เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) หมายถึง เมืองที่มีการใช้ทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ โดยมีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพและส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต องค์การยูเนสโกจึงจัดตั้งเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อเป็นช่องทางให้เมืองที่ต้องการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความก้าวหน้าในการทำงาน รวมถึงมีระบบสนับสนุนด้านองค์ความรู้และเครือข่ายการทำงานในระดับนานาชาติ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา 4 เมืองของไทยที่ได้ผ่านการคัดเลือกให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ต้องต่อสู้กับทั้งปัญหาโรคระบาด เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จึงเป็นโอกาสในการทบทวนว่าเส้นทางของการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้นั้นเป็นอย่างไร รวมทั้งมองให้ไกลขึ้นว่าผู้นำที่ดี จะเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร ใน Equity Talk ครั้งที่ 22 นี้ จึงชวนทุกท่านกลับมาทบทวนและหาคำตอบว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ จะสามารถสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมืองได้อย่างไร ร่วมกับ ดร.ปรีชา อนุรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย, ดนย์ ทักศินาวรรณ ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา, กิติพร ทัพศาสตร์ นักวิชาการ ฝ่ายยุทธศาสตร์ภาคีเครือข่ายวิชาการและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย (วสศ.) และ อิษฏ์ ปักกันต์ธร นักวิชาการ กสศ.
ชวนแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้ นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเมืองแห่งการเรียนรู้ ผ่าน Equity Talk ครั้งที่ 22 ในหัวข้อ “ผู้นำดี เมืองดี Learning City เปิดพื้นที่ เปลี่ยนเมือง เป็นห้องเรียน”