อยากหนีไปให้พ้นไกล จากภัยคุกคาม
ความรู้สึกเหล่านั้นมักจะมีความหมายกับเราในเชิง “ภัยคุกคาม” หรือ “สิ่งอันตราย” เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นมีความหมายกับเราเช่นนั้น อารมณ์จะตอบสนองอย่างรุนแรงเพื่อที่จะพยายามหาวิธีที่จะเอาตัวรอด พยายามพาตัวเองให้พ้นภัย แต่เมื่อสมองติดกับดักอยู่ในส่วนของอารมณ์ มักจะทำให้เราคิดอย่างมีตรรกะและเหตุผลไม่ค่อยไหว ส่วนควบคุมสั่งการเหมือนจะถูกยึดครองไปชั่วคราว
สมองส่วนของอารมณ์นั้นอยู่ใกล้และสื่อสารได้ไวกับสมองส่วนความทรงจำและเชื่อมไปยังประสาทสัมผัส ดังนั้นเมื่อเราตื่นตระหนกหรืออยู่ในภัย สิ่งที่มักปรากฎขึ้นได้ไวมักจะมาเป็นภาพ เสียง สัมผัส ความรู้สึกกับเนื้อกับตัวที่สะเทือนและสั่นไหว ดังนั้นทุกครั้งที่เรารับรู้ถึงภัย มันก็มักจะดึงเอาสิ่งเก่า ๆ เหล่านั้นกลับมา และหากเราคว้าสิ่งเหล่านั้นมาคิดต่อ หรือยึดติดก็มักจะทำให้เราไม่สามารถพาชีวิตไปต่อได้ ยังคงย้อนกลับมาอยู่ในวังวน
“เดินทะลุผ่านไป” ไม่ใช่ “กำจัด”
สมองทำหน้าที่ที่ควรทำได้ดีคือการ ‘แจ้งเตือน’ เมื่อเจออะไรต้องสงสัยก็ส่งเสียงเตือนภัย ตอบสนองไวด้วยอารมณ์ สิ่งสำคัญไม่ใช่การปิดการเตือนภัย แต่คือการสำรวจว่าสิ่งที่เตือนเกิดจากอะไร แล้วก็จัดการกับสิ่งที่กระตุ้นตามระดับที่เหมาะสม
หากสัญญาณกันขโมยดัง เพราะมีแมวมาเดินผ่าน เราอาจจะตอบสนองกับมันสั้น ๆ ไม่ต้องใช้เวลากับมันนานมากเท่า เวลาที่สัญญาณกันขโมยดังแล้วเราเห็นคนมาป้วนเปี้ยนแถว ๆ ริมรั้ว ถ้าสัญญาณเตือนดังบ่อย ๆ เราคงไม่สามารถปิดสัญญาณแล้วสบายใจ บอกกับตัวเองไม่เป็นอะไร คงไม่มีอะไรเกิด แต่ให้หาวิธีรับมือป้องกันเตรียมไว้ และปล่อยผ่านสัญญาณเตือนภัยได้บ้าง
มีอะไรที่ควบคุมได้บ้าง จัดการได้ก่อน
ถ้าภัยนั้นเป็นสิ่งที่ลงมือทำแล้ว ความไม่แน่นอนนั้นจะชัดเจนขึ้น หรือ การฝึกซ้อมหรือเตรียมอะไรไว้ จะทำให้ภัยนั้นลดความรุนแรงได้ลง ก็ให้ทำสิ่งนั้นก่อน อาจเป็นการคิดซ้อมสถานการณ์ว่าหากเกิดขึ้นจริง เราจะทำอย่างไรบ้างเป็นลำดับ หรือการเตรียมสิ่งป้องกันหรือลดความรุนแรงไว้ เช่น เบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็นต้องใช้ กล้องวงจรปิดที่ช่วยสอดส่อง แม่กุญแจที่ช่วยล็อกได้อย่างแข็งแรงขึ้นช่วยให้เราปลอดภัย
แต่หากเป็นความกังวลใจที่ไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้ ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดไหม หากความกังวลหรือตื่นกลัวนี้กระจายเพ่นพ่านอยู่ตลอดวัน ก็อาจทำให้เราไม่สามารถทำสิ่งสำคัญที่ควรทำในระหว่างวันได้ไหว ทางที่เป็นประโยชน์มากกว่าคือการ “จัดเวลา” ให้กับความกังวลใจนั้น ๆ เพราะกังวลในเวลานี้ กับ ภายหลังอาจจะไม่ได้ให้ผลที่ต่างกันมากนัก
เช่น ในแต่ละวันเราจัดเวลาไว้ประมาณ 15 นาที ช่วงหกโมงหลังทานข้าวเย็น เพื่อที่จะนั่งคิดกังวลและเตรียมการรับมือกับเรื่องหนัก ๆ ที่คาดว่าจะเกิดนั้น หากระหว่างวันมีความคิดกังวลเรื่องนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็ให้ “เลื่อน” ออกไป จดประเด็นไว้ แล้วเตือนในใจว่าจะเก็บไว้ไปคิดช่วงหกโมงเย็น การจัดเวลาและเลื่อนออกไป จะทำให้เรายังให้ความสำคัญกับเรื่องที่เราให้ความสำคัญได้อยู่โดยไม่ทำให้ชีวิตประจำวันเราเสียไป
หากมันเป็นเสียง เป็นภาพ เป็นสัมผัสที่ติดตาฝังใจ ให้แย่งชิงความสนใจกลับมา
บางครั้งเรื่องหนัก ๆ ที่วางลงไม่ไหว ก็อาจจะยังคงเป็นภาพ เสียง สัมผัส ที่ผุดและปรากฏขึ้นมาอยู่บ่อย ๆ แล้วปล่อยไปไม่ได้สักที เราอาจจะต้องช่วงชิงความสนใจคืนกลับด้วยวิธัต่อไปนี้
5-4-3-2-1
เริ่มต้นด้วยการหลับตา หายใจยาว ๆ ลึก ๆ หายใจทางจมูก แล้วค่อย ๆ ผ่อนลมออกทางปากช้า ๆ นับ 1 2 3 ค้างไว้สักสองวินาที 1 2 แล้วหายใจออก นับ 3 2 1
จากนั้นลืมตาขึ้นมา แล้วให้พูด 5 สิ่งที่มองเห็น
โทรศัพท์มือถือ ประตู พื้น พัดลม เพดาน
จากนั้นให้เอามือไปแตะ สัมผัส ลูบ แล้วบอก 4 สิ่งที่สัมผัส ว่ารู้สึกอย่างไร
จอโทรศัพท์ลื่น ๆ พื้นสาก ๆ ผ้าห่มเป็นขุย ๆ ขน ๆ ผ้าเช็ดแว่นตาเป็นตะปุ่มตะป่ำ
จับความสนใจไปที่หู 3 สิ่งที่เราได้ยินในเวลานี้
เสียงพัดลม หึ่ง ๆ เสียงนกร้องเบา ๆ ไกล ๆ เสียงปั๊มน้ำ
สูดอากาศเข้ามา แล้วจับให้เจอ 2 กลิ่นที่จมูกได้รับ
กลิ่นแอลกอฮอล์เจลที่เพิ่งล้างมือ กลิ่นอับของห้องที่นั่งอยู่
และสุดท้าย 1 รสชาติที่ลิ้นรับรู้
รสจืด ๆ แปร่ง ๆ จากน้ำลาย
5-4-3-2-1 นี้ จะช่วยดึงความคิดและความสนใจที่ติดอยู่กับเรื่องบางเรื่องหรือภาพบางภาพ ให้กลับมาอยู่กับสิ่งรอบตัวในปัจจุบัน
การรับมือกับเรื่องหนัก ๆ และเดินผ่านให้ได้ไหว จึงไม่ใช่การพยายามกดไว้ไม่ให้คิด แต่คือการพิจารณาว่าสิ่งที่คิดมีวิธีรับมือและป้องกันอย่างไร อะไรที่เราควบคุมได้ อะไรที่เราควบคุมไม่ได้
หากสิ่งใดจัดการได้อยู่ในมือเราก็ให้ลงมือทำเพื่อลดความรู้สึกลง และอะไรทีเราคิดกลัวกังวลแต่จัดการไม่ได้ ก็ให้เลื่อนออกไปและจัดเวลาเอาไว้ให้คิด
การปลดล็อกสมองให้ออกจากการทำงานในส่วนของอารมณ์ แล้วกลับมาใช้สมองส่วนที่เป็นตรรกะและเหตุผลได้ จะช่วยให้เราตั้งหลักและสามารถคิดทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีและมีประโยชน์มากขึ้น
และสุดท้ายเราจะสามารถเดินผ่านความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ รับมือไหวกับข่าวสารเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องหนัก ๆ ที่ค้างคาใจในที่สุด