กสศ. ร่วม OECD นำเสนอผลการวิจัย 3 ปี ณ เวทีเครือข่ายวิจัยการศึกษาโลก (WERA 2019)พบเด็กช้างเผือกไทยมีทักษะความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้ชาติใดในโลกเมื่อผู้เรียนและครูเข้าใจเชื่อมั่นในศักยภาพ และมีเป้าหมายการพัฒนาร่วมกันเป็นรายคนด้านสพฐ. เตรียมขยายผลต่อ 400 โรงเรียนในปีการศึกษา 2562 นี้University of Tokyo, Tokyo, Japan
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้แทนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้นำเสนอผลการวิจัยที่ได้ดำเนินการร่วมกัน ณ ที่ประชุมเครือข่ายสมาคมการวิจัยด้านการศึกษาโลกประจำปี 2019 (World Education Research Association: WERA 2019) ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นปีที่ 10 ของการประชุมร่วมระหว่างเครือข่ายสมาคมการวิจัยด้านการศึกษาจากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยในปีนี้ที่ประชุมได้คัดเลือกงานวิจัยชั้นนำที่นำเสนอผลของการศึกษาต่อความเสมอภาคทางสังคมและการส่งเสริมประชาธิปไตย (Realizing Equity and Social Justice and Democracy) โดยโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ที่ กสศ. และ OECD ได้ดำเนินการวิจัยร่วมกันมากว่า 3 ปีได้รับคัดเลือกเป็นงานวิจัยหนึ่งเดียวจากประเทศไทยที่ได้นำเสนอในเวทีการประชุมในวาระครบรอบ 10 ปีเครือข่ายวิจัยการศึกษาโลกนี้
Dr.Stephan Vincent-Lancrin ผู้อำนวยการโครงการวิจัย Fostering Creative and Critical Thinking Skills in Education จากองค์การ OECD ได้นำเสนอที่มาของโครงการวิจัยนี้ว่าคณะกรรมการบริหารองค์การ OECD ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนรัฐบาลของประเทศสมาชิกOECD ต้องการงานวิจัยที่สามารถจัดทำข้อเชิงนโยบายให้แก่กลุ่มประเทศสมาชิกองค์การ OECD และประเทศภาคีในการปฏิรูประบบการศึกษาให้สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลง (Disruption) ในตลาดแรงงานทั่วโลกอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สร้างปัญหาการตกงานทั้งของกำลังแรงงานในปัจจุบัน และบัณฑิตจบใหม่จากระบบการศึกษา ซึ่งมีนัยต่อปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทั่วโลก โดย OECD ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับแนวทางที่ระบบการศึกษาจะสามารถพัฒนากลุ่มทักษะที่ยังไม่สามารถถูกแทนที่โดยเทคโนโลยีได้ (Non-routine skills) เช่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ซึ่งติดอันดับทักษะที่เป็นที่ต้องการสูงสุด 3 อันดับแรกในตลาดแรงงานทั่วโลกทั้งในปัจจุบัน และภายในปี 2025 จากการสำรวจของ World Economic Forum (WEF) โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านทาง OECD ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยจาก 11 ประเทศรวมถึงประเทศไทยในสนับสนุนการศึกษาวิจัยครั้งสำคัญนี้ที่มีความครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างนักเรียนทั้งระดับประถมและมัธยมศึกษาหลายหมื่นคนจาก 5 ทวีปทั่วโลก และมีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์จากสถาบันชั้นนำจากทั่วโลกร่วมให้การสนับสนุน
โดยองค์การ OECD มีกำหนดจัดประชุมสัมมนาและแถลงข่าวผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์ของโครงการนี้อย่างเป็นทางการ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรในสิ้นเดือนกันยายน 2562 นี้ ซึ่งจะมีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล นักการศึกษาชั้นนำ และผู้บริหารภาคเอกชนระดับโลกเข้าร่วมมากกว่า 100 คนจากหลายสิบประเทศ มาร่วมกันเสวนาผลการวิจัยและนัยเชิงนโยบายต่อระบบการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต โดย Dr.Stephan ได้เกริ่นผลการวิจัยที่สำคัญในภาพรวมของโครงการพบว่าทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์สามารถพัฒนาและประเมินได้จริงด้วยกระบวนการและเงื่อนไขที่เหมาะสมในกระบวนการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน โดยปัจจัยที่สำคัญและน่าสนใจที่สามารถอธิบายพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ที่เพิ่มขึ้นของผู้เรียนในกลุ่มตัวอย่างได้อย่างชัดเจนคือทัศนคติความเชื่อมั่นและความไว้วางใจระหว่างครูและผู้เรียนในศักยภาพในการสอน (ของครู) และการเรียนรู้ (ของผู้เรียน) ในทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลแม้กับกลุ่มตัวอย่างผู้เรียนที่มีความด้อยโอกาส ดังเช่น ตัวอย่างผลการวิจัยจากประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของผู้เรียนที่มาจากครอบครัวที่ยากจนมากที่สุดในบรรดา 11 ประเทศที่เข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นำเสนอผลการวิจัยจากประเทศไทยว่าจากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลผลการสอบ PISA ของนักเรียนไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมาของ กสศ. พบว่าแม้คะแนนเฉลี่ยในภาพรวมของประเทศไทยจะมีแนวโน้มลดลง แต่กลับพบว่ามีนักเรียนกลุ่ม “ช้างเผือก” (นักเรียนที่มีเศรษฐสถานะต่ำทีสุดร้อยละ 25 ของประเทศ แต่ทำคะแนน PISA ได้อยู่ในกลุ่มคะแนนสูงสุดร้อยละ 25 ของโลก) อยู่ในสัดส่วนราวร้อยละ 3 ในกลุ่มตัวอย่างของประเทศไทย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้วระบบการศึกษาไทยสามารถผลิตนักเรียนบางกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้สูงไม่แพ้ใครในโลก ทั้งนักเรียนที่มาจากครอบครัวทั่วไป หรือนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน กสศ. จึงมีความสนใจว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญ (Game Changer) ที่ช่วยให้เด็กไทยเหล่านี้ไม่ว่าจะมาจากครัวเรือนที่มีเศรษฐสถานะที่แตกต่างกัน มีโอกาสที่เสมอภาคในการพัฒนาทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการสร้างความมั่นคงทั้งต่อตนเองและต่อการพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21 นี้ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งแนวทางในการขยายผลการดำเนินงานและการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในลำดับต่อไป จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง สพฐ. กสศ. และ OECD ในการศึกษาวิจัยด้วยกระบวนการ Stratified Random Sampling (SRS) และ Propensity Score Matching (PSM) กับกลุ่มตัวอย่างนักเรียนไทยกว่า 5,000 คนและครูมากกว่า 200 คนจาก 200 โรงเรียนขยายโอกาสสังกัด สพฐ. อปท. และ สช. ทั่วประเทศระหว่างปีการศึกษา 2559-2560
จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันระหว่าง กสศ. และผู้เชี่ยวชาญจากองค์การ OECD และมหาวิทยาลัยปารีสมีผลที่น่าสนใจและมีนัยเชิงนโยบายหลายประเด็น มีอยู่ 3 ประเด็นได้แก่
(1) นักเรียนไทยในกลุ่มทดลอง (Experimental Group) ที่ครูได้รับการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญจาก OECD และใช้เครื่องมือส่งเสริมและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์จาก OECD เป็นเวลา 1 เทอม มีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้นอย่างมีนัยทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (Control Group) และเมื่อกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่ โดยทักษะที่นักเรียนไทยมีพัฒนาการสูงสุดคือทักษะความคิดสร้างสรรค์แบบอเนกนัย (Divergent Thinking) ในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยบางชั้นเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนขยายโอกาสสังกัด สพฐ. มีระดับของพัฒนาการของทักษะดังกล่าวสูงที่สุดในบรรดา 11 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการกับ OECD
(2) ปัจจัยสำคัญที่สามารถอธิบายความแตกต่างในระดับพัฒนาการของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการในกลุ่มทดลองได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือปัจจัยด้านความสัมพันธ์และทัศนคติระหว่างครู นักเรียน และผู้บริหารสถานศึกษาต่อการพัฒนาทักษาความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ กล่าวคือ เมื่อกำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ คงที่แล้ว ผู้เรียนในกลุ่มทดลองจะมีพัฒนาด้านทักษาความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้นเมื่อ
2.1) ครูมีความรู้ความเข้าใจในศักยภาพและข้อจำกัดของผู้เรียนในชั้นเรียนเป็นรายบุคคล
2.2) ครูนำรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ High Functioning Classroom และการประเมินตามสภาพจริง (Formative Assessment) ของ OECD มาปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนในชั้นเรียนของตนเองอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดเทอม รวมทั้งมีความตั้งใจที่จะใช้ต่อไปในปีการศึกษาหน้า
2.3) ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นใน ความสามารถในการสอนทักษะความคิดสร้างสรรค์ของครู และทัศนคติของครูว่าตัวผู้เรียนสามารถพัฒนาได้
2.4) ผู้บริหารสถานศึกษาให้การสนับสนุนการทำงานของครูในโครงการ และมีความตั้งใจที่จะใช้เครื่องมือนี้ต่อในปีการศึกษาหน้า
นอกจากนั้นแล้ว ผลการวิเคราะห์ของ OECD พบว่านักเรียนที่มีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ที่สูงขึ้น หลังการทดลอง มีแนวโน้มที่จะมีปฏิสัมพันธ์ด้านการศึกษากับผู้ปกครองที่ดีขึ้นผ่านการพูดคุยเกี่ยวกับการเรียนที่โรงเรียน และหนังสืออ่านนอกเวลาเรียนมากขึ้น และความสำเร็จในการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ระหว่างครูและผู้เรียนข้างต้นเกิดขึ้นกับทั้งนักเรียนในระดับประถมศึกษาที่มาจากครอบครัวที่รายได้ปกติและครอบครัวที่มีรายได้น้อย แต่ผลดังกล่าวมีระดับที่ลดลงในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนขยายโอกาส
จึงอาจสรุปจากผลการวิจัยเบื้องต้นนี้ได้ว่าครูและนักเรียนไทยที่เข้าร่วมโครงการวิจัยกับ OECD และ 11 ประเทศได้พิสูจน์ให้เห็นว่าทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนไทยในโรงเรียนขยายโอกาสซึ่งเป็นกลุ่มที่มักได้คะแนน PISA เฉลี่ยต่ำที่สุดแทบทุกครั้งที่มีการจัดสอบ สามารถพัฒนาได้จริงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติไม่แพ้ประเทศอื่นๆจากทั่วโลก รวมถึงนักเรียนช้างเผือกที่มาจากครอบครัวยากจน เมื่อผู้เรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษามีความเข้าใจเชื่อมั่นในศักยภาพของกันและกัน กล้าที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน และมีเป้าหมายการพัฒนาร่วมกันเป็นรายบุคคลผ่านการใช้เครื่องมือการประเมินผลตามสภาพจริง (Formative Assessment) ข้อค้นพบนี้มีนัยเชิงนโยบายที่สำคัญทั้งต่อการปฏิรูประบบการศึกษาในมิติคุณภาพ และมิติความเสมอภาคต่อผู้เรียนทุกคนในระบบการศึกษา โดยปัจจุบัน สพฐ. และ กสศ. กำลังวางแผนร่วมกันในการขยายผลจากการวิจัยร่วมกับ OECD นี้สู่สถานศึกษาอีก 400 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 6 จังหวัด เพื่อเป็นกลไกในการขยายผลการดำเนินงานในระดับประเทศต่อไป
ในช่วงท้าย Dr.Stephan กล่าวสรุปการนำเสนอว่าความสำเร็จจากผลการวิจัยในโครงการนี้ทำให้องค์การ OECD และประเทศสมาชิกมีความมั่นใจมากขึ้นว่าทักษะความคิดสร้างสรรค์สามารถพัฒนาได้ภายใต้ความหลากหลายของระบบการศึกษาและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ คณะกรรมการบริหารโครงการ PISA จึงมีมติให้มีการเพิ่มการสอบ PISA ด้านความคิดสร้างสรรค์ในการสอบ PISA ครั้งถัดไปในปี 2021 นี้ โดยทางองค์การ OECD จะดำเนินการเผยแพร่องค์ความรู้และเครื่องมือที่ได้จากโครงการวิจัยนี้ให้แก่ทุกประเทศที่สนใจจะนำไปใช้สนับสนุนการปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาต่อไปหลังการแถลงผลรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้