จากตัวเลขของกระทรวงศึกษาธิการที่ออกมาเปิดเผยล่าสุดว่ามีเด็กกว่า 240,000 คน ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ที่แม้จะตามกลับมาได้กว่า 100,000 คน ก็ยังเหลืออีกกว่า 100,000 คน ที่ยังไม่สามารถดึงกลับมาเข้าระบบได้นั้น ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มองว่า เป็นตัวเลขที่น่ากังวล รวมทั้งที่ผ่านมาก็ไม่เคยปรากฏภาพที่กระทรวงศึกษาธิการออกมาเปิดเผยตัวเลขในลักษณะนี้ ซึ่งเห็นว่าในจำนวนกลุ่มเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากที่สุดเป็นเด็กที่อยู่ในช่วงรอยต่อ อย่างเด็ก ป.6 ขึ้น ม.1 หรือเด็ก ม.3 ขึ้น ม.4 ที่ต้องเปลี่ยนสถานศึกษา ทำให้ครูติดตามตัวเด็กได้ยาก รวมทั้งยังเชื่อว่าก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด มีเด็กบางส่วนที่มีความคิดจะไม่เรียนหนังสือ และเมื่อเจอกับสถานการณ์โควิดก็ยิ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้ตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้น
ดร.ภูมิศรัณย์ ยังกล่าวในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่าน คลับเฮ้าส์ หัวข้อโตมากับจอ กะเทาะปัญหาการศึกษาไทย ระบุว่าปัญหาที่เกิดกับเด็กจากการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิดนอกจากจะเป็นเรื่องความไม่พร้อมในการเรียนแล้ว ยังพบว่าเด็กส่วนใหญ่เกิดความเครียดที่ส่งผลในระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ต้องเป็นกำพร้า เนื่องจากพ่อแม่ ผู้ปกครองเสียชีวิตจากโควิด ซึ่งในประเทศไทยมีตัวเลขผู้เสียชีวิตประมาณ 20,000 ราย ก็ทำให้มีเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 500 คน ทำให้เด็กในกลุ่มวัยเรียนได้รับผลกระทบโดยตรง
สำหรับสารคดี “โตมากับจอ” ที่สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนภาพปัญหาทางการศึกษาต่อสังคมนั้น ดร.ภูมิศรัณย์ เชื่อว่าอาจได้ผลมากกว่างานวิชาการต่างๆ เพราะมองเห็นภาพปัญหาอย่างชัดเจนจากการเรียนออนไลน์ ที่มีทั้งด้านดีและไม่ดี จึงเห็นว่าการจะหาทางออกให้กับปัญหาด้านการศึกษาไทยควรเริ่มจากการปรับปรุงที่ระบบ ซึ่งควรให้มีทั้งการเรียนออนไลน์และเรียนออนไซต์ผสมผสานกันไป รวมทั้งให้ผู้บริหารโรงเรียน และครูซึ่งมีความใกล้ชิดกับเด็ก ได้มีอำนาจในการตัดสินใจแก้ปัญหา โดยจากวิกฤตโควิดยังพบด้วยว่าเด็กสามารถปรับตัว มีความถนัดในการเรียนออนไลน์มากขึ้น แม้จะยังมีเด็กกลุ่มเปราะบางที่อาจมีปัญหาหากอนาคตมีการเรียนแบบผสมผสาน ก็ถือเป็นโจทย์หลักที่บุคลากรทางการศึกษาต้องร่วมกันหาจุดกึ่งกลางของเด็กนักเรียนทั้งกลุ่มที่มีความพร้อมและไม่พร้อม โดยเน้นความสำคัญไปที่กลุ่มด้อยโอกาสทางการศึกษาเป็นหลัก
ด้าน ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองประธานมูลนิธิ Thai Civic Education ตั้งคำถามถึงประเด็นปัญหาด้านการศึกษาของเด็กจากวิกฤตโควิดว่า ผู้ที่มีอำนาจที่แท้จริงที่ควรรับผิดชอบ ดูแล วางแผน และออกแบบระบบการเยียวยาได้ใช้ความรู้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมาการศึกษาไทยเกิดปัญหาเชิงระบบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นอำนาจตัดสินใจเมื่อเกิดปัญหาเฉพาะหน้า แม้จะบอกว่าเป็นการบริหารงานแบบกระจายอำนาจ แต่กลับไม่มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ยังคงเป็นการทำงานภายใต้วัฒนธรรมของการไม่เชื่อใจกัน ทำให้บุคลากรทางการศึกษาที่ใกล้ชิดกับเด็ก ยังต้องใช้วิธีการรายงานด้วยเอกสารเช่นในอดีต
ทั้งนี้ยังมองทางออกของปัญหาระบบการศึกษาไทยว่าเกิดจากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ยอมรับว่าเป็นปัญหา ซึ่งกว่า 2 ปีที่ผ่านมาจากวิกฤติโควิดเด็กส่วนใหญ่ต่างมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองแล้ว เด็กบางส่วนไม่สื่อสารกับครู ทำให้แม้เด็กที่ยังอยู่ในระบบก็ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากโรงเรียนไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือเด็กเป็นรายบุคคลได้ จึงมองว่าหากรัฐจะแก้ปัญหาด้วยเงินเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบด้านด้วย
ขณะที่คุณมิรา เวฬุภาค หรือแม่บี ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง mappa และ Flock Learning ในอีกมุมยังเป็นคุณแม่ ที่เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิดอย่างชัดเจน มองว่าตลอดเวลาที่เกิดปัญหา ผู้ปกครองต่างก็ต้องปรับตัว ด้วยการให้ความช่วยเหลือกันเอง ส่วนการมองหาทางออกในการแก้ปัญหานี้นั้น กลับเห็นว่าเด็กหลายคนที่มีปัญหา ไม่ใช่เพียงเรื่องการเรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาครอบครัวด้วย ในขณะที่ระบบการศึกษากลับเพียงกังวลว่าเด็กจะเรียนไม่ทันเท่านั้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงไม่ยกเลิกการสอบต่างๆ ที่มองว่าเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่สร้างขึ้นมาเท่านั้น โดยเห็นว่าระบบการศึกษาไทยขณะนี้เหมือนการให้เด็กวิ่งไล่ตามสิ่งสมมุติ
ทั้งนี้หากมองในมุมมองของเด็ก อย่างน้องวิว มุกริน ทิมดี นักศึกษาที่ต้องหยุดเรียนออนไลน์จากภาวะความไม่พร้อมก็เห็นว่าเด็กทุกคนที่มีภาวะไม่พร้อมต่างก็อยากได้ทุนการศึกษา อยากได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์การเรียนจากภาครัฐ เพราะเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความฝัน อย่างน้องวิวเองก็ฝันที่จะเป็นครู รับราชการ หวังใช้สวัสดิการดูแลแม่ในอนาคต แต่จากวิกฤตโควิดครั้งนี้ ทำให้น้องวิวต้องแบ่งความฝันไปอีกเส้นทาง คือการออกมาทำงานอาชีพรับจ้างรีดผ้า ซึ่งเป็นอาชีพเดิมของครอบครัว เพราะมองว่าเป็นชีวิตจริงที่สร้างรายได้ให้ครอบครัวมีกิน มีใช้ในแต่ละวัน
การสร้างสารคดี “โตมากับจอ” นี้ นอกจากจะเป็นการใช้หนังเพื่อเปลี่ยนความคิด นำปัญหาที่เกิดขึ้นมาเชื่อมโยงกับปัญหาแล้ว ยังถือเป็นการเชื่อมต่อความรู้สึกร่วมของการเป็นมนุษย์ด้วย ส่วนภาครัฐจะมองแนวทางในการแก้ปัญหานี้อย่างไร หรือนำไปปรับปรุงระบบมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่ว่าจะการมองภาพสะท้อนของปัญหาทางการศึกษาได้ชัดเจนเพียงใด