คุณภาพของการศึกษามักแสดงผลออกมาด้วยตัวเลขชี้วัดต่างๆ โดยมีปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของตัวเลขเหล่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่มักจะถูกมองข้ามไปคือ พื้นฐานด้านสภาพจิตใจและอารมณ์ของผู้เรียน โดยเฉพาะความสุขในการเรียน
ทุกวันนี้นักเรียนหลายล้านคนทั่วโลกต้องประสบกับความเครียดจากระบบการศึกษาที่เน้นการแข่งขัน ถึงแม้ความเครียดและความกดดันจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการดำเนินชีวิต แต่อย่างน้อยการเรียนรู้ยังต้องอาศัยแรงจูงใจเชิงบวก เพื่อผลักดันให้เด็กคนหนึ่งพร้อมที่จะเติบโตในระบบการศึกษาต่อไป
เรื่องราวหนึ่งที่น่าสนใจของการวิจัยในสหรัฐอเมริกา โดย คริสตินา ฮินตัน (Christina Hinton) อาจารย์จาก Harvard Graduate School of Education ทำให้เห็นว่า ความสุขสัมพันธ์กับผลการเรียนอย่างมีนัยสำคัญ เธอค้นหาว่ามีปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงมัธยมปลายมีแรงจูงใจในการเรียน โดยพบว่าความสุขเป็นแรงผลักดันในการเรียนรู้สำหรับนักเรียนทุกคน และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับคุณครูและเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง ความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยสร้างบรรยากาศในการเรียนที่ปลอดภัยและสบายใจ ซึ่งจะทำให้ผลการเรียนดีขึ้นไปด้วย
การให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของนักเรียนจึงมีความจำเป็นในการสร้างการศึกษาเชิงบวก โดยให้ความสำคัญกับจิตวิทยาพัฒนาการซึ่งอธิบายด้วยทฤษฎีของ Maslow’s (1943) ได้ว่า อารมณ์หรือความรู้สึกคือความจำเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ ของมนุษย์ นักเรียนที่ได้รับการสนับสนุนด้านสภาพจิตใจอย่างเพียงพอจึงมีแนวโน้มที่จะเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
งานวิจัยเรื่อง ‘การพัฒนามาตรวัดความสุขในการเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในเขตกรุงเทพมหานคร’ ของ สิริกุล กิตติมงคลชัย และ ชุติมา สุรเศรษฐ (2564) ได้ศึกษาองค์ประกอบและการพัฒนาเกณฑ์การวัดความสุขในห้องเรียนกับนักเรียน 240 คน ในกรุงเทพมหานคร พบว่า องค์ประกอบของความสุขในการเรียนมีถึง 12 อย่างด้วยกัน แต่สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ด้านหลัก คือ ด้านความสัมพันธ์ สภาวะทางจิตใจ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์และบรรยากาศในโรงเรียนเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้กับนักเรียน ครูผู้สอนจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างบรรยากาศเหล่านั้นขึ้นมา ซึ่งควรมีทั้งการสื่อสารที่ดีและสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนอย่างเหมาะสม
การสื่อสารด้วยการสร้างบทสนทนาที่ดีต่อกันระหว่างครูกับนักเรียนจะช่วยให้นักเรียนต้องการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้น โดยครูผู้สอนต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระภายใต้การเคารพซึ่งกันและกัน การมีส่วนร่วมเช่นนี้จะทำให้นักเรียนรู้สึกถึงคุณค่าของตนเองและส่งเสริมความกล้าแสดงออกมากขึ้น โดยการสร้างการมีส่วนร่วมสามารถทำได้หลายวิธีผ่านการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน เช่น การมอบหมายให้นักเรียนนำเรื่องราวที่น่าสนใจมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน การแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อให้นักเรียนทุกคนในแต่ละกลุ่มมีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตนเองมากขึ้น เป็นต้น
เมื่อเป้าหมายของการศึกษาคือการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การพัฒนาด้านจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้นักเรียนได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ระบบการศึกษาจึงควรเป็นระบบที่ช่วยส่งเสริมอิสระทางความคิดและความเชื่อมั่นของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ และกล้าแสดงออกบนพื้นฐานของการเคารพตนเองและผู้อื่นต่อไป
อ้างอิง
- Because I’m Happy: An intriguing study notes a correlation between a student’s level of happiness and GPA
- จิตวิทยาเชิงบวกว่าด้วยเรื่องการเรียนรู้ตามความถนัด การเรียนรู้อย่างมีความสุข
- สิริกุล กิตติมงคลชัย และ ชุติมา สุรเศรษฐ. (2564). การพัฒนามาตรวัดความสุขในการเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในเขตกรุงเทพมหานคร. วารสารวิธีวิทยาการวิจัย, 34(2), 109-132.