เข้าสู่ระบบ

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร (Small Isolated Schools) มากกว่า 1,500 โรงเรียนทั่วประเทศที่ไม่สามารถยุบและควบรวมได้เนื่องจากมีระยะทางห่างไกลจากโรงเรียนข้างเคียงมากกว่า 10 กิโลเมตร หากนักเรียนที่ไม่มีพาหนะประเภทรถยนต์อาจต้องใช้เวลาเดินทางไป-กลับโรงเรียนนานมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน (ไป-กลับ) ซึ่งถือเป็นภาระการเดินทางของนักเรียนและผู้ปกครองที่สูงมากโดยเฉพาะสำหรับนักเรียนและครอบครัวที่มีรายได้น้อยและไม่มีพาหนะในการเดินทาง โดยปัจจุบันสถานศึกษาที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวจัดการศึกษาให้กับนักเรียนราว 100,000 คนทั่วประเทศ

ความคืบหน้า 50%

พัฒนาระบบการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพของโรงเรียน (Fundamental School Quality Level : FSQL) แม้โรงเรียนอยู่ห่างไกลแต่มีคุณภาพทัดเทียมโรงเรียนในเมือง

หลักการและเหตุผล

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร (Small Isolated Schools) มากกว่า 1,500 โรงเรียนทั่วประเทศที่ไม่สามารถยุบและควบรวมได้เนื่องจากมีระยะทางห่างไกลจากโรงเรียนข้างเคียงมากกว่า 10 กิโลเมตร หากนักเรียนที่ไม่มีพาหนะประเภทรถยนต์อาจต้องใช้เวลาเดินทางไป-กลับโรงเรียนนานมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน (ไป-กลับ) ซึ่งถือเป็นภาระการเดินทางของนักเรียนและผู้ปกครองที่สูงมากโดยเฉพาะสำหรับนักเรียนและครอบครัวที่มีรายได้น้อยและไม่มีพาหนะในการเดินทาง โดยปัจจุบันสถานศึกษาที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวจัดการศึกษาให้กับนักเรียนราว 100,000 คนทั่วประเทศ

นอกจากนั้น หากพิจารณาข้อมูลระยะทางที่ห่างไกลจากโรงเรียนข้างเคียงเพิ่มขึ้นเป็น 20 กิโลเมตร หรือ เท่ากับระยะเวลาในการเดินทางมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน (ไป-กลับ) ของนักเรียนที่ไม่มีพาหนะในการเดินทางจะพบว่ามีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารเป็นพิเศษดังกล่าวมากกว่า 800 โรงเรียน ซึ่งจัดการศึกษาให้นักเรียนอยู่มากกว่า 36,000 คน

อย่างไรก็ดี กระบวนการจัดสรรงบประมาณให้แก่สถานศึกษาเหล่านี้มากกว่าร้อยละ 95 ยังคงเป็นการจัดสรรตามอุปทาน (Supply-side Financing) ที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการพิเศษของสถานศึกษาและผู้เรียนเหล่านี้ โดยในส่วนของบริหารอัตรากำลังครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษากว่าร้อยละ 70-80 พบว่าสถานศึกษาเหล่านี้ยังคงประสบปัญหาครูไม่ครบชั้นและไม่ครบสาระวิชาทำให้บางสถานศึกษาครู 1-2 คนจำเป็นต้องสอนหลายช่วงชั้นและทุกสาระวิชา ในขณะที่การจัดสรรงบประมาณรายการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงบอุดหนุนรายหัว (Per-Head Subsidy) และงบลงทุน ยังพบว่าไม่เพียงพอกับสภาพความจำเป็นที่แท้จริง เนื่องจากจำนวนนักเรียนต่อโรงเรียนมีน้อย ต่างจากโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนจำนวนมากกว่า ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนในโรงเรียนกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวพันกับสถานศึกษาจำนวนมากและจะพบเห็นได้แทบทุกจังหวัดในประเทศไทย รวมทั้งความเกี่ยวโยงกับระบบการจัดสรรงบประมาณ ระบบสารสนเทศ และกฏหมายระเบียบข้อบังคับต่างๆ จำนวนมาก การแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบจึงจำเป็นต้องมีการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้เชิงระบบขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนำประสบการณ์การแก้ไขปัญหาลักษณะดังกล่าวในระดับนานาชาติมาประกอบการพิจารณา รวมทั้งมีการดึงเอาหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันศึกษาแนวทางการปฏิรูปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ในการนี้ ความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง กสศ. กับธนาคารโลก (World Bank) เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของสถานศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร (Equitable Education for Isolated School) จะดำเนินการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากประสบการณ์ระดับนานาชาติ ที่ธนาคารโลกได้ช่วยสนับสนุนการปฏิรูปและแก้ไขปัญหาดังกล่าวในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น เวียดนามและมาเลเซีย เป็นต้น

วิธีดำเนินการ

กรอบมาตรฐานขั้นพื้นฐานในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพของโรงเรียน (Fundamental School Quality Level: FSQL) สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ.

           ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารประมาณ 1,500 โรงที่ไม่สามารถยุบและควบรวมได้ ซึ่งจัดการศึกษาให้กับนักเรียนราว 100,000 คน และด้วยวิธีจัดสรรงบประมาณของรัฐในรูปแบบเงินอุดหนุนรายหัว (Per-head subsidy) ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาแก่เด็กเยาวชนในโรงเรียนกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก จากการศึกษาประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างเวียดนาม ได้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “มาตรฐานปัจจัยพื้นที่ในการจัดการศึกษาขั้นต่ำ” (Fundamental School Quality Level: FSQL)” ในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบของการจัดสรรงบประมาณการศึกษาด้วยหลักความเสมอภาค (Equity-based Budgeting) ให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลที่มีการขาดแคลนโอกาสและทรัพยากรทางการศึกษา รัฐบาลเวียดนามได้ร่วมกับธนาคารโลกในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำด้านทรัพยากรทางการศึกษาที่ทุกโรงเรียนพึงบรรลุพร้อมทั้งจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นให้ทำให้เกิดมาตรฐานทางด้านทรัพยากรระหว่างโรงเรียนชนบทกับโรงเรียนในเมืองที่ใกล้เคียงกันภายในระยะเวลา 10 ปี และส่งผลต่อภาพรวมของผลสัมฤทธิ์ประเทศ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนาแนวทางการจัดสรรงบประมาณด้วยหลักความแสมอภาค (Equity-based Budgeting) ของหน่วยงานต้นสังกัด (สพฐ.) ให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลให้สามารถได้รับการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับความจำเป็นขั้นพื้นฐานของสถานศึกษาได้อย่างแท้จริง โดยไม่เป็นการเพิ่มภาระงบประมาณด้านการศึกษาของประเภทในภาพรวม

1) วิจัยพัฒนามาตรฐานปัจจัยพื้นฐานในการจัดการศึกษา (Fundamental School Quality Level: FSQL) เพื่อสนับสนุนการประเมินและพัฒนามาตรฐานปัจจัยพื้นฐานขั้นต่ำของสถานศึกษาขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลอย่างเป็นระบบ

2) วิจัยพัฒนาแนวทางการบริหารงบประมาณการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ตามหลักความเสมอภาค (Equity-based Budgeting)

ระยะเวลาโครงการ

หมวดหมู่งานวิจัย

เอกสารดาวน์โหลด