนาตนเองทั้งบุคลิกภาพและอารมณ์
ประการที่ 2 คือ พอเราพูดถึงการเรียนรู้ไม่อยากให้มองว่าเป็นแค่การเรียนในตำราเท่านั้น จริงๆแล้วการเรียนรู้ของเด็กมีเรื่องของการเรียนรู้ผ่านสภาพแวดล้อมอยู่ด้วย แต่พอโควิด-19เข้ามา ทำให้กิจกรรมหลายๆอย่างหายไป วัยเด็กเป็นวัยที่ต้องเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 จากธรรมชาติรอบตัว ผ่านการปฏิบัติ อยากเห็นของจริง แต่การที่เขาไม่สามารถออกไปเจอกับโลกภายนอก ไม่สามารถวิ่งเล่นได้อย่างอิสระ ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ทำให้การเรียนรู้และพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กๆหายไป
ประการที่ 3 คือ สังคม ในเด็กวัยนี้ต้องบอกว่าสังคมเป็นโลกใบใหม่ของเขา นอกจากเขาจะรู้จักตนเองหรือคนในครอบครัวแล้ว สิ่งสำคัญคือ การรู้จักสังคมใหม่ การที่เขาขาดเพื่อนหรือไปโรงเรียนไม่ได้ มันทำให้เขาขาดทักษะการสื่อสารทางสังคม เช่น ถ้าเขามีเพื่อน เขาจะรู้จักวิธีการเข้าหากลุ่มคน การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี การเล่นอย่างมีกฎ เราก็เรียนรู้ระบบตรงนี้ผ่านการเล่นกับเพื่อนๆ และพฤติกรรมการเข้าสังคม เช่น พฤติกรรมการช่วยเหลือหรือพฤติกรรมการรอคอย ซึ่งเป็นการเรียนรู้บรรทัดฐานและกฎระเบียบต่างๆของสังคมก็หายไป
ภาวะความเครียดจากสถานการณ์ที่จำกัด แปรผันตรงกับอารมณ์ พัฒนาการและพฤติกรรม
ความเครียด ความกดดันจากวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม ข้อจำกัดในหลายๆอย่างแสดงออกผ่านพฤติกรรมและอารมณ์ที่ไม่ปกติของเด็ก เช่น ไม่อยากอาหาร หรือหิวกว่าปกติ เมื่อไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ก็ส่งผลให้การสร้างกล้ามเนื้อต่างๆของเด็กเป็นไปอย่างไม่เต็มที่ แม้กระทั่งพฤติกรรมการนอน ถ้าเด็กมีความเครียด ความเบื่อหน่าย จะส่งผลให้นอนน้อยลง นอนยากขึ้น ตื่นกลางดึก ฝันร้าย หรือบางคนอยากนอนมากขึ้น หรือเกิดอาการป่วยต่างๆ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ซึ่งส่งผลเสียต่อตัวเด็กโดยเฉพาะด้านร่างกาย รวมถึงพอเด็กเครียดก็จะเกิดภาวะทางอารมณ์สูงขึ้น เช่น เศร้าได้ง่ายขึ้น ร้องไห้ได้ง่ายขึ้น มีความกลัว ความโกธร ความหงุดหงิด ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ปกครองสามารถสังเกตและรู้ได้ว่าลูกเครียด ไม่สนุก หากพ่อแม่สร้างภูมิคุ้มกันให้เขาได้ เขาก็จะกลับมามีอารมณ์ที่มั่นคงมากขึ้นและทำให้เขากลับมาสู่สมดุล
พ่อแม่จะช่วยเด็กปฐมวัยรับมือทางอารมณ์อย่างไรภายใต้สถานการณ์ที่จำกัด
หากเป็นเด็กปฐมวัยอย่างไรก็ต้องมีผู้ปกครองช่วยแนะแนวทางให้ เด็กเล็กต้องมีพ่อแม่ช่วยสอนก่อนเพื่อให้เด็กสามารถรับมือทางอารมณ์และนำไปสู่การพัฒนาในด้านอื่นๆด้วย เช่น ถ้ารู้สึกเบื่อๆ ขี้เกียจตื่นมาเรียนหรือเรียนแล้วปวดหัว ทำอย่างไรได้บ้าง เด็กทุกคนจะต้องเรียนรู้ว่าสิ่งๆนี้เรียกว่าความเครียด แล้วจะแก้ไขได้อย่างไรบ้าง สำหรับเด็กเล็กอาจไม่ง่าย เป็นสิ่งที่ต้องคอยสอนตลอดเวลา เช่น เครียดเพราะเรียน สามารถแก้ด้วยการฟังเพลงหรือการเล่นของเล่น
“ถ้ามีทางออก 10 กรณี ต้องหาทางออกให้ 10 กรณี ซึ่งการสอน 10 กรณีไม่ได้หมายความว่าเด็กจะสามารถแก้เองได้ เด็กจะเริ่มค่อยๆเข้าใจและทำซ้ำๆ เมื่อเด็กเกิดความเครียดอีก เขาก็จะสามารถจัดการตัวเองได้”
‘นีท’ เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์
‘นีท’ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจาก Cognition ของเด็กเล็กยังไม่สามารถคิดเชิงเหตุผลได้อย่างลึกซึ้ง เขายังเข้าใจปัญหาผ่านการรับรู้ ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาของเขา พอเจอเรื่องแบบนี้ก็ทำแบบนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในแบบขั้นต้นเท่านั้น
กระบวนการออกแบบการสอนของพ่อแม่ คือสิ่งสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย
การเรียนรู้ของเด็กๆก็ยังคงเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ว่าเรียนรู้ได้อย่างจำกัดที่บ้าน ซึ่งอาจทำให้พัฒนาการไม่เหมาะสมกับช่วงวัยเท่าที่ควร ปัจจัยที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และมีพัฒนาการที่เหมาะสมได้อาจไม่ใช่เรื่องของสภาพแวดล้อมอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการจัดกระบวนการสอนหรือการเรียนรู้ให้กับเด็กของพ่อแม่ด้วย สำหรับพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบเต็มเวลาจะสามารถออกแบบกิจกรรมการสอนและอยู่ดูแลลูกได้ เด็กก็จะเกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา แต่สำหรับพ่อแม่ที่มีข้อจำกัด ต้องออกไปทำงาน ก็ควรจะต้องมีอุปกรณ์ช่วยเสริม อาจจะเป็นในลักษณะของกล่อง Box Set การเรียนรู้หรือกล่องของเล่นที่สามารถเล่นได้ด้วยตนเอง แล้วพ่อแม่ก็ใช้ช่วงเวลาที่ว่างมาสอนลูกต่อยอดจากการเล่น ซึ่งเราเริ่มจากจุดๆนี้ก่อน ยกตัวอย่าง ในกล่องมีจิ๊กซอว์รูปส้ม เด็กก็จะใช้เวลาช่วงหนึ่งเรียนรู้จากการเล่น เมื่อถึงช่วงเวลาที่พ่อแม่มีเวลาว่างแล้วก็เสริมสร้างพัฒนาการของเขาโดยอาจตั้งคำถามว่า อันนี้เรียกว่าอะไร ขั้นต่อมาอาจให้โจทย์เพิ่มโดยการลองให้เด็กหยิบส้มที่อยู่ในบ้าน หัดแกะเปลือกแล้วกินว่ามีรสชาติและลักษณะอย่างไรจากการสังเกตและสัมผัส หรือมีส่วนนึงที่พ่อแม่ต้องมามีส่วนร่วมผ่านบทบาทสมมติ เช่น การเล่นขายของ พ่อแม่สมมติตนเองเป็นลูกค้า ให้ลูกเป็นพ่อค้าแม่ค้า หรืออาจเชื่อมโยงกับธรรมชาติรอบๆบ้าน เช่น อาจให้ระบายสีใบไม้ด้วยการไปหยิบใบไม้รอบๆบ้านมา ก็จะทำให้เด็กเล่นสนุกมากขึ้น
นอกจากพัฒนาการด้านการเรียนรู้แล้ว กระบวนการที่พ่อแม่เลือกหรือออกแบบยังส่งผลต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ ทั้งร่างกาย อารมณ์และสังคมอีกด้วย เช่น ตัวอย่างกิจกรรมการสอนข้างต้นที่กล่าวมา หากพ่อแม่เล่นบทบาทสมมติกับลูกก็จะทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ ช่วยฝึกทักษะการสื่อสารให้กับเขา ส่วนถ้าพ่อแม่ให้ลูกวิ่งไปหยิบส้มของจริงในบ้านหรือรอบๆบ้านมาแกะเปลือกแล้วกิน การเคลื่อนไหวเล็กๆน้อยๆก็จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกายและส่งผลไปถึงอารมณ์เมื่อเด็กรู้สึกสนุก แต่สิ่งที่สำคัญเลย คือ พ่อแม่จะต้องไม่พยายามเร่งกระบวนการเหล่านี้และหวังผลลัพธ์ที่มากเกินไป ค่อยๆให้เขาได้เรียนรู้แล้วพัฒนาการของเขาก็จะเกิดขึ้นตามมาจากกระบวนการเหล่านี้เอง