นวัตกรรมทางการเงิน (Innovative Finance) คืออะไร
นวัตกรรมทางการเงินเป็นกลไกการระดมเงินทุนที่แตกต่างจากรูปแบบการเงินแบบดั้งเดิม โดยอำนวยให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีความสนใจในการให้เงินทุนเพื่อการศึกษาที่หลากหลายมากขึ้น และสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ เพื่อการพัฒนา
NORRAG ได้สรุปจุดสังเกตนวัตกรรมทางการเงินด้วยคุณสมบัติ 3 ด้าน คือ 1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์/วิธีการใหม่ๆ เพื่อใช้ในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาทางสังคมหรือเศรษฐกิจ 2) การประยุกต์ใช้เครื่องมือ/วิธีการในตลาดใหม่ โดยเฉพาะเครื่องมือที่ทดลองใช้แล้วและเป็นที่ยอมรับในภาคส่วนหรือประเทศอื่นๆ มาปรับใช้ เช่น การออกสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อระดมทุนให้แก่ภาครัฐในประเทศที่ยังไม่เคยดำเนินการมาก่อน และ 3) ดึงดูดผู้มีส่วนร่วมหน้าใหม่ ซึ่งอาจรวมถึงกลุ่มนักลงทุนในตลาดทุน ภาคเอกชน หรือกลุ่มผู้บริจาคในระดับนานาประเทศ เป็นต้น
ประโยชน์ของนวัตกรรมทางการเงินมีอะไรบ้าง
NORRAG กล่าวสรุปเพิ่มเติมถึงผลประโยชน์ของนวัตกรรมทางการเงินเพื่อการพัฒนาเป็น 3 ด้าน คือ 1) การระดมทรัพยากรเพิ่มเติม และอาจไม่สามารถเข้าถึงได้มาก่อน เช่น Apple ที่เป็นแบ่งส่วนกำไรจากการขายสินค้า Product Red เพื่อการกุศล2) มีตัวกลางในการระดมทุน ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยลดค่าใช้จ่ายและกระจายความเสี่ยงระหว่างผู้มีส่วนร่วม 3) เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินโครงการ โดยการปรับปรุงตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพการทำงาน (Performance metrics) จัดระบบให้มีความโปร่งใสเพิ่มขึ้น รวมถึงการสร้างแรงจูงใจที่สอดคล้องตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์โครงการ และการมีระบบประสานงานของผู้ส่วนร่วมทุกฝ่ายที่มีประสิทธิภาพ
ทำไมต้องพัฒนานวัตกรรมทางการเงินทางการศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ผลงานวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (National Education Accounts: NEA) ชี้ว่า ในปี 2561 ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนด้านการศึกษาในไทยมากที่สุดเป็นวงเงิน 618,427 ล้านบาท หรือ 76% ของการลงทุนทั้งหมด แต่การจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในปีงบประมาณ 2561 มีเพียง 18,683 ล้านบาท หรือราว 3% ตลอดจนยังมีแนวโน้มการลงทุนที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2559 ที่จำนวน 28,000 ล้านบาท
การจัดสรรงบประมาณเพื่อการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีอยู่จำกัด เมื่อเทียบขนาดของปัญหาของจำนวนนักเรียนที่ด้อยโอกาสจากเศรษฐฐานะของผู้ปกครองที่มีมากถึง 30% ในระบบการศึกษา อัตราการหลุดออกจากอัตราการศึกษาที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษาระหว่างโรงเรียนในพื้นที่เมืองและชนบท สะท้อนให้เห็นว่า ในการขับเคลื่อนวาระด้านความเสมอภาคทางการศึกษายังต้องอาศัยข้อมูล ตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อประกอบการกำหนดนโยบาย โครงการและเครื่องมือที่มุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์และการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็วและยั่งยืน ซึ่งบางส่วนสามารถนำนวัตกรรมทางการเงินมาใช้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการข้างต้นนี้ได้
ตัวอย่างของนวัตกรรมทางการเงินเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ทุนเสมอภาค (Conditional Cash Transfer: CCT) เพื่อการสนับสนุนค่าครองชีพ ค่าอาหาร และค่ากิจกรรมการพัฒนานักเรียนทุนเสมอภาค ให้แก่นักเรียนด้อยโอกาส (ด้านเศรษฐฐานะ) และมีผลการเข้าเรียนมากกว่า 80% ที่ กสศ. ร่วมกับ สพฐ. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 เป็นตัวอย่างของการประยุกต์ใช้เครื่องมือที่ได้มีผลการใช้งานที่ดีในต่างประเทศ (โครงการ Bolsa Familia ของบราซิล) โดยการสนับสนุนทุนจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำงานหรืออัตราการเข้าเรียนของนักเรียน ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายโครงการที่ต้องการให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวคงอยู่ในระบบได้นานมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ กสศ. ยังได้ศึกษาวิจัยถึงนวัตกรรมทางการเงินอื่นๆ และวิเคราะห์ถึงการปรับใช้การดำเนินภารกิจด้านความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact Investment) การระดมทุนจากฝูงชนผ่านคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) การค้ำประกัน (Guarantee) การแปลงหนี้เพื่อการพัฒนา (Debt for development swaps) และพันธบัตรเพื่อการศึกษา (Education Bond) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เนื่องจากบริบทของการดำเนินโครงการ/นวัตกรรมที่แตกต่างกัน การปรับใช้นวัตกรรมทางการเงินจึงต้องคำนึงถึงบริบทสภาพแวดล้อมของการทำงาน เพื่อให้นวัตกรรมสามารถตอบโจทย์ที่เจาะจงได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดึงดูดทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆ การปรับปรุงประสิทฺธิภาพการทำงาน หรือการหาวิธีการที่มุ่งเน้นประสิทธิผลของโครงการที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
วิดีโอต่อไปนี้เป็นที่อธิบายถึงกลไกการทำงานของตัวอย่างนวัตกรรมทางการเงินเพื่อการศึกษาที่สามารถช่วยระดมทุนและตอบสนองความท้าทายด้านการศึกษา 3 ตัวอย่าง คือ Crowdfunding, Social Impact Investment และ Education Bond