ราวๆ 600 ปีก่อน เมื่อครั้งที่โลกยังไม่รู้จัก ‘แท่นพิมพ์’ (Printing press) การเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้แก่กัน เรียกได้ว่าต้องใช้แรงกายมนุษย์ในการคัดลอกหนังสือทีละเล่ม ความรู้กลายเป็นสินค้าราคาแพงและจำกัดอยู่ในวงแคบ กระทั่งราวปี ค.ศ. 1440 มนุษย์สามารถสร้างแท่นพิมพ์ได้สำเร็จ ความรู้ถูกถ่ายทอดในราคาที่เข้าถึงคนรากหญ้า วิทยาการต่างๆ จึงมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง กระทั่งโลกมีสิ่งที่เรียกว่า กล้องส่องทางไกล เครื่องจักร โทรศัพท์ ฯลฯ มนุษย์ขึ้นไปเหยียบย่างบนดวงจันทร์ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ใช้เวลาถึง 600 ปี ก่อนที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์จากหน้ามือเป็นหลังมือได้
“ลองนึกภาพว่า พอโลกเรามีแท่นพิมพ์ คนที่เคยรับจ้างเขียนคัดลอกหนังสือที่ทุกคนต้องง้อ กลายเป็นคนตกงานไปเลย หรือพอมีเครื่องจักรกลไอน้ำ คนก็ตกงานมหาศาล จากที่เคยขับรถม้าก็ต้องมีทักษะในการขับรถไอน้ำแทน ทักษะเดิมหายไป ทักษะใหม่เข้ามา สิ่งนี้สะท้อนว่า เทคโนโลยีมันทำลายอาชีพอยู่ตลอดเวลา”
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หยิบดัชนีระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตขึ้นมาอธิบายถึงความสาหัสที่เราต้องเจอ ในโลกที่อาชีพถูกทำลายและสร้างใหม่ตลอดเวลา แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นมีอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย
มีการประมาณการว่า ช่วงประมาณปี ค.ศ. 2000-2040 โลกจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมืออีกรอบ นั่นหมายความว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านที่เคยใช้เวลายาวนานถึง 600 ปี จะถูกย่นลงมาเหลือเพียง 30 ปี เท่ากับว่าโลกหมุนเร็วขึ้น 30 เท่า อาชีพที่เคยมีอยู่จะหายไปเร็วกว่าเดิม 30 เท่า
ก่อนหน้านี้โลกค่อนข้างมีความเสถียร จนมนุษย์สามารถคาดเดาได้ว่า ทางข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เช่น เราต้องเรียนด้านไหน หลักสูตรอะไร จึงจะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคนั้น
ทว่าเวลานี้ สังคมกำลังเผชิญกับวิกฤติซ้อนวิกฤติ คือ จากความผันผวนของยุคสมัยที่เรียกกันว่ายุค ‘Disruption’ ทำให้อาชีพที่มีอยู่เดิมเกิดความปั่นป่วนโกลาหล เข้าทำนองเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป พร้อมๆ กับวิกฤติที่โถมซัดอีกระลอกคือ ‘โรคระบาด’ ที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น
“ถ้าไม่มีโควิด-19 ป้าเมี้ยนปากซอยที่ขายอาหารตามสั่งจะไม่มีทางมีไลน์กลุ่มคนในหมู่บ้าน ป้าเมี้ยนจะไม่รู้จักแอปพลิเคชันโรบินฮู้ดเลย อาจจะต้องใช้เวลาถึงรุ่นหลานป้าเมี้ยนจึงจะรู้จักสิ่งเหล่านี้ แต่ตอนนี้ป้าเมี้ยนมีทักษะทางดิจิทัลเช่นเดียวกับคนในสังคมที่ถูกดึงเข้าสู่โลกดิจิทัลแบบภาคบังคับ”
เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้น การเตรียมความพร้อมด้านอาชีพด้วยวิธีคิดแบบเดิมๆ จะยังใช้ได้ผลอยู่หรือเปล่า?
คำตอบคือ อาจจะใช่ แต่คงจะใช่ในอีกไม่กี่ปีเท่านั้น
K-Shaped Recovery คนรอดเพียงหยิบมือ คนร่วงหลายสิบล้าน
ไม่มีอาชีพถาวรรออยู่เบื้องหน้า ตลาดแรงงานกำลังเรียกร้องศักยภาพที่ต่างไปจากเดิมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ การเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ (Career Readiness) แก่เด็กและเยาวชน จึงถูกวางบนโจทย์สุดหินและยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีกเมื่อประสบกับสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากทฤษฎีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า ‘K-Shaped Recovery’ หรือการฟื้นตัวในรูปแบบตัว K
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบตัว K หรือ K-Shaped Recovery คำคำนี้เพิ่งถูกใช้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ได้เข้าไปศึกษาแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด พบว่า ภาคธุรกิจต่างๆ จะถูกแยกออกเป็น 2 กลุ่ม หนึ่ง คือกลุ่มที่สามารถฟื้นตัวได้ดี และสอง กลุ่มที่ยังฟื้นตัวไม่ได้และมีแต่จะย่ำแย่ต่อเนื่อง
ทั้งสองกลุ่มนี้เปรียบได้กับเส้นทแยงมุม 2 เส้นของตัวอักษร K ที่มีทั้งชี้ขึ้นและชี้ลง คำถามคือ ปัจจัยใดบ้างที่คอยกำหนดว่า ใครจะอยู่รอด และใครจะไม่ได้ไปต่อ เราจะมาหาคำตอบกันผ่านทฤษฎี K-Shaped ทั้ง 4 ด้าน ดังนี้
- K-Shaped ด้านธุรกิจ
หลังการระบาดของโควิด-19 ประมาณ 1 ปี นักวิชาการจำนวนหนึ่งได้เข้าไปศึกษาภาคธุรกิจ พบว่า ทุกธุรกิจมีทั้งโอกาสรอดและโอกาสร่วงไม่ต่างกัน โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจรอด คือ ‘การปรับตัว’
“เมื่อก่อนเรามีคำว่า Red Ocean คือ กลยุทธ์น่านน้ำสีแดง ที่เกิดจากการแข่งขันของธุรกิจผ่านสงครามราคา (Price War) หรือการตัดราคาเพื่อแย่งลูกค้าจนทำให้ทุกฝ่ายต้องเสียเลือด จากนั้นก็มีแนวคิดตามมาว่า เราไปหาน่านน้ำสีคราม หรือ Blue Ocean (ตลาดใหม่ที่ยังไม่มีใครบุกเบิก) ดีกว่า แล้วฉันจะไปอยู่ในโลกที่แตกต่าง ที่ไม่มีใครแข่งกับฉัน แล้วฉันจะอยู่ได้”
ทว่าแนวคิดนี้ประสบความสำเร็จได้ไม่นานนัก เพราะแต่เดิมการลอกเลียนแบบทางธุรกิจยังเป็นเรื่องยาก แต่ปัจจุบันโลกมีเทคโนโลยี มีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ทำให้การก๊อบปี้ธุรกิจกลายเป็นเรื่องง่าย Blue Ocean จึงถูกเทคโนโลยีดิสรัปโดยสมบูรณ์ และนำไปสู่แนวคิดใหม่ที่เรียกว่า Ocean Hopping
‘Ocean Hopping’ คือลักษณะของธุรกิจที่กระโดดไม่หยุด แล้วผู้คนก็จะกระโดดตามไปเรื่อยๆ เป็นธุรกิจที่มีความคล่องตัว ไม่หยุดอยู่กับที่ มีความพร้อมในการคว้าโอกาสและปรับตัวสู่สิ่งใหม่อยู่เสมอ
“ขณะเดียวกัน การที่ธุรกิจจะกระโดดแต่ละครั้ง เขาต้องกระเตงคนไปด้วย แต่หากคนไปด้วยไม่ได้ เขาทิ้งเลยนะ แล้วไปใช้อย่างอื่นแทน เขาจะมองเฉพาะคนที่จะกระเตงไปด้วยได้ เขาต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปเรื่อยๆ เพื่อหนีการแข่งขัน มันจึงไม่ใช่ธุรกิจประเภทว่า เราขายของ แล้วเราจะทำธุรกิจนี้ไปตลอดชีวิต หากแต่ธุรกิจจะต้องดิสรัปตัวเองเพื่ออยู่รอด เพราะมีคนไล่กวดหลังตลอดเวลา”
กลายเป็นว่า ธุรกิจที่สามารถฟื้นตัวและกระโดดขึ้นสู่เส้นทแยงด้านบนของตัวอักษร K-Shaped ได้ คือธุรกิจแบบ Ocean Hopping ยิ่งในโลกยุค 4.0 โอกาสทางธุรกิจมีลักษณะตั้งอยู่และดับไปเร็วกว่าเดิม ฉะนั้น ธุรกิจเหล่านี้จึงต้องมีความเร็วในการคว้าโอกาสและเดินทางไปต่อเพื่อคว้าโอกาสใหม่ข้างหน้า
ประเด็นคือ ธุรกิจประเภทนี้จะกระเตงแรงงานคนไปด้วยน้อยมากเช่นกัน นั่นเพราะไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะกระโดดไปกับธุรกิจ เมื่อธุรกิจเลือกคน ตลาดแรงงานจึงได้รับผลกระทบตรงๆ และรุนแรง
“เรียนจบมาแล้วใช่ว่าเขาจะรับทันที จบมาแล้วอาจถูกการประเมินที่เข้มข้น ไม่ใช่แค่วุฒิการศึกษา แต่ด้วยทุนมนุษย์ที่ว่าคุณสามารถไปต่อได้ไหม มากกว่านั้น ทุนมนุษย์หรือทักษะที่เด็กมีอยู่นั้น ยืดหยุ่นพอที่จะกระโดดไปกับธุรกิจนั้นๆ ได้ไหม ธุรกิจจะมองแบบนี้”
- K-Shaped ในตลาดแรงงาน
“คนที่พร้อมในยุคสมัยนี้ ไม่ใช่คนที่มีปริญญา แต่ต้องมีความคล่องตัวด้านอาชีพ มีความพร้อมที่จะดิสรัปอาชีพของตัวเองตลอดเวลาเพื่อไปกับธุรกิจที่ปรับตัวได้”
การปรับตัวคือทักษะที่สำคัญ มิเช่นนั้น เราจะเข้าสู่สภาวะที่มีแรงงานเพียง 2 กลุ่มเท่านั้นที่กลายเป็นผู้รอด โดยกลุ่มแรก เกียรติอนันต์เรียกว่า ‘ซูเปอร์เป็ด’ หมายถึงกลุ่มคนที่มีความรู้รอบด้าน และรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะดึงศักยภาพออกมาใช้เพื่อทำให้ตัวเองเเกร่งขึ้น กระทั่งกลายเป็นซูเปอร์เป็ดในด้านนั้นๆ
กลุ่มที่สองคือ ‘Jobs Innovators’ หมายถึงกลุ่มคนที่สามารถสร้างงานได้ในแบบที่คนทั่วไปคิดไม่ถึง เช่น รับจ้างงานเอนเตอร์เทนโดยการไปอ่านหนังสือให้คนฟัง คนทั้งสองกลุ่มนี้จะกลายเป็นผู้รอด โดยทิ้งห่างคนจำนวนมหาศาลไว้ที่หางของตัว K-Shaped เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ตามมาคือ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้
- K-Shaped ด้านรายได้
เมื่อผู้คนมีรายได้น้อย สวนทางกับความเหลื่อมล้ำที่มาก คนกลุ่มนี้จะพ่ายแพ้ต่อสภาพแวดล้อม กระทั่งว่าเมื่อเขามีลูกหลาน ก็ยิ่งมีเงินลงทุนด้านการศึกษาน้อยลง
เกียรติอนันต์ขีดเส้นใต้ไว้ว่า ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ของคนคนหนึ่งจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากเขาต้องทำงาน 5 งาน เพื่อหาเงินให้ได้เท่าเดิมในโลกยุคนี้ เขาจะทำได้อย่างไรหากต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อเลิกงานอีกทีตอน 5 ทุ่ม ลำพังการเอาตัวรอดให้ได้ยังเป็นเรื่องยาก การเรียกร้องให้คนกลุ่มนี้ต้อง Upskill (เพิ่มเติมทักษะ) หรือ Reskill (เปลี่ยนทักษะ) ของตัวเอง จึงเป็นเพียงอุดมคติเท่านั้น
ด้วยสภาพเช่นนี้ สิ่งที่อยู่ปลายทางของทางออกคือ K-Shaped ‘การศึกษา’
- K-Shaped ด้านการศึกษา
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Lifelong Learning กลายเป็นอภิสิทธิ์ของคนที่อยู่ด้านบนของเศรษฐกิจ นั่นเพราะเขาเหล่านั้นสามารถ Lifelong Learning ได้ง่ายว่า มีต้นทุนต่ำกว่า มีงบประมาณในการเรียนมากกว่า กลายเป็นว่า K-Shaped ยิ่งถ่างกว้างขึ้น
“คนที่ไม่พร้อมจะถูกกดลงเรื่อยๆ ทุนมนุษย์ของตัวเองก็จะเสื่อมเร็วขึ้น เพราะตลาดแรงงานไม่ต้องการ นึกภาพว่า เขาตกงานแล้วจะไปทำอะไร จำนวนมากไปเป็นไรเดอร์ ถามว่าการเป็นไรเดอร์นั้นทำให้เหลือทุนมนุษย์เพื่อไปทำอาชีพอื่นๆ ได้อีกไหม คำตอบคือ แทบจะไม่มีเลย”
ท้ายที่สุด คนกลุ่มนี้จะถูกบีบให้ทำงานเพียงเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น และเป็นงานที่ไม่สร้างทุนมนุษย์ต่อเนื่อง การไปต่อในระยะยาวจึงเป็นเรื่องยาก และเมื่อเขามีรายได้น้อย เวลาน้อย การฟูมฟักเด็กรุ่นใหม่ในครอบครัวจึงยิ่งลำบาก และผลักให้เด็กกลายเป็นภาระของโรงเรียน ขณะเดียวกัน โรงเรียนก็ใช่ว่าจะมีความพร้อมอย่างเสมอหน้า
“เรามักชอบพูดว่าให้จัดการศึกษาแบบ Area-based หรือ ใช้ชุมชนเป็นฐาน แต่หากชุมชนนั้นมีลักษณะอยู่ด้านล่างของตัว K ทรัพยากรในการจัดการเรียนรู้ของชุมชนก็จะต่ำลง ชุมชนเองก็พยายามจะเอาตัวรอดกันทุกคน ทุนทางสังคมก็น้อยลง แล้วเราจะบอกให้ทุกคนมาร่วมกันจัดการเรียนรู้เพื่อเด็ก เขาทำไม่ทันหรอก เพราะเขามีเรื่องที่สำคัญกว่าต้องทำ ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งหนักหน่วงเข้าไปอีก”
ด้วยเหตุนี้ แนวคิดเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ หรือ Career Readiness จึงวางอยู่บนโจทย์ที่ซับซ้อน การหาทางออกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งสำคัญสำหรับเกียรติอนันต์คือ การเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชน ไม่ควรวางอยู่บนหลักคิดของการมุ่งไปสู่อาชีพใดอาชีพหนึ่ง แต่ต้องเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อให้เด็กทุกคนสามารถปรับตัวได้ในโลกของตลาดแรงงาน พร้อมที่จะคว้าอาชีพใดก็ตามที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น แล้วสามารถเดินต่อได้แม้ว่าอาชีพหรือโอกาสนั้นจะหายไป
อ้างอิง