การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาของชาติ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา’ คือหนึ่งในหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 89 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528
- ในปี 2565 พบว่างบประมาณที่ถูกจัดสรรให้สำนักการศึกษานำไปใช้ รั้งท้ายเป็นอันดับที่ 10 ซึ่งได้มา 786 ล้านบาท น้อยกว่าอันดับ 1 ถึง 10 เท่า
- กรุงเทพฯ มีคนจนอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีชุมชนแออัดมากถึง 641 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 31 ของพื้นที่ ในบ้านเรือนเบียดเสียดยัดเยียดเหล่านั้นประกอบไปด้วย 146,462 ครัวเรือน ประชากร 579,630 คน โดยที่ 1 ใน 3 คือเด็กและเยาวชนซึ่งอยู่ในวัยเรียน
- คนจนจำนวนมากต้องให้ลูกหลานตัวน้อยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน นอกจากปรารถนาว่าเด็กๆ จะได้เรียนแล้ว ขั้นต่ำคือพวกเขาจะมีอาหารกลางวันกิน และพ่อแม่มีเวลาไปทำงาน แต่เรื่องใหญ่ก็คือ ศูนย์ฯ เหล่านี้มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก
- ศูนย์ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ครูไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีพอ กระทั่งเงินเดือนที่ควรจะเป็นค่าตอบแทนที่แน่นอนก็กลายเป็นง่อนแง่น ไม่นับความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพัฒนาการ เหล่านี้คือปัญหาที่ศูนย์พัฒนาเด็กกำลังประสบพบเจอทั้งสิ้น
ที่พูดมายังไม่ได้รวมถึงกลุ่มเด็กนอกระบบทีหลุดออกจากห้องเรียน หลายคนใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนน คุณภาพชีวิต การศึกษา รายได้ เมื่อเจอกับสถานการณ์โควิดยิ่งทำให้เรื่องยากอยู่แล้วยิ่งยากกว่าเดิม
ใน Equity Talk ครั้งที่ 21 นี้ เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ชวนคนที่คลุกคลีกับประเด็นเด็กและคนจนเมือง ทั้ง 3 ท่านมาแลกเปลี่ยนพูดคุย ได้แก่ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และ นริศราภรณ์ อสิพงษ์ หัวหน้าแผนกครูข้างถนน มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล (Mercy Centre) ในหัวข้อ “การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เกี่ยวอะไรกับเด็กจนเมือง”