สถานการณ์การการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ปัจจุบันในกลุ่มเด็กเล็กยังไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิดได้ จึงมีความเสี่ยงหากให้เด็กมาโรงเรียน ดังนั้น หลายโรงเรียนจึงเลือกที่จะจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ นำเทคโนโลยีมาใช้เป็นทางเลือกให้ความรู้เด็ก ขณะที่บางโรงเรียนก็ใช้ใบงานที่สอดแทรกกิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็กตามช่วงวัย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งมีภารกิจในการดูแลช่วยเหลือให้โอกาส และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ได้สนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัยช่วงวิกฤตสถานการณ์โรคระบาด
เวทีเสวนาพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อการดูแลเด็กปฐมวัย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากศพด.หลายพื้นที่ทั่วประเทศ วลัยลักษณ์ นาใหม่ ศพด.โนนสมบูรณ์ จ.ขอนแก่น หนึ่งในศพด.ที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เล่าว่าที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้มีเด็กทั้งหมด 129 คน แบ่งเป็น 7 ห้อง การทำงานของศพด.ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเฉพาะแอปพลิเคชันไลน์ ที่ครูและผู้ปกครองมีส่วนร่วมกัน ทำให้เด็กมีพัฒนาการครบทั้ง 4 ด้านตามเกณฑ์ มีการให้ความรู้การดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อให้ผู้ปกครองนำไปสอนเด็กต่อได้ โดยในช่วงแรกของการแพร่ระบาดที่ให้เด็กเรียนออนไลน์นั้น จะนัดให้ผู้ปกครองมารับใบงานที่โรงเรียนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง กระทั่ง ล่าสุดจากจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ ที่มีมากขึ้น ก็ได้เปลี่ยนเป็นนัดรับใบงานเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งปัญหาจากการเรียนออนไลน์ พบว่ามีเด็กกว่า 50% ที่ไม่พร้อมในการเรียนออนไลน์ ศพด.จึงจำเป็นต้องปรับเป็นออนแฮนด์ และอธิบายการทำใบงานผ่านไลน์กลุ่ม ทั้งนี้มองว่าจากการเรียนออนไลน์หรือออนแฮนด์ ทำให้เด็กได้ร่วมกันทำกิจกรรมกับผู้ปกครอง แม้บางครอบครัวจะมีปัญหา กรณีที่ผู้ปกครองไม่สะดวกก็ตาม
ขณะที่ แอนนา ฉิมงาม ศพด.หนองสนิท จ.สุรินทร์ ที่จะทำแบบประเมินสำรวจความพร้อมของผู้ปกครอง ก่อนที่จะออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้การประเมินผลจากคลิปที่ผู้ปกครองส่งมาในไลน์และการเยี่ยมบ้าน ซึ่งทำให้เห็นว่าเด็กและผู้ปกครองได้ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยกิจกรรมที่ทางศพด.ออกแบบ จะเน้นให้เด็กได้เล่นพร้อมกับเรียนรู้ รวมทั้งได้เสริมสร้างทักษะชีวิตอย่างการช่วยผู้ปกครองทำงานบ้านต่างๆ ทั้งนี้ ศพด. จะอธิบายขั้นตอนการปฏิบัติแต่ละกิจกรรม ให้ผู้ปกครองประเมินผลผ่านแบบฟอร์ม ซึ่งในส่วนของจังหวัดสุรินทร์ยังมีเครือข่ายแลกเปลี่ยนกิจกรรม กว่า 200 กิจกรรมของศพด.ทั้งจังหวัด ตามหน่วยการเรียนรู้ และหลังจากเปิดให้เรียนออนไซต์ตามปกติ ก็มีการจัดการเรียนรู้ 12 ฐานการเรียนรู้ตามสมรรถนะของเด็ก โดยมี 15-20 กิจกรรม และใน 1 ฐานก็ยังมีหลายกิจกรรม เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อด้วย
ด้าน ธิติธร สายโน ศพด.บ้านคำสะอาดอบต.ยางใหญ่ จ.อุบลราชธานี เล่าถึงข้อมูลพื้นฐานของ ศพด.ว่า มีเด็กนักเรียนทั้งหมด 56 คน แบ่งเป็นห้องอายุ 2-3ปี 31 คน และห้องอายุ 4-5 ปี 25 คน ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดให้เด็กเรียนรู้ผ่านใบงานที่ครูจะให้ผู้ปกครองมารับแบบออนแฮนด์ ทุกวันจันทร์ เนื่องจากเด็กต้องรับธาตุเหล็ก จึงให้ผู้ปกครองพาเด็กมารับใบงานพร้อมเปิดยืมสื่อและอุปกรณ์ของศพด.ได้
เช่นเดียวกับ สุกัญญา เพชรเสน่ห์กุล ศพด.หนองน้ำใส จ.นครราชสีมา ที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กสมวัยด้วยการเล่านิทาน ซึ่งในจำนวนเด็ก 79 คน มีผู้ปกครองให้ความร่วมมือประมาณ 60% เนื่องจากเด็กบางส่วนอยู่กับผู้สูงอายุที่ไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ แต่เบื้องต้นครูได้ทำคู่มือแนะนำวิธีการอ่านนิทาน พร้อมเปิดให้สามารถยืมหนังสือนิทานของศพด.กลับไปอ่านให้เด็กๆฟังได้ ซึ่งในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาการดูแลเด็กปฐมวัย ได้มีการเสนอว่าผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเล่านิทานจากหนังสือได้ หากสามารถเล่านิทานพื้นบ้านให้เด็กๆฟังได้ จะทำให้เด็กเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย
ไม่ต่างจาก สุรีรัตน์ เสาร์แก้ว ศพด.เทศบาลตำบลจักราช จ.นครราชสีมา ที่มีโครงการพัฒนาการเด็กด้วยการเล่านิทาน โดยส่งเสริมให้เด็กเริ่มอ่านจากภาพ รวมทั้งให้ผู้ปกครองเป็นผู้อ่านให้ฟัง เพื่อให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านมีความคิดสร้างสรรค์ มีพัฒนาการครบทั้ง 4 ด้าน สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างครูผู้ปกครองและเด็ก ซึ่งที่ศพด. นี้ มีนักเรียนทั้งหมด 90 คน ก่อนจะจัดโครงการก็ได้คัดเลือกหนังสือ จัดทำคู่มือการยืมหนังสือนิทานเพื่อให้ผู้ปกครองเป็นผู้บันทึก “หนังสือที่หนูอ่าน” ก่อนจะให้ครูเป็นผู้ประเมินพฤติกรรมเด็กจากคำพูดของเด็ก และเพื่อสนับสนุนให้ผู้ปกครองเล่านิทานให้เด็กฟังที่บ้านได้ จึงให้ผู้ปกครองสามารถยืมหนังสือกลับบ้านได้ครั้งละ 1 เล่ม เป็นเวลา 7 วัน นอกจากนี้ทางศพด.ยังมีแผน ที่จะฝึกอบรมผู้ปกครองเพิ่มเติม ทั้งเรื่องหลักการเล่านิทานการทำบันทึกหลังการอ่านและการทำ Big Book จากลังนม เป็นการส่งเสริมทักษะทางการพูดการฟังและการอ่านให้กับเด็กเล็ก ที่ผ่านมานิทานที่ศพด.ใช้ ในโครงการจะเป็นประเภทนิทานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและนิทานส่งเสริมทักษะในการใช้ชีวิตประจำวัน
ด้าน วาสนา อุตสาหะ ศพด.กระเทียม จ.สุรินทร์ ร่วมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ว่า ที่ศพด.มีกิจกรรมการปลูกผักอินทรีย์ ให้เด็กในศูนย์ 48 คน ได้เรียนรู้ทั้งเรื่องอาหารดีมีประโยชน์ส่งเสริมความชอบทานผักให้กับเด็ก สร้างทักษะกระบวนการคิด และลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เด็กรู้จักชนิดของผักเข้าใจวิธีการปลูก จนนำสามารถปลูกได้จริงกับครอบครัว สร้างนิสัยรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองและรู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น
เช่นเดียวกับ อมรรัตน์ สุวรรณกูฎ ศพด.นาส่วง จ.อุบลราชธานี ก็มีโครงการพัฒนาภูมิทัศน์แหล่งเรียนรู้บนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้เด็กทำการเกษตรส่งเสริมโภชนาการพัฒนาร่างกายสติปัญญาและอารมณ์ให้กับเด็กที่อยู่ในการดูแลของศูนย์ 33 คน ทำให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงและ ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมพัฒนา ความรู้ให้กับเด็ก
นอกจากนี้ โครงการไม้กวาดสื่อสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมพัฒนาทักษะสมอง EF ของศพด.วัดศรีพรหม จ.อุบลราชธานี โดย สุรีพร บุญคง ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในการจัดแนวทางติดตามพัฒนาการและการแก้ปัญหาการเรียนรู้ล่าช้า ว่าศพด.ได้ใช้ความร่วมมือจากคนในชุมชนร่วมจัดการเรียนรู้ให้เด็ก โดยมีทั้งพระและปราชญ์ชาวบ้านมาอบรมให้ความรู้กับครู ผู้ปกครองและนักเรียนในการทำไม้กวาด เมื่อทำเสร็จก็นำไปบริจาคให้หน่วยงานในพื้นที่ ทำให้เด็กรู้จักการให้และภูมิใจจากการมีส่วนร่วมด้วย
แม้การแพร่ระบาดของโควิดจะทำให้เด็กเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย แต่การที่อปท.และศพด.ร่วมกับชุมชนและเครือข่ายอย่างกสศ. ผลักดันปรับแผนพัฒนาเด็กวัย 0-6 ปีให้มีพัฒนาการที่สมวัย กระตุ้นให้เด็กเกิดพัฒนาการในทุกมิติ ถือเป็นการสร้างรากฐานที่เข้มแข็งให้เด็กได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตามช่วงวัย