17 กรกฎาคม 2563 เวลา 10.00 น. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดแถลง ‘รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ไทยตามช่วงวัย’
หนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจในการแถลงครั้งนี้คือ ‘รายงานความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย(school readiness)’ โดย รศ.ดร.วีระชาติกิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เสนอข้อมูลใหม่เกี่ยวกับความพร้อมของเด็กปฐมวัยหลากหลายประเด็น อาทิ ทักษะของเด็กในด้านต่างๆ ยังต้องการการพัฒนา ความขัดสนของครอบครัวส่งผลต่อความพร้อมของเด็กปฐมวัย นอกจากนี้นักวิจัยยังได้เสนอดัชนีความเปราะบางสัมบูรณ์เพื่ออุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และแนะทางออกโดยให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัยเพื่อยกระดับการศึกษาไทยจากรากฐาน
รายงานที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘ความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัย’ นี้เป็นการดัดแปลงและปรับปรุงจากเครื่องมือ MELQO (Measuring Early Learning and Quality and Outcomes) ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันของหน่วยงานระดับนานาชาติ เครื่องมือซึ่งถูกยอมรับในองค์กรระหว่างประเทศที่มีการใช้สำรวจประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศทั่วโลก
รายงานชิ้นนี้ทำการสำรวจในปีการศึกษา 2561 โดยสำรวจข้อมูลแล้วในจังหวัดมหาสารคาม ศรีสะเกษ เชียงใหม่ ระยอง และภูเก็ต ประกอบไปด้วยข้อมูลเด็กชั้นอนุบาล 3 ทั้งหมด 3,402 คน จาก 229 โรงเรียน ข้อมูลครอบครัว 2,900 ครัวเรือน และข้อมูลครู 460 คน ในปีการศึกษา 2562 ดำเนินการสำรวจข้อมูลแล้วทั้งสิ้น 19 จังหวัด โดยมีข้อมูลเด็กชั้นอนุบาล 3 ทั้งหมด 9,526 คน จาก 684 โรงเรียน ข้อมูลครอบครัว 8,332 ครัวเรือน และข้อมูลครู 774 คน
สำหรับการสำรวจในจังหวัดมหาสารคามเป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Panel Data) ซึ่งจัดเก็บข้อมูลเด็กปฐมวัยในจังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2558 กระทั่งปัจจุบัน โดยในปีล่าสุด (2562) มีกลุ่มตัวอย่างเด็กปฐมวัยทั้งสิ้น 1,437 คน จาก 1,237 ครัวเรือน ข้อมูลในส่วนนี้ถูกใช้ในการวิเคราะห์เชิงลึกที่ช่วยบ่งชี้ถึงสาเหตุหรือปัจจัยที่มีผลต่อความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัย และชี้แนะแนวทางที่จะสามารถยกระดับความพร้อมฯ ของเด็กได้ด้วย
ดัชนีความเปราะบางสัมบูรณ์ สะท้อนช่องว่างความเหลื่อมล้ำ
นักวิจัยเสนอว่า ค่าเฉลี่ยของความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ของเด็กอนุบาล 3 อยู่ที่ร้อยละ 72 ส่วนค่าเฉลี่ยของความพร้อมด้านภาษาของเด็กอนุบาล 3 อยู่ที่ร้อยละ 55 ข้อมูลส่วนนี้มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ค่าเฉลี่ยของคะแนนในจังหวัดชายแดนภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าต่ำกว่าภูมิภาคอื่นพอสมควร
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยระบุว่าการพิจารณาจากค่าเฉลี่ยของคะแนนความพร้อมฯ อาจจะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า แต่ละจังหวัดหรือพื้นที่มีปัญหามากน้อยแตกต่างกันเพียงใด ดังนั้น นักวิจัยจึงเสนอให้ใช้สัดส่วนเด็กปฐมวัยที่มีคะแนนระดับต่ำมาก (คะแนนน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 25) ในแต่ละพื้นที่ หรือที่เรียกว่า ดัชนีความเปราะบางสัมบูรณ์ (absolute vulnerability index)
ดัชนีความเปราะบางสัมบูรณ์ช่วยบ่งบอกถึงขนาดของปัญหาในแต่ละพื้นที่ได้ดีกว่าระดับคะแนนเฉลี่ย การวัดด้วยรูปแบบนี้จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น และที่สำคัญช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสำคัญกับเด็กที่มีความเปราะบางหรือเด็กหางแถวมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การออกออกแบบนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่มีประสิทธิภาพในอนาคต
ความพร้อมทางคณิตศาสตร์และภาษาอยู่ในระดับยอมรับได้
ภาพรวมความพร้อมทางคณิตศาสตร์และความพร้อมทางภาษา นักวิจัยพบว่ามีเพียงร้อยละ 4 (360 คน จาก 9,517 คน) ของเด็กปฐมวัยที่มีคะแนนคณิตศาสตร์ระดับต่ำมาก ขณะที่ความพร้อมด้านภาษา สัดส่วนนี้มีค่าสูงกว่าเล็กน้อย แต่ก็มีค่าเพียงร้อยละ 6
ดังนั้น หากพิจารณาในภาพรวม เด็กอนุบาล 3 ในประเทศไทย (ข้อมูลจาก 19 จังหวัด) ส่วนใหญ่มีความพร้อมด้านคณิตศาสตร์และภาษาในระดับที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม ในสามจังหวัดชายแดนใต้มีสัดส่วนนี้ในด้านภาษาสูงกว่าร้อยละ 10 ซึ่งอาจไม่น่าแปลกใจเพราะบริบทและวัฒนธรรมด้านภาษาที่แตกต่างน่าจะส่งผลต่อคะแนนด้านภาษามากพอสมควร
เมื่อพิจารณาความพร้อมทั้งสองด้านในรายละเอียดมากขึ้นจะพบว่า ทักษะที่เด็กอนุบาล 3 สามารถทำได้ดีส่วนใหญ่เป็นทักษะพื้นฐาน เช่น การรู้จักตัวเลข และการรู้จักตำแหน่ง (spatial vocabulary) แต่สำหรับทักษะที่จำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้อย่างเป็นระบบผ่านกระบวนการที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการสอนแบบท่องจำ เช่น การต่อรูปในใจ (mental transformation) และความเข้าใจในการฟัง (listening comprehension) กลับทำได้ไม่ดีนัก
สัดส่วนเด็กปฐมวัยที่มีคะแนนด้านการรู้จักตัวเลขในระดับต่ำมาก อยู่ที่ประมาณร้อยละ 9 ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนัก แต่ในส่วนของทักษะการต่อรูปในใจ (mental transformation) มีสัดส่วนเด็กปฐมวัยที่มีคะแนนด้านนี้ในระดับต่ำมากค่อนข้างสูงที่ประมาณร้อยละ 20
ข้อสังเกตของนักวิจัยคือ น่าจะเป็นเพราะทักษะการต่อรูปในใจมีความซับซ้อนและเป็นนามธรรม (abstract) มากกว่า การจะตอบคำถามได้ถูกต้องจำเป็นต้องมีความสามารถในการคิดแบบนามธรรมเชิงเรขาคณิตพอสมควร และที่สำคัญการจะพัฒนาทักษะนี้น่าจะต้องอาศัยการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กได้มีจินตนาการและคิดอย่างเป็นระบบมากกว่าการสอนแบบให้ท่องจำ
นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบความแตกต่างของความรุนแรงของปัญหาที่เกี่ยวกับทักษะทั้งสองด้านในแต่ละจังหวัด โดยจังหวัดที่มีปัญหามากคือจังหวัดที่อยู่ชายขอบเป็นหลัก
อนึ่ง สัดส่วนเด็กปฐมวัยที่มีคะแนนด้านการรู้จักตัวเลขในระดับต่ำมาก (ตอบถูกไม่ถึง 2 ข้อ จากทั้งหมด 4 ข้อ) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 7 (จากทั้งหมด 12,919 คน) ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนัก แต่ในส่วนของทักษะด้านความเข้าใจในการฟัง มีสัดส่วนเด็กปฐมวัยที่มีคะแนนด้านนี้ในระดับต่ำมากค่อนข้างสูงที่ประมาณร้อยละ 29 ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะทักษะด้านนี้ต้องอาศัยทั้งความเข้าใจในความหมายของภาษาและการมีสมาธิ (attention) ที่จะต้องฟังเรื่องราวให้ครบถ้วน
เด็กอนุบาล 3 ยังขาดความพร้อมหลายด้านก่อนเข้าเรียนชั้นประถม
ในการสำรวจความพร้อมจากมิติทักษะด้านการคิดเชิงบริหาร (executive functions) นักวิจัยได้ทดสอบองค์ประกอบหนึ่งของทักษะด้านการคิดเชิงบริหารที่เรียกว่า ทักษะด้านความจำขณะทำงาน (working memory) โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า การจำและบอกเลขไปข้างหน้าและกลับหลัง (digit span memory)
สิ่งที่น่าสนใจคือ ทักษะนี้ไม่ได้สะท้อนความรู้ที่เด็กมี ซึ่งแตกต่างจากทักษะด้านคณิตศาสตร์และภาษา ดังนั้น จึงคาดว่าน่าจะไม่ใช่ผลที่มาจากการท่องจำ หรือความรู้ที่มาจากการสอนแบบท่องจำ แต่น่าจะเป็นผลมาจากการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยได้ฝึกคิดและทบทวนสิ่งที่ตนได้ดำเนินการไปอย่างสม่ำเสมอ
ผลการวิเคราะห์ภาพรวมในส่วนนี้พบว่า มีเด็กปฐมวัยจำนวนร้อยละ 13 ที่ไม่สามารถจำและบอกเลขไปข้างหน้า (forward digit span memory) ได้เลย ในขณะที่การจำและบอกเลขกลับหลัง (backward digit span memory) มีเด็กที่ทำไม่ได้เลยมากถึงร้อยละ 23 ซึ่งก็อาจจะไม่แปลกเพราะการบอกเลขกลับหลังนั้นยากกว่าการบอกไปข้างหน้าอย่างชัดเจน
หากพิจารณาสัดส่วนดังกล่าวในระดับจังหวัดก็จะพบว่า มีหลายจังหวัดที่มีสัดส่วนของเด็กที่ไม่สามารถจำและบอกเลขไปข้างหน้าได้เลยสูงถึงร้อยละ 15 และไม่สามารถจำและบอกเลขกลับหลังได้เลยสูงถึงร้อยละ 30
นอกจากนี้ หากพิจารณาจากค่าเฉลี่ยของจำนวนตัวเลขที่เด็กปฐมวัยสามารถจำและบอกทวนได้ พบว่า โดยเฉลี่ยเด็กอนุบาล 3 ในประเทศไทยสามารถจำและบอกเลขไปข้างหน้า (forward digit span memory) ได้ประมาณ 3.50 ตัว และสามารถจำและบอกเลขกลับหลัง (backward digit span memory) ได้ประมาณ 3.06 ตัว สิ่งที่น่าสนใจคือเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีทักษะด้านนี้ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ
นักวิจัยได้นำการสำรวจของเด็กไทยข้างต้นไปเปรียบเทียบกับเด็กอเมริกันพบว่า เด็กปฐมวัยไทยมีความพร้อมด้านนี้ต่ำกว่าเด็กอเมริกันมากพอสมควร โดยค่าเฉลี่ยเด็กไทย (อายุระหว่าง 6-7 ปี) สามารถจดจำและบอกตัวเลขไปข้างหน้าได้ประมาณ 3.53 ตัว ในขณะที่ค่าเฉลี่ยสำหรับเด็กอเมริกัน (อายุระหว่าง 6-8 ปี) สามารถทำได้ประมาณ 5.19 ตัว ส่วนการจำและบอกเลขกลับหลัง เด็กไทยสามารถทำได้ประมาณ 3.09 ตัว ส่วนเด็กอเมริกัน (อายุระหว่าง 6-8 ปี) สามารถทำได้ประมาณ 3.50 ตัว
สำหรับความพร้อมของกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มีความสำคัญกับความสำเร็จในการเรียนของเด็กในอนาคต เพราะช่วยให้เด็กสามารถเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับระดับสติปัญญาของเด็กด้วย
นักวิจัยได้ทดสอบโดยการให้เด็กวาดรูปกากบาท วงกลม และสี่เหลี่ยม ผลการวิเคราะห์พบว่า มีเด็กปฐมวัยจำนวนร้อยละ 13 ที่มีความพร้อมของกล้ามเนื้อมัดเล็กต่ำมาก (ไม่สามารถวาดทั้งสามรูปให้ถูกต้องได้เลย) จังหวัดที่มีปัญหาด้านนี้ค่อนข้างรุนแรงก็ยังเป็นกลุ่มสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ที่น่าประหลาดใจคือ จังหวัดแพร่มีทักษะทางวิชาการดี แต่มีทักษะด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กค่อนข้างต่ำ
กล่าวโดยสรุป เด็กอนุบาล 3 ในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (school readiness) ในหลายๆ ด้าน และแต่ละจังหวัดก็มีระดับความรุนแรงของปัญหาที่แตกต่างกัน ดังจะเห็นได้จากความแตกต่างหรือความเหลื่อมล้ำของสัดส่วนเด็กปฐมวัยที่มีคะแนนด้านการรู้จักในระดับต่ำมาก นักวิจัยหวังว่า ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้จะช่วยให้ กสศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถชี้เป้าพื้นที่ที่ควรจะให้การสนับสนุน ซึ่งจะช่วยให้การทำงานเชิงพื้นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การเปรียบเทียบสัดส่วนเด็กปฐมวัยที่มีคะแนนระดับต่ำมาก (คะแนนน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 25) ระหว่างกลุ่มเด็กที่มาจากครอบครัวที่เคยมีปัญหาอาหารไม่เพียงพอแก่การบริโภค และกลุ่มที่ไม่เคยประสบปัญหา
ความขัดสนของครอบครัวส่งต่อความพร้อมของเด็กปฐมวัย
มาสู่การแถลงผลการวิเคราะห์เชิงลึกด้วยเครื่องมือทางสถิติ นักวิจัยได้นำเสนอผลโดยการเปรียบเทียบค่าสถิติอย่างง่าย ข้อค้นพบที่สำคัญข้อแรกคือ ความยากจนหรือความขัดสนของครอบครัวส่งผลเสียต่อความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัย
จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่ใช้ข้อมูลแบบตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Panel Data) พบว่า เด็กปฐมวัยที่มาจากครอบครัวยากจนมากกว่ามักจะมีความพร้อมฯ ต่ำกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่มีฐานะยากจนสัมพัทธ์ (relatively poor) จะมีความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ (mathematics) ต่ำกว่าเด็กที่มีฐานะดีสัมพัทธ์ (relatively wealthy) โดยเฉลี่ยประมาณ 0.23 เท่าของความเบี่ยงเบนมาตรฐานของคะแนนอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อค้นพบเดียวกันนี้สามารถนำเสนอได้ในรูปแบบการเปรียบเทียบสัดส่วนของเด็กที่มีความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ต่ำมาก ระหว่างกลุ่มเด็กที่มีฐานะยากจนสัมพัทธ์กับกลุ่มเด็กที่มีฐานะดีสัมพัทธ์ ซึ่งบ่งบอกว่า โอกาสที่จะมีความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ต่ำมากของเด็กฐานะดีนั้นน้อยกว่าเด็กที่ยากจนอย่างชัดเจน
ขณะที่ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความพร้อมฯ จากทั้ง 6 จังหวัดที่สำรวจในปี 2561 พบว่า ความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟัง (listening comprehension) ด้านการรู้จักตัวเลข (number identification) และด้านการต่อรูปในใจ (mental transformation) ของเด็กที่มาจากครอบครัวที่เคยมีปัญหาอาหารไม่เพียงพอแก่การบริโภค มีค่าต่ำกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่เคยมีปัญหา โดยสัดส่วนของเด็กจากครอบครัวที่เคยมีปัญหาอาหารไม่เพียงพอที่มีคะแนนต่ำมาก มีค่าสูงกว่ากลุ่มเด็กที่ไม่เคยมีปัญหาอย่างชัดเจน หากมองว่า การที่ครอบครัวเคยมีปัญหาอาหารไม่เพียงพอแก่การบริโภคเป็นดัชนีชี้วัดความขัดสนของครอบครัว ก็จะสามารถสรุปได้ว่า ความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยที่มาจากครอบครัวที่ขัดสนจะต่ำกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง
การศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพทำได้ ศูนย์เด็กเล็กในชนบทคือกุญแจสำคัญ
ในส่วนสุดท้ายของการแถลง นักวิจัยได้นำเสนอคำถามเชิงนโยบายผ่านคำถามที่ว่า “ควรจะช่วยเหลือเด็กปฐมวัยในครอบครัวที่ขัดสนอย่างไร จึงจะสามารถช่วยลดช่องว่างของระดับความพร้อมฯ (school readiness gap) ของเด็กปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
โดยเริ่มต้นการตอบคำถามข้างต้นด้วยการย้อนกลับไปที่กระบวนการสร้างทุนมนุษย์ (human capital production process) โดยต้องตระหนักว่า ความขัดสนไม่ใช่ปัจจัยนำเข้า (input) ของกระบวนการสร้างทุนมนุษย์โดยตรง แต่ความยากจนหรือการมีทรัพยากรที่จำกัดอาจจะส่งผลให้ครัวเรือนไม่สามารถผลิตหรือมอบปัจจัยนำเข้าให้กับเด็กได้
ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวที่ยากจนหรือขัดสนอาจจะไม่สามารถทำกิจกรรมที่มีคุณภาพกับเด็กได้มากเท่าที่ควร เพราะจำเป็นต้องใช้เวลาที่มีอยู่ในการหาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า ครอบครัวที่ขัดสนอาจจะไม่สามารถซื้อหรือจัดหาอุปกรณ์หรือหนังสือที่มีคุณภาพได้ หากเป็นกรณีแรกอาจจะแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาทักษะให้ผู้ปกครองสามารถจัดกิจกรรมที่มีคุณภาพร่วมกับบุตรหลานของตน (parenting education) หรือด้วยการยกระดับการศึกษาปฐมวัยให้มีคุณภาพมากขึ้น เพราะสถานศึกษาปฐมวัยสามารถทำกิจกรรมที่มีคุณภาพกับเด็กเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไปจากที่บ้านได้ไม่มากก็น้อย แต่หากเป็นกรณีหลัง อาจจะแก้ปัญหาได้ด้วยการให้เงินช่วยเหลือครอบครัวเด็กปฐมวัยที่ขาดแคลน
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยอมรับว่ายังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่านโยบายใดจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้เนื่องจากยังเข้าใจกระบวนการสร้างทุนมนุษย์เพียงเล็กน้อย จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก แต่จากการศึกษาวิจัยมาจนถึงปัจจุบัน พอจะสรุปได้ว่า การศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพสามารถช่วยพัฒนาเด็กปฐมวัยได้ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชนบทสามารถทำหน้าที่นี้ได้
ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยในชนบทของจังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์พบว่า การศึกษาหรือการจัดการเรียนรู้ระดับปฐมวัยที่มีคุณภาพในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสามารถช่วยให้เด็กปฐมวัยมีความพร้อมฯ ได้เป็นอย่างดี การที่เด็กปฐมวัยได้เรียนกับครูในโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘ไรซ์ไทยแลนด์’ ส่งเข้าไปช่วยสอนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ได้รับการสุ่มเลือก (randomized assignment) เป็นตัวแทนของคำว่าการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ
ผลการวิเคราะห์เชิงลึกระบุว่า เด็กที่ได้เรียนกับครูไรซ์ไทยแลนด์มีทักษะด้านความจำขณะทำงาน (working memory) สูงกว่าเด็กกลุ่มที่เหลือโดยเฉลี่ยประมาณ 0.56 เท่าของความเบี่ยงเบนมาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ งานวิจัยของ Chujan and Kilenthong (2020) ได้ศึกษาประเด็นเดียวกันนี้แต่ใช้ผลการทดสอบเด็กด้วยเครื่องมือ DSPM (Developmental Surveillance and Promotion Manual – การเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย) ซึ่งพัฒนาโดยกระทรวงสาธารณสุข ผลการวิจัยพบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้เรียนรู้ผ่านการเรียนหลักสูตรไรซ์ไทยแลนด์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะมีทักษะด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก สติปัญญา การรับรู้ภาษา การแสดงออกทางภาษา และการช่วยเหลือตัวเองและสังคมที่ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนอย่างมีนัยสำคัญ
ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจึงมั่นใจว่า การศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพจะสามารถช่วยพัฒนาเด็กปฐมวัยได้ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชนบทสามารถทำหน้าที่นี้ได้