ท่ามกลางการเฉลิมฉลองเทศกาล Pride month ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศตลอดเดือนมิถุนายน กระแสการรณรงค์เรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศถูกจุดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม หนึ่งในนั้นคือแคมเปญจากกลุ่มสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้ประกาศยกเลิกใช้คำนำหน้าระบุเพศภายในองค์กรของสภานักศึกษาฯ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ด้วยเจตนารมณ์เพื่อโอบรับความหลากหลายทางเพศบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน
การประกาศจุดยืนครั้งสำคัญในนามองค์กรนักศึกษา คือสิ่งที่ Equity lab ได้พูดคุยกับ วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นักศึกษาคณะนิติศาสตร์และประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีการศึกษา 2565 ในฐานะผู้ลงนามในประกาศสภานักศึกษาฯ เรื่องยกเลิกการใช้คำนำหน้าระบุเพศ
จากประสบการณ์การต่อสู้บนท้องถนน ชายหนุ่มขยับเข้าสู่การเคลื่อนไหวภายในสถาบันการศึกษาเพื่อส่งเสียงในนามนักศึกษา โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย
จุดเริ่มต้นและกระบวนการการผลักดันการยกเลิกใช้คำนำหน้าระบุเพศ
จริงๆ ต้องเท้าความกลับไปตอนรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสภานักศึกษาฯ ซึ่งแทบจะเป็นฉันทามติของกลุ่มผู้สมัครรับเลือกตั้งเลยว่า เราจะผลักดันประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ฉะนั้นเราจึงได้เห็นนโยบายนี้แทบจะทุกกลุ่มของผู้สมัครสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและกระแสตอบรับทั้งภายในและภายนอกมหาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่นเองเคยมีการผลักดันเรื่องนี้มาก่อน แต่ต้องชะงักไว้เนื่องด้วยสถานการณ์ทางการเมือง จึงยังทำไม่สำเร็จ
สำหรับกระบวนการทำงาน หลังจากวางแผนโครงร่างนโยบายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศแล้ว สภานักศึกษาฯ ได้แจกแบบสำรวจไปยังคณะต่างๆ ประมาณ 22 คณะ โดยให้นักศึกษาตอบแบบสอบถามเรื่องการแต่งกายชุดพระราชทานปริญญาบัตร การแต่งชุดไปรเวท ชุดนักศึกษา รวมไปถึงเรื่องสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี จนมาถึงคำนำหน้าระบุเพศ ซึ่งได้ออกประกาศเพื่อให้สภานักศึกษาฯ เป็นพื้นที่นำร่องของกิจกรรมนี้ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยประกาศในวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งเป็น Pride month ด้วยความตั้งใจที่จะจุดกระแสขึ้นมาเพื่อให้องค์กรต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ เพราะนี่เป็นสิ่งพื้นฐานที่สามารถแก้ไขได้เลย มันเป็นปัจจัยที่อาจจะไม่ได้แตะเรื่องโครงสร้างเสียทีเดียว แต่เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสาร เราจะเริ่มจากตรงนี้เพื่อให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่มันใหญ่ขึ้นในเรื่องโครงสร้างของความเท่าเทียมทางเพศ
มหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในกระบวนการครั้งนี้อย่างไรบ้าง
ต้องพูดตรงๆ ว่าทางมหาวิทยาลัยรวมไปถึงระบบราชการยังไม่ได้ตระหนักถึงประเด็นความเท่าเทียมทางเพศเลย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เกิดขึ้นได้เพราะการเรียกร้องของนักศึกษาทั้งสิ้น ถ้าไม่มีคนไปร้องเรียน มหาวิทยาลัยเองก็ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้สักเท่าไหร่ เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องหลักที่ต้องทำ แต่จริงๆ นี่คือเรื่องพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยควรจะต้องทำ เมื่อสภานักศึกษาฯ เริ่มดำเนินเรื่อง มหาวิทยาลัยแทบไม่ได้มีส่วนร่วมในเรื่องนี้เลย เราแทบไม่ได้รับการยอมรับใดๆ จากผู้บริหาร อาจจะมีบางท่านที่สนับสนุน แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
กระแสตอบรับจากนักศึกษาและมหาวิทยาลัยต่อประกาศฯ ฉบับนี้เป็นอย่างไร
เราได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดีจากนักศึกษา อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือคนในองค์กรสภานักศึกษาฯ เกิดการเรียนรู้และการปรับตัว มีการศึกษาทำความเข้าใจเรื่อง gender มากขึ้น เพราะเรื่องนี้เพิ่งจะเป็นกระแสเรียกร้องในสังคมภายในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงทำให้ทุกคนต้องปรับตัว ผมรู้สึกว่าทุกคนมีความระมัดระวังมากขึ้นในการทำงานร่วมกัน เคารพและให้เกียรติกันบนพื้นฐานของความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น ผลลัพธ์อีกอย่างก็คือ มีอาจารย์หลายๆ ท่านที่แสดงออกว่าเห็นด้วยกับแนวทางนี้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์ที่ยังไม่ได้มีอำนาจในองค์กรมากเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี
คิดว่าในอนาคตจะมีกระแสตอบรับที่เพิ่มขึ้นจากหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ในมหาวิทยาลัย อาจจะต้องรอกันนิดหนึ่ง เพราะเดิมทีนโยบายนี้ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผมว่าคนที่จะประกาศใช้ก็คงต้องใช้ความกล้าหาญพอสมควร
‘ความเท่าเทียม’ ในความหมายของคุณคืออะไร และครอบคลุมมิติใดบ้าง
ถ้าให้พูดถึงความเท่าเทียม ก่อนอื่นต้องเชื่อก่อนว่าคนทุกคนเท่ากัน ความเท่าเทียมที่ว่านี้ เราจะต้องมองเห็นภาพร่วมกันว่า ไม่ว่าจะมีสภาพร่างกายอย่างไร เป็นเพศอะไร หรือทำงานอะไร นี่ไม่ใช่ปัจจัยที่จะต้องมาคุยกันเลย ในแง่ของความเป็นมนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ซึ่งผมมองว่าครอบคลุมอยู่ 4 ประเด็น หนึ่งคือเรื่องศักดิ์ศรี ที่ได้ถูกรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชน สองคือเรื่องสวัสดิการ มนุษย์ทุกคนต้องได้รับสวัสดิการจากฐานสวัสดิการที่เท่าเทียมกัน สามคือเรื่องสิทธิทางกฎหมาย กฎหมายจะต้องคุ้มครองมนุษย์ทุกคนอย่างเสมอภาคกัน สี่ก็คือเศรษฐกิจ มนุษย์ทุกคนจะต้องได้รับการกระจายเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน นี่คือนิยามความเท่าเทียมสำหรับผม เรื่องเพศก็เป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่เรื่องสวัสดิการและเรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจต่อไป
ความเท่าเทียมทางเพศช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างไร
แต่เดิมเราเข้าใจว่าสังคมมีแค่ระบบ 2 เพศ คือชายและหญิง โครงสร้างในสังคมจำนวนมากก็อยู่ภายใต้โครงสร้างของระบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นกฎเกณฑ์ในการทำงาน รวมไปถึงระบบต่างๆ ที่ครอบคลุมบริบทของสังคม สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันคือระบบ 2 เพศ เป็นสิ่งที่ไม่ควรมีอีกแล้วในสังคมสมัยใหม่ ไม่ว่าตอนเกิดมาคนคนนั้นจะถูกระบุว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง
เราต้องเข้าใจว่าต้นทางของปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นเกิดขึ้นเพราะความแตกต่าง และที่ผ่านมาผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องอยู่ในบริบทของสังคมที่ใช้ระบบ 2 เพศ ยิ่งถ้าเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นชนชั้นแรงงานยิ่งเหลื่อมล้ำกว่าเดิม เพราะไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิทางกฎหมายได้เลย
ฉะนั้นการที่จะลดช่องว่างตรงนี้ ผมคิดว่าเรื่องการยกเลิกการระบุเพศชายและหญิงให้เหลือเพียงแค่การเป็นบุคคล จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งในเรื่องของกฎหมายและเรื่องสวัสดิการ การจะลดความเหลื่อมล้ำได้ต้องสร้างมิติความเท่าเทียม แก้ไขกฎหมายและปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง รวมถึงปฏิรูปโครงสร้างของรัฐราชการ เพราะกลไกการขับเคลื่อนรัฐในตอนนี้คือราชการ ถ้าราชการไม่ปฏิรูปเรื่องความเท่าเทียมทางเพศด้วยก็จะเป็นปัญหาในการสร้างความเสมอภาค
นอกเหนือจากเรื่องสิทธิทางเพศ ได้มีการดำเนินการเพื่อสิทธิของนักศึกษาอะไรอีกบ้าง และในกระบวนการเหล่านั้นมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด
ประเด็นที่เพิ่งมีในปีการศึกษานี้หลังจากผมได้รับการเลือกตั้งก็คือ เราได้มีการตั้งกรรมาธิการเรื่องการดูแลนักศึกษาผู้พิการ ซึ่งถ้าพูดถึงสัดส่วนจำนวนนักศึกษาผู้พิการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น แน่นอนว่ามีเป็นจำนวนน้อยมากๆ แต่เราไม่สามารถปล่อยปละละเลยหรือไม่สนใจนักศึกษาเหล่านี้ได้ แม้ว่าเขาจะมีอยู่ 1-2 คน จากจำนวนนักศึกษา 30,000 กว่าคนก็ตาม เราจำเป็นที่จะต้องดูแลเรื่องสิทธิและสวัสดิการของเขาให้เท่ากับคนอื่นๆ มองง่ายๆ คืออย่างเรื่องทางเท้าในมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ยังเป็นปัญหาของผู้พิการ เขาไม่สามารถจะใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้เลย จะต้องมีศูนย์ในการรับส่งตลอด ลองคิดดูว่าแค่เรื่องทางเท้าในมหาวิทยาลัยยังไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมได้เลย ไหนจะเรื่องต้นทุนทางสังคมที่ผู้พิการต้องมีรายจ่ายทางสังคมที่สูงกว่าคนอื่นมากๆ แต่มหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่ได้มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับให้แก่นักศึกษาผู้พิการสักเท่าไหร่ แนวทางที่มีตอนนี้เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าเสียมากกว่า เพราะหากมองถึงโครงสร้างของมหาวิทยาลัยเองก็ยังไม่ได้เอื้อและไม่ได้โอบรับความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ คนชายขอบหรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สภานักศึกษาฯ มองว่าเรื่องเหล่านี้ควรถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในการทำงาน จึงได้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษารายงานผลกระทบต่างๆ ผลักดันประเด็นนี้ให้รับการแก้ไขต่อไป เราเชื่อว่าเสียงของนักศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เราจ่ายค่าเทอมมาเรียน ผู้พิการก็จ่ายค่าเทอมมาเรียนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเขาจะต้องได้รับสวัสดิการเพื่อตอบรับกับการใช้ชีวิตของเขา
สภานักศึกษาฯ มีอำนาจขอบเขตในการดูแลด้านสิทธิและความเป็นอยู่ของนักศึกษาอย่างไรบ้าง
เบื้องต้นสภานักศึกษาฯ มีอำนาจหน้าที่ในการเข้าถึง ช่วยเหลือ ดูแลนักศึกษาทุกคนในมหาวิทยาลัย อันนี้ถูกกำหนดไว้ในประกาศของมหาวิทยาลัยอยู่แล้วว่าจะต้องพิทักษ์สิทธิ์และสวัสดิการของนักศึกษา เป็นหน้าที่ซึ่งถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ขอบเขตในการทำงานขององค์กรนักศึกษาก็ยังถูกกดทับด้วยอำนาจของผู้บริหาร แต่ผมยังเชื่อว่าองค์กรนี้สามารถมีอำนาจและบทบาทหลายๆ อย่างได้ นั่นคือการส่งเสียงที่ดังขึ้นเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ควรจะได้รับ ผมเชื่อว่านี่เป็นปัจจัยสำคัญมากๆ ที่จะช่วยให้เกิดการผลักดันและเกิดความเปลี่ยนแปลง
หลายๆ ครั้งในการจัดกิจกรรม สภานักศึกษาฯ ต้องขออนุมัติจากผู้บริหาร ซึ่งมักจะติดเงื่อนไขต่างๆ ตามประกาศของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งถ้าสภานักศึกษาฯ ประสงค์ที่จะทำก็ต้องทำโดยไม่ใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัย ในบางครั้งการดำเนินการต่างๆ จึงขาดปัจจัยเรื่องงบประมาณ ผมมองว่านี่เป็นปัญหาในเชิงเทคนิค แต่ในเรื่องของเสียงผมเชื่อว่าสภานักศึกษาฯ มีเสียงที่ดังพอ เมื่อเราได้มีโอกาสเข้าไปพูดในที่ประชุมซึ่งมีผู้บริหารอยู่ด้วย เขาก็น่าจะต้องฟังและเก็บไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
เป้าหมายสูงสุดที่อยากทำในฐานะประธานสภานักศึกษาฯ คืออะไร
จริงๆ เป็นความตั้งใจตั้งแต่ก่อนจะมาลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว คืออยากจะสร้างสังคมให้เป็นแบบใหม่ เป็นสังคมที่เท่าเทียมกันและจะทำให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งสวัสดิการ นี่คือสิ่งที่เป็นความฝันสูงสุดเลย อยากทำให้นักศึกษาในฐานะมนุษย์ได้รู้สึกว่าอยู่ในรั้วมหาลัยแล้วมันเท่ากัน ไม่รู้สึกว่ามีความเหลื่อมล้ำแบบนี้ ตัวผมเองอาจจะเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจน้อย แต่เพื่อนของผมที่นั่งเรียนอยู่ข้างๆ เขาจะต้องไปกู้ กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) เราอาจจะเข้ามหาวิทยาลัยมาด้วยการที่ทุกคนนับหนึ่งเท่ากัน แต่พอเรียนไปเรื่อยๆ ขณะที่ผมก้าวไปข้างหน้า เพื่อนผมกลับถอยหลังติดลบ นี่คือสิ่งที่เห็นแล้วมันรู้สึกหดหู่
พื้นที่ที่ความเท่าเทียมในมหาลัยจะต้องแตกแขนงออกไป ต้องสามารถโอบรับความหลากหลาย และต้องเป็นพื้นที่เสรีภาพแห่งวิชาการ ทุกคนต้องสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างปลอดภัย นี่เป็นเหตุผลหลักที่ผมมาลงสมัครตำแหน่งนี้ จริงๆ ผมก็คิดว่าเพื่อนๆ ที่มาลงสมัครจำนวนไม่น้อยก็น่าจะคิดแบบเดียวกันและจะพยายามทำให้เต็มที่แม้ว่าจะไม่ได้มีอำนาจมากขนาดนั้นก็ตาม
การเรียกร้องและผลักดันประเด็นในมหาวิทยาลัยผ่านตำแหน่งประธานสภานักศึกษาฯ เกิดผลลัพธ์แตกต่างจากการผลักดันในฐานะนักศึกษาทั่วไปอย่างไรบ้าง
แตกต่างกันอย่างชัดเจน ตอนที่เราเป็นนักศึกษาทั่วไป ท่าทีของผู้บริหารที่มองเราตอนนั้นมันไม่ค่อยดี เหมือนเราเป็นคนไร้สาระ หัวรุนแรง แต่พอได้มาเป็นประธานสภานักศึกษาฯ คำพูดของผมมีน้ำหนักมากขึ้น เขามีความเกรงใจผมเพราะตำแหน่งของผมมาจากการเลือกตั้ง มันจะต่างกับผู้บริหารที่มาจากการแต่งตั้ง ผมรู้สึกว่าเขามีความระมัดระวังมากขึ้น เขาฟังเรามากขึ้น แต่จะทำหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง อย่างที่สองคือผมรู้สึกว่าผู้บริหารเกิดการปรับตัว ปรับตัวที่ว่าหมายถึงการระมัดระวังในหลายๆ เรื่อง รวมไปถึงเรื่อง gender ด้วย เพราะตัวสภานักศึกษาฯ เองมีจุดยืนในการสนับสนุนประชาธิปไตยและความเท่าเทียมที่ชัดเจน ดังนั้นเมื่อจะตัดสินใจอะไรที่อยู่บนพื้นฐานอำนาจนิยม ก็จะถูกสภาท้วงติงแน่นอน
ในฐานะนักเคลื่อนไหว ความท้าทายในกระบวนการเรียกร้องสิทธิภายในมหาวิทยาลัยคืออะไร เหมือนหรือแตกต่างจากการผลักดันด้านสิทธิมนุษยชนในฐานะประชาชนอย่างไรบ้าง
ต้องบอกว่ามันท้าทายมากๆ ตอนได้รับตำแหน่งใหม่ๆ ผมได้ดูต้นแบบของ
คุณแฟรงก์-เนติวิทย์ (โชติภัทร์ไพศาล) อยู่บ้างว่าเขาปรับตัวยังไง ผมเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่กำลังจะขึ้นปี 1 ผมเรียกร้องอยู่บนท้องถนนตลอด และไม่เคยคิดจะเข้ามาในระบบรัฐราชการเลย พอต้องมาทำงานในประธานสภานักศึกษาฯ ช่วงที่ขึ้นปี 4 ผมต้องปรับตัวเยอะมากๆ เพราะระบบรัฐราชการในความรู้สึกของผมมันค่อนข้างเฮงซวย ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ เรื่องเอกสาร รวมถึงเรื่องมิติทางการเมือง
ตอนอยู่บนท้องถนนเราสามารถพูดได้อย่างที่เราคิด เรามีอิสระมากกว่า แต่พอเราทำงานในสภานักศึกษาฯ มันมีกรอบบางอย่างครอบเราไว้ มันอาจจะไม่ใช่กรอบที่เราตีขึ้นมาเอง แต่มันมีกรอบความคิดที่ถูกเซ็ตมาว่าสภานักศึกษาฯ มีหน้าที่เพื่อเป็นลูกน้องให้กับฝ่ายบริหารของมหาลัย แต่เราไม่ได้มองอย่างนั้น เรามองว่าเรามาจากการเลือกตั้ง เรามาเป็นผู้แทน เรามาต่อสู้กับคนที่ขัดขวางผลประโยชน์ของนักศึกษา ซึ่งมันทำให้ potential ของสภาในปีนี้ถูกแยกออกจากผู้บริหารอย่างชัดเจน ผมไม่ใช่ลูกน้องของคุณอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นผมเองก็ต้องทำความเข้าใจมิติทางการเมืองในรูปแบบรัฐสภาให้มากขึ้น ซึ่งมันต่างจากการเคลื่อนไหวในฐานะประชาชน สภานักศึกษาฯ ก็เปรียบเสมือนสภาผู้แทนราษฎร เราเชื่อว่าสภายังมีประโยชน์ สภาขับเคลื่อนได้ เราเพียงต้องเข้าใจขั้นตอนของการจัดการที่เป็นไปตามระบบราชการ ซึ่งตอนนี้เราเองก็กำลังพยายามลดขั้นตอนหลายๆ อย่างอยู่เหมือนกัน
สิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานของสภานักศึกษาฯ คืออะไร
เอาเข้าจริงมันก็ยากทุกเรื่อง แต่ที่ยากสุดผมคิดว่าคือการต่อสู้กับโครงสร้างระบบอำนาจนิยม มันทำให้การทำงานทางการเมืองในสภานักศึกษาฯ ยากขึ้นอีกเท่าตัว เพราะระบบอำนาจนิยมฝังรากลึกอยู่ในทุกรั้ว ทุกตารางเมตรของมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมันจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการศึกษาหลายแห่งประกาศตัวว่าห้ามมีการรับน้องแบบโซตัส มีความคิดเห็นยังไงต่อกระแสนี้บ้าง
ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ขอชื่นชมและสนับสนุนเพื่อนๆ ที่ออกมาประกาศเจตนารมณ์ว่าจะยุติระบบอำนาจนิยมซึ่งก็คือโซตัส สิ่งหนึ่งที่ผมไม่คิดว่าจะมาถึงในวันนี้ก็คือ เมื่อมีคนพูดว่าสนับสนุนโซตัส ก็จะไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากอีกต่อไปแล้ว ต่างจากสมัยก่อนที่ถ้าใครมีแนวคิดจะยกเลิกโซตัสก็จะโดนด่าเละ นี่เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกดีมากๆ และดีใจที่มันเกิดขึ้นในวันนี้ แรงกระเพื่อมนี้ผมเองก็คิดว่าหลายมหาวิทยาลัยไม่สามารถปฏิเสธเจตนารมณ์ที่นักศึกษา องค์การนักศึกษา หรือสภานักศึกษาฯ แต่ละที่ได้ประกาศออกไป เพราะการไม่สนับสนุนโซตัสแทบจะกลายเป็นฉันทามติทางความคิดของนักศึกษาสมัยนี้ไปแล้ว เรามองว่าถ้าคุณไม่สนับสนุนเผด็จการ คุณก็ไม่ควรจะสนับสนุนโซตัส เพราะมันคือเรื่องเดียวกัน ผมเชื่อว่ามันเป็นแรงกระเพื่อมทางสังคมที่อยากจะเอาระบบทหารออกจากระบบการศึกษา แล้วคืนระบบการศึกษาที่มีเสรีภาพกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ประกาศตัวว่าต่อต้านระบบโซตัส (SOTUS) ได้มีการออกแบบนโยบายเพื่อจัดการกับระบบโซตัสอย่างไร
ต้องพูดกันตรงๆ ว่าโซตัสยังมีอยู่ แม้ว่าจะประกาศยกเลิกไปแล้ว การประกาศยกเลิกโซตัสใน มข. ครั้งนี้เป็นการประกาศครั้งที่ 2 แล้ว ในส่วนที่ประกาศล่าสุดเป็นการดำเนินงานขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น คำถามก็คือว่าการประกาศในรอบแรกมันยังไม่สามารถยกเลิกได้หมดใช่ไหม
เราต้องยอมรับว่าโซตัสเป็นระบบที่สู้ยากมากๆ แผนการของเราจึงต้องเน้นไปที่การทำงานโดยรวมทางความคิด เราไม่สามารถจัดการโซตัสด้วยการปราบได้ทั้งหมด แต่เราต้องทำให้เขาเข้าใจว่ามันไม่ดียังไง เราต้องเปลี่ยนความคิดของเขา ให้เขาเข้าใจว่าโซตัสมันคืออำนาจนิยม ไม่ต่างอะไรจากเผด็จการ สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญที่ไม่สามารถใช้การปราบปรามจัดการได้ คุณไปจับเขา คุณไปตัดคะแนนความประพฤติเขา ก็ไม่ได้ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงความคิดไปได้ สภาเองก็มีวิธีการในการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการจัดกิจกรรมต้อนรับนักศึกษาใหม่โดยเฉพาะ รวมไปถึงการการรณรงค์ให้เห็นถึงผลลัพธ์ของระบบนี้ นี่คือการทำการเมืองในระยะยาวที่จะเห็นผลในเวลา 5-10 ปี ซึ่งผมมองว่าเริ่มในวันนี้มันก็ยังไม่สาย
อะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในตำแหน่งประธานสภานักศึกษาฯ
ต้องไม่กลัวที่จะตอบโต้หรือต่อสู้กับผู้บริหาร และไม่จำเป็นต้องหวงแหนตำแหน่งประธานสภานักศึกษาฯ หน้าที่หลักของตำแหน่งนี้มีแค่การดำเนินการประชุม ซึ่งแสดงออกถึงความเป็นผู้แทนของนักศึกษาอยู่แล้ว ผมว่าประธานสภานักศึกษาฯ ต้องมีความกล้า ต้องไม่กลัวต่อโครงสร้างทางการเมืองในปัจจุบัน ต้องกล้าที่จะโดนปลดเพื่อแลกกับการทำสิ่งที่ถูกต้อง ยืนหยัดและเคียงข้างกับแนวคิดที่นำไปสู่การพัฒนา
การเปลี่ยนแปลงในระดับมหาวิทยาลัยจะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมได้อย่างไร
มหาวิทยาลัยก็เปรียบเหมือนกับประเทศหนึ่ง ซึ่งเรามักจะได้ยินว่าเป็นศูนย์รวมของปัญญาชน เมื่อผู้บริหารหรือผู้ที่มีอำนาจบอกว่าประเทศเล็กๆ แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งความรู้ทางวิชาการ แต่กลับไม่สามารถทำให้ประเทศนี้เกิดความเท่าเทียมกันได้ แล้วประเทศไทยซึ่งมีองค์ประกอบเป็นรัฐก็ยากที่จะเกิดความเท่าเทียมกัน มหาวิทยาลัยจะมีหรือไม่มีข้อจำกัดมันไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือจะทำยังไงให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นเมืองที่โอบรับความหลากหลายซึ่งเป็นสิ่งที่สวยงามในระบอบประชาธิปไตย ถ้าเรื่องนี้สามารถสำเร็จได้ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเสมือนโครงสร้างจำลองของประเทศ ระดับประเทศก็ต้องทำได้แน่นอน
วันที่ 27 มิถุนายน 2565 รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงนามในประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 1620/2565 เรื่อง การแต่งกายของนักศึกษา โดยระบุว่าให้นักศึกษาที่มีเพศสภาพหรือเพศภาวะไม่ตรงกับเพศโดยกำเนิด สามารถแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักศึกษาหรือชุดสุภาพตามเพศสภาพหรือเพศภาวะนั้นได้โดยยึดตามระเบียบของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และคุ้มครองมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
ที่มา: มข.ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ประกาศเปิดให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพ