“เด็กกะเหรี่ยงทุกคนต้องทอผ้าเป็น เพราะเป็นวิถีแต่โบราณ”
คำอธิบายจากปากของ ‘ครูเจเจ’ – พยุงศักดิ์ ติ๊บกาศ คุณครูประจำโรงเรียนบ้านป่าเลา ยามเอ่ยถึงขั้นตอนพื้นฐานในการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ของชุมชนเล็กๆ ในอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เพื่อบ่งบอกที่มาที่ไปของเครื่องแต่งกายจากผ้าทอมือที่วางเรียงรายอวดความงดงามอยู่บนโต๊ะจัดแสดงในนิทรรศการ
สินค้าจากผ้าทอมือเหล่านี้ไม่เพียงแต่สวยงามเท่านั้น หากยังได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากงานประกาศรางวัลของโครงการ ‘Equity Partnership’s School Network ปีที่ 3’ ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี และ Sea Thailand ในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็กโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล
ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่าง ‘ชุมนุมผ้าทอกี่เอว’ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของครูเจเจ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านป่าเลา ผ้าทอกี่เอวเป็นผ้าทอพื้นเมืองแบบกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ทอโดยใช้กี่ผูกติดกับเอว ซึ่งภายในชุมนุมจะมีการสอนตั้งแต่การทอผ้าลายพื้นฐานไปจนถึงการผลิตเป็นเครื่องแต่งกายในรูปแบบต่างๆ เด็กในชุมนุมจะถูกสอนให้ทอผ้าและหารายได้จากงานฝีมือเหล่านั้น
“อาจจะมองเป็นข้อดีของเราคือ เด็กของเราเป็นเด็กที่อยู่โรงเรียนสาขา บ้านใช้โซลาร์เซลล์ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เลยไม่ติดเทคโนโลยี ทำให้เด็กได้ฝึกการทอผ้าอย่างเต็มที่” ครูเจเจว่าอย่างนั้น
ส่วนเด็กๆ เล่าให้ฟังว่า “ชุมนุมเขาสอนทอผ้า ให้ทำเป็นและสอนให้หารายได้ด้วย เอามาเป็นทุนการศึกษา เวลามาโรงเรียนเราไม่ขอตังค์พ่อแม่เลย”
“ที่บ้านมีรายได้น้อย อาทิตย์หนึ่งพ่อกับแม่จะให้เงินเราแค่ 100 หรือ 150 บาท แล้วเราก็มีน้องด้วย สองคนก็ 300 ไม่อยากรบกวนเขามากเกินไป เลยมาฝึกทอผ้า เป็นเหตุผลให้เราเข้าชุมนุมนี้เพื่อที่จะมีรายได้เสริม”
‘น้องไพร’ – ปณิตา สูงพนารักษ์ และ ‘น้องมาย’ – กุลธิดา ใจหล้ากาศ กล่าวถึงความสำคัญของชุมนุมผ้าทอกี่เอว พวกเธอเป็นเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนบ้านป่าเลา สมาชิกในชุมนุมที่มีส่วนช่วยให้ โรงเรียนบ้านป่าเลาคว้ารางวัลชนะเลิศครั้งนี้มาได้ เด็กทั้งสองสวมชุดเดรสสีขาว แต่กลับดูโดดเด่นจากผู้คนรอบข้างขึ้นมาเมื่อเดรสสองตัวนั้นทำจากผ้าทอมือ สลับลวดลายท้องถิ่นอย่างวิจิตร สะท้อนถึงความประณีตของผู้ทออย่างเด่นชัด ซึ่งก็คือตัวน้องไพรและน้องมายเอง
ก่อนที่จะมารู้จักกับโครงการ Equity Partnership’s School Network ชุมนุมผ้าทอกี่เอวนั้นทอเสื้อผ้าในลักษณะพื้นฐาน กล่าวคือ ถ้าทอเป็นย่ามก็เป็นย่ามธรรมดา หรือหากเป็นเสื้อก็เป็นเสื้อกะเหรี่ยงที่มีอยู่ทั่วไปตามตลาดในชุมชนภาคเหนือ อาจจะมีการเปลี่ยนลายเล็กน้อย แต่ถึงอย่างนั้นมูลค่าของสินค้าก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก เด็กๆ ทอส่งขายกันตามตลาดในหมู่บ้าน โดยครูเจเจจะนำรายได้จากส่วนนั้นมาแจกจ่ายให้กับสมาชิกกว่า 30 ชีวิตในชุมนุม
การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ทำให้ได้รู้จักกับนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติ St. Andrews ที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมนุมผ้าทอกี่เอวได้เป็นอย่างดี จากแต่ก่อนที่ชุมนุมทอสินค้าแบบเดิมอย่างที่ชาวบ้านแถวนั้นเคยคุ้น ก็แปรเปลี่ยนมาเป็นเสื้อผ้าที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น
“โครงการนี้เริ่มต้นมาจากเราสมัครเข้าโครงการ ก็มีการประชุมครั้งที่หนึ่ง เขาจะทำการสุ่มโรงเรียน แล้วเราก็ได้ทำงานร่วมกับโรงเรียนนานาชาติ St. Andrews
“ฝั่งนานาชาติเขาจะร่วมมือกันสเก็ตช์แบบออกมาก่อน ทีแรกเป็นชุดยูกาตะ (Yukata) ธรรมดา พอเอาไปให้คนอื่นดูเขาบอกว่ามันมีอยู่ทั่วไป โรงเรียนนานาชาติก็เลยส่งแบบมาให้ใหม่ คราวนี้ทำเป็นทรงแฟชั่น เป็นทรงทวีต ทรงโค้ง เชิ้ตตรงคอ แล้วเราก็มาดัดแปลงใส่ลวดลายลงไป
“เขาช่วยเราทุกอย่างเลย ทั้งเรื่องผลิตภัณฑ์ เรื่องบรรจุภัณฑ์ อย่างเรื่องบรรจุภัณฑ์ เด็กนานาชาติบอกว่าให้เราทำเป็นถุงกระดาษเพื่อรักษ์โลก เราก็เสริมกิมมิคเล็กๆ คือให้เด็กถักเชือกผูก เรียกได้ว่าให้เป็นเอกลักษณ์ของสินค้าเรา”
เมื่อมองเป็นภาพใหญ่จะเห็นความร่วมมือกันของทั้งสองโรงเรียน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ประณีตงดงามออกสู่ตลาด โดยเบื้องหลังของความประณีตเหล่านั้น คือหยาดเหงื่อและความอดทนของเด็กในชุมชนที่ห่างไกล
ชุมชนห่างไกลและความสะดวกสบายที่เข้าไปไม่ถึง
ด้วยสถานการณ์ในยุคโรคระบาด ทำให้การร่วมมือกันทำงานของโรงเรียนเอกชนในเมืองกรุงและโรงเรียนชนบทเป็นไปด้วยความยากลำบาก การพูดคุยเพื่อประชุมงานทุกครั้งจึงเกิดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ แม้ความเจริญทางเทคโนโลยีจะช่วยให้การติดต่อสื่อสารของทั้งสองโรงเรียนที่ห่างไกลกันเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ได้มาพร้อมกับความสะดวกสบายอย่างที่ควรจะเป็น
“พื้นที่โรงเรียนเป็นหลังเขาเลย เราคือชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมอยู่แล้ว โรงเรียนที่น้องๆ อยู่เป็นโรงเรียนแม่ โรงเรียนที่สองคือโรงเรียนบ้านป่าเลา สาขาผาด่าน อีกหนึ่งโรงเรียนคือโรงเรียนบ้านป่าเลา สาขาแม่สะแงะ สุดท้ายคือโรงเรียนสาขาบ้านโปงผาง ก็จะเป็น 3 สาขาของโรงเรียนบ้านป่าเลา”
ครูเจเจอธิบายถึงลักษณะของโรงเรียนบ้านป่าเลาที่ทั้งตัวครูและลูกศิษย์ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น โดยโรงเรียนสาขาแม่ตั้งอยู่ตีนเขาในอำเภอแม่ทา มีสิ่งอำนวยความสะดวกพอประมาณสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก แต่อุปสรรคใหญ่คือ มือทออันดับ 1 อย่างน้องไพรประจำอยู่ที่สาขาสาม ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนสาขาแม่ประมาณ 17 กิโลเมตร ในพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง และไม่มีอินเทอร์เน็ตให้ใช้อย่างสะดวกสบาย
“โรงเรียนสาขาที่ 2 กับ 3 ไม่มีไฟฟ้า ใช้โซลาร์เซลล์ ไม่มีเทคโนโลยีอะไรสักอย่าง การเข้าถึงค่อนข้างเป็นไปได้ยาก
“บนดอยมีครูอยู่ 3 คน ต้องเปิดทีวีให้เด็กดู หนึ่งห้องเปิดให้ดู 2 จอ ก็เป็นความลำบากอย่างหนึ่ง เด็กก็จะได้เรียนกับทีวี ถ้าผมไปโรงเรียนสาขา ก็จะเปลี่ยนเวรกันไปกับครูอีกคน ถ้าหน้าฝนนี่ลงมาไม่ได้เลย เพราะทางมันไม่ใช่คอนกรีต ทางมีแต่น้ำ มีสัตว์ป่า วัว ควาย วิ่งเต็มถนนไปหมด เป็นทางที่ค่อนข้างยากลำบากมาก”
สิ่งนี้คือประสบการณ์ในการเป็นครูที่ต้องผลัดเวรขึ้นไปดูแลเด็กในสาขาอื่นๆ ของครูเจเจ เมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีกระจายไปไม่ทั่วถึง เด็กที่ประจำอยู่สาขาบนดอยอย่างน้องไพรจึงต้องขับมอเตอร์ไซค์ 17 กิโลฯ ผ่านถนนดินลูกรัง เพื่อลงมาแสวงหาโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับตัวเองด้วยการเข้าชุมนุมผ้าทอกี่เอว
ครูเจเจให้ความเห็นว่า การที่เด็กต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากในการแสวงหาโอกาสให้กับตัวเองเช่นนี้ ถือเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่งของการศึกษา รูปแบบการศึกษาของโรงเรียนในเมืองกับชนบทนั้นแตกต่าง เด็กในเมืองจะมีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีหรือแม้แต่ทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นบางอย่าง แต่เด็กชนบทอาจเข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านั้น เพราะเงินสนับสนุนจากภาครัฐไม่ได้ตกมาถึงโรงเรียนชายขอบในบางโรงเรียน
“บางทีเขาอาจจะเจาะจงโรงเรียนนี้ ไม่เปิดโอกาสให้โรงเรียนอื่น หรือถ้าโรงเรียนนี้ทำดีก็ให้แค่โรงเรียนเดียว อาจจะเป็นโรงเรียนดีประจำตำบล เขาจะเน้นเจาะไปที่โรงเรียนแบบนั้นมากกว่า”
นอกจากความห่างไกลทางเทคโนโลยีแล้ว ภาษาก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำหรับครูและเด็กนักเรียนในโรงเรียนชนบทเช่นกัน คราแรกที่รู้ว่าได้ทำงานร่วมกับโรงเรียนนานาชาติ St. Andrews ที่สมาชิกในทีมไม่มีเด็กที่พูดภาษาไทยได้เลยแม้แต่คนเดียว ชาวบ้านป่าเลารู้สึกใจหาย เพราะทางฝั่งตนนอกจากภาษาถิ่นและภาษาไทยแล้ว ก็ไม่ได้คล่องแคล่วในภาษาอื่น ทั้งครูและศิษย์จึงสู้รบปรบมือกับอุปสรรคทางด้านภาษาด้วยเครื่องมือช่วยแปลที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดอย่าง Google Translate ในการทำงานทุกครั้งแทน
“เวลาเขาพูดอะไรมายาวๆ เราก็เอามาใส่โปรแกรมแปลเอา บางทีก็มีปัญหาในการแปล เหมือนเขามาสั่งเราว่าให้ทำแบบนี้ๆ ตอนแรกเราก็ไม่เข้าใจ แต่หลังๆ เราเริ่มปรับตัวได้ ก็เข้าใจว่าเขาไม่ได้สั่ง” ครูเจเจเล่าให้ฟังอย่างติดตลก
เด็กทั้งสองช่วยเสริมถึงกระบวนการทำงานที่มีกำแพงภาษาเป็นอุปสรรค แต่ก็ผ่านมาได้เพราะความกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ของน้องๆ “เราคิดของเราเองว่า เขาไม่ได้สั่ง เพราะมันเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสองโรงเรียน อย่างตอนที่ความคิดเห็นเราไม่ตรงกันในเรื่องสี นานาชาติอยากได้สีเข้ม แต่สำหรับคนทอแล้วสีเข้มมันไม่สวย เราก็จะถามไปว่า เอาเป็นสีนี้แทนดีไหม เขาก็ตอบเราว่า ก็ลองดู คือมันเป็นการทำงานร่วมกันมากกว่า”
น้องไพรบอกว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้โรงเรียนมีการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศที่ดีขึ้นกว่านี้ เพราะเมื่อได้มาร่วมงานกับนักเรียนโรงเรียนนานาชาติแล้ว ทำให้รู้ว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญในการเสริมโอกาสให้กับชีวิตอย่างหนึ่งเลยทีเดียว
และนี่เป็นอีกครั้งที่เราเห็นความเหลื่อมล้ำสะท้อนผ่านแววตาของเด็กหญิง
ศักยภาพที่รอวันเฉิดฉาย ขอเพียงแค่ ‘โอกาส’
เมื่อมองภาพโครงการที่ทั้งสองโรงเรียนร่วมมือกันทำงาน เราอาจจะเห็นภาพของการช่วยพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจากโรงเรียนในเมืองกรุง แต่อีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นจากความงดงามของผลงานที่ได้มาคือ ความอดทนและฝีมือทอผ้าที่น่าประทับใจของเด็กโรงเรียนบ้านป่าเลา แม้ว่าเด็กๆ จะมีพื้นฐานในการทอผ้าเนื่องจากมีการปลูกฝังของชาวปกาเกอะญอมาแต่โบราณดังเช่นที่ครูเจเจบอก แต่การทอผ้าด้วยมือโดยไม่ได้พึ่งเครื่องจักรจำต้องอาศัยความใจเย็นเป็นอย่างมากในการทอและจกลายผ้า (ใส่ลายผ้า) ต้องค่อยๆ สอดสลับไปทีละเส้น อย่างต่ำใช้เวลาในการทอประมาณ 4 วัน
“บางทีหลักสูตรที่มีอยู่อาจจะไม่สอดคล้องกับการนำไปใช้จริง สำหรับโรงเรียนเราหรือหลายโรงเรียนก็จะมีหลักสูตรท้องถิ่นเป็นของตัวเอง อย่างเช่นโรงเรียนผมก็จะมีหลักสูตรผ้าทอกี่เอว อย่างบางโรงเรียนก็จะมีหลักสูตรผ้าทอยกดอก จะเป็นหลักสูตรเฉพาะ
“กระทรวงศึกษาธิการเปิดช่องให้มีหลักสูตรเฉพาะได้ แต่ก็อาจใช้ไม่ได้กับทุกพื้นที่ ขึ้นกับแต่ละโรงเรียนด้วยว่าจะดำเนินการไหม ผู้บริหารจะสนับสนุนไหม ถ้าสนับสนุนมันก็ไปต่อได้”
สำหรับโรงเรียนบ้านป่าเลา มีความโชคดีที่ผู้บริหารให้การสนับสนุนกิจกรรมที่จะช่วยสืบสานอัตลักษณ์ของท้องถิ่นอย่างเต็มที่ เด็กๆ จึงได้มีโอกาสเรียนรู้และหารายได้เสริมจากชุมนุมผ้าทอกี่เอวของครูเจเจ และจากการทำงานร่วมกับนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ ทำให้ได้เรียนรู้ในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์และการตลาดเพิ่มเติมหลังจากที่เคยทอผ้าแบบพื้นฐานมานาน เป็นการนำความรู้ที่มีอยู่มาพัฒนาต่อ
ครูเจเจบอกว่า ความรู้พื้นฐานในการทอผ้าของเด็กๆ นี้เอง เป็นอัตลักษณ์ชุมชนที่น่าจะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป ซึ่งในมุมมองของเขา นี่คือการศึกษาในอุดมคติ เพื่อที่เด็กๆ จะสามารถใช้สิ่งเหล่านี้เป็นวิชาชีพในการดำรงชีวิตต่อได้ในสังคม
“จริงๆ อยากให้ภาครัฐส่งเสริมในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพของเด็กท้องถิ่น เน้นเรื่องการประกอบอาชีพของนักเรียน เพราะเขามีทักษะอยู่แล้ว
“จุดแข็งของเราคือ เรามีต้นทุนในเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เป็นของท้องถิ่น ชุมชนคอยช่วยเหลือสนับสนุนทุกอย่าง เด็กของเรามีความตั้งใจ”
สำหรับเขาแล้ว เด็กนักเรียนในชุมชนที่ห่างไกลมีทักษะในการนำอัตลักษณ์ของตนมาเผยแพร่ต่อ แต่ขาดทักษะการเรียนรู้ในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีความทันสมัยและเป็นที่ต้องการของตลาด ถ้าให้ทางชุมนุมเรียนรู้ ก็จะเรียนรู้ในสิ่งเดิมๆ โครงการของ กสศ. จึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยพัฒนาในส่วนนี้ เพราะบางโรงเรียนที่มีความสามารถ อาจไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม และในบางครั้งการประชาสัมพันธ์ก็เข้าไม่ถึงพวกเขา
“การที่มีคนเห็นผลงานของเราเยอะขึ้นมันเป็นความรู้สึกที่ดีมาก พอมีคนเห็นมากขึ้นเราก็ดีใจ” ความยินดีฉายชัดผ่านประกายตาของเด็กทั้งสอง
ครูของเด็กๆ เสริมต่อว่า “โครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ จากเดิมโรงเรียนอาจจะถูกลืม แต่หลังจากที่เราทำผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ขึ้นมา ทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด เขาก็เข้ามาชื่นชม มาดูผลงานของเรา หลายโรงเรียนมาศึกษาดูงานผ้าทอของเรา มาอุดหนุนสินค้า ทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียง เกิดเป็นความภาคภูมิใจว่าสิ่งที่เราทำมันประสบความสำเร็จแล้ว เราก็จะพัฒนาสินค้าของเราให้มีคอลเลคชันใหม่ๆ ต่อไป คงไม่หยุดอยู่แค่นี้”
ความหวังเล็กๆ ของคนตัวเล็กๆ จากชุมชนห่างไกลในวงการการศึกษาไทยคือ การได้เห็นโรงเรียนด้อยโอกาสอีกหลายโรงเรียนมีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพดังเช่นที่โรงเรียนบ้านป่าเลาได้รับ เพื่อที่สังคมจะรับรู้ว่าความเป็นท้องถิ่นนั้น แท้จริงมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นของตัวเอง และควรค่าแก่การกระจายโอกาสให้ทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม
ดูสินค้าเพิ่มเติมและสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ https://shopee.co.th/