หากจะทำให้ใครสักคนนึกภาพความสำเร็จในชีวิตของเด็กดอย ก็ต้องเล่าผ่านเรื่องราวอย่างที่ ครูนิด-อรพินท์ กุศลรุ่งรัตน์ ได้ยกตัวอย่างเด็กดอย 3 คนที่มีโอกาสเลือกเรียนสิ่งที่ตนเองสนใจ ในศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า ณ บ้านสบลาน ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ครูนิดต้องการแสดงให้เห็นว่า เมื่อเด็กรู้ว่าตนเองต้องการอะไร อยากมีชีวิตแบบไหน เขาจะได้เลือกกำหนดชีวิตและความรู้ที่ต้องการได้อย่างชัดเจนและมีอนาคต
เด็กคนแรกไม่ได้มีความสนใจที่จะออกไปใช้ชีวิตนอกชุมชนมากนัก เธอชอบการทอผ้า เธอรู้ว่าการได้ทำงานผ้าอยู่ที่บ้านทำให้เธอมีความสุข เด็กคนที่สองชื่นชอบการถ่ายภาพและทำสื่อท่องเที่ยว เขาต้องเรียนรู้ทักษะที่สามารถติดต่อกับคนภายนอกได้ ไม่ว่าจะเป็นการหาอุปกรณ์ การเผยแพร่ผลงานผ่านอินเทอร์เน็ต และการรับจัดทริปท่องเที่ยวเพื่อหารายได้ในการซื้ออุปกรณ์ของตนเอง
ส่วนเด็กคนที่สามมีความสนใจที่กว้างกว่าสองคนแรกมาก เขาสนใจเรื่องการทำธุรกิจ เขาครุ่นคิดว่าทำไมคนในชุมชนต้องไปเป็นแรงงานรับจ้างข้างนอก ทำไมไม่สร้างอาชีพ ธุรกิจ และรายได้ให้กับชุมชน หากเขาทำ ชุมชนจะอยู่ตรงไหนในการเติบโตของเขา เมื่อคิดได้ดังนั้น จึงเกิดการร่วมมือกันของเด็กทั้งสามคนขึ้น กลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับเครือข่ายของศูนย์การเรียนฯ ในเวลาต่อมา และปัจจุบันยังเป็นแหล่งทุนการศึกษาของเด็กทั้งสามสำหรับชีวิตนักศึกษาสาขาสื่อดิจิทัลในมหาวิทยาลัยแม่โจ้อีกด้วย
ปัจจัยที่ทำให้อนาคตของทั้งสามมีแสงสว่างที่ปลายทาง คือการศึกษาที่อยู่บนฐานการเรียนรู้สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ วิถีวัฒนธรรมชุมชน (Community-based Learning) การแก้ปัญหาสถานการณ์ในชีวิตจริง (Problem-based Learning) และการค้นหาศักยภาพผ่านการทำโครงงานของตนเอง (Project-based Learning) เด็กเหล่านี้จึงมีโอกาสได้เลือกทำโครงงานตามความสนใจจนต่อยอดเป็นธุรกิจชุมชนได้ ครูนิดเผยว่าการเรียนรู้ 3 อย่างนี้ เกิดจากฐานคิดของปราชญ์ชุมชนเอง
“ผู้เฒ่าเขาบอกว่าเด็กไม่ต้องเรียนเยอะหรอก เด็กชนเผ่าเรารู้แค่น้ำบ่อหน้ากับน้ำบ่อหลังก็พอ น้ำบ่อหลังคือภูมิปัญญาของเขา ภูมิปัญญาที่ทำให้เขาอยู่มาได้จนถึงตอนนี้ น้ำบ่อหน้าก็คือความรู้สมัยใหม่ ปัญญาจากอนาคต การเรียนรู้ที่จะเท่าทันกับสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาและปรับตัวให้ทัน
“การเรียนทั่วไปมักจะแยกเทคโนโลยีกับภูมิปัญญาออกจากกัน ไม่เกิดการเชื่อมและประยุกต์ใช้ แต่ศูนย์การเรียนฯ ของเราเชื่อมผ่านปัญหาและสถานการณ์จริง ซึ่งก็คือ Problem-based Learning เวลาเจอปัญหาอะไรก็เอาเรื่องนั้นมาเรียน ทำให้ความรู้ทั้งสองชุดมาเจอกัน” ครูนิดบอก
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีหลักสูตรที่ช่วยให้เด็กๆ บนดอยที่ห่างไกลจากการศึกษาส่วนกลางได้เรียนรู้ในรูปแบบที่เหมาะกับการใช้ชีวิต แต่หลักสูตรนี้ยังคงจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ ไม่สามารถเข้าถึงเด็กดอยทุกคนได้ ทั้งที่โจ๊ะมาโลลือหล่าเองถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องชุมชนขาดแคลนโรงเรียน
“การส่งลูกหลานไปเรียนนอกหมู่บ้าน ถึงจะเป็นหมู่บ้านข้างเคียงแต่ก็ต้องเดินทางไกล ไม่สามารถเดินทางไปกลับได้ ทำให้เด็กต้องไปค้างคืนแล้ววิถีชีวิตถูกตัดขาดออกจากชุมชน พอถูกตัดขาดก็จะมีปัญหาตามมา เพราะความรู้ที่เรียนมาแทบจะใช้ไม่ได้เลยในชุมชนของเขา การจะกลับมาอยู่ในชุมชนก็ไม่สามารถอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี เพราะไม่มีทักษะและความอดทนมากพอที่จะใช้ชีวิตแบบปู่ย่าตายาย พอออกไปข้างนอกก็ทำได้แค่เป็นแรงงานรับจ้างเท่านั้น”
เมื่อการศึกษาไม่ช่วยอะไร จึงทำให้เด็กหลายคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไปเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากรายงานโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (NEA) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551-2562 จัดทำโดย สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) สะท้อนว่า เด็กดอยหลายกลุ่มอาศัยอยู่ในจังหวัดที่มีเด็กนอกระบบอายุ 3-17 ปี มากถึงร้อยละ 9 ของประชากรวัยเรียนทั้งหมด แต่จังหวัดเหล่านั้นกลับได้รับงบประมาณด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานรวมต่อหัวน้อยกว่าอีกหลายจังหวัดที่จำนวนเด็กนอกระบบไม่มากเท่า อีกทั้งปัญหาเรื่องการศึกษายังเกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆ ที่ทับซ้อนกันมาเนิ่นนาน
เด็กบางคนจึงไม่ใช่แค่หลุดออกจากระบบการศึกษา แต่ถึงขั้นไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ละทิ้งคนชายขอบได้
“ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คิดว่า คนบนดอยใช้ชีวิตแบบสบายๆ มีความสุข ไม่ต้องเครียด แต่จริงๆ ไม่ใช่เลยนะ เด็ก เยาวชน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่บนดอยฆ่าตัวตายเยอะมาก เพราะไม่สามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ เขาไม่รู้ว่าตัวเขาควรจะทำยังไงและอยู่ตรงไหน ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ การให้การศึกษาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับพื้นที่ของเขา
“ทุกวันนี้การศึกษาในระบบช่วยอะไรไม่ได้เลย แค่เรียนให้จบแล้วไปต่อ ใครไปต่อไม่ได้ก็แพ้ไป ไม่ได้ช่วยเรื่องการเข้าใจชีวิต เข้าใจตัวเอง แล้วเขาจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและพาตัวเอง ครอบครัว หรือชุมชนให้อยู่รอดได้อย่างไร”
ครูนิดบอกอีกว่า ที่จริงแล้วโจ๊ะมาโลลือหล่าและศูนย์การศึกษาลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ ควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในฐานะโรงเรียน เทียบเท่ากับโรงเรียนทั่วไปตามกฎหมาย
“เราเป็นสถานศึกษาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และมีสิทธิที่จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ เพราะเรามีสถานะเหมือนโรงเรียน เราสามารถออกวุฒิให้เด็กไปเรียนต่อได้ทุกระดับชั้น ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยก็เรียนได้ แต่ตัวกฎหมายยังไม่เอื้ออำนวย ทำให้กระบวนการถูกยืดออกไป แล้วเราก็ไม่ได้รับงบตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ศูนย์การเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงต้องพึ่งพาตัวเอง ต้องทำให้กระบวนการเรียนรู้สามารถสร้างรายได้ได้ด้วย เพราะเราเก็บค่าใช้จ่ายจากพ่อแม่เด็กไม่ได้ และเราเองก็ต้องช่วยเด็กด้วย”
ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูงเช่นนี้ สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ การไม่เห็นความสำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำนี่เอง ซึ่งสะท้อนผ่านการอุดหนุนงบประมาณเพื่อเด็กด้อยโอกาสของรัฐ งบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งหมด
ครูนิดรำพึงตอนหนึ่งว่า เธอเองก็ไม่ทราบว่าจะประคองศูนย์การเรียนนี้ต่อไปได้นานแค่ไหน ยิ่งในสถานการณ์ของโลกปัจจุบันที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ยิ่งต้องหาวิธีปรับตัว เพื่อให้โรงเรียนบนดอยแห่งนี้อยู่รอดต่อไป และเพื่อไม่ให้ทางเลือกในชีวิตของเด็กดอยต้องหลุดลอยไป
อ้างอิง
- รายงานโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 – 2562) โดยสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- “วิถีปกาเกอะญอ สู่ร้านค้าออนไลน์” เรื่องเล่าจากชุมชน โดย กสศ