เข้าสู่ระบบ

ช่วงวัยที่ควรได้รับการพัฒนาและปลูกฝังการศึกษาเพื่อให้เกิดพัฒนาการในทุกด้าน คือ “เด็กปฐมวัย” ซึ่งเป็นบุคคลแรกเกิดจนถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่าหกปี เนื่องจากเด็กปฐมวัยถือเป็นรากฐานของสังคม

ความคืบหน้า 100%

การสังเคราะห์ปัจจัยและแนวทางหลักในการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย

หลักการเหตุผลและความสำคัญการวิจัย

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการศึกษายังคงเป็นเครื่องมือหลักที่ช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกได้เป็น อย่างดี บุคคลในทุกช่วงวัยจึงควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา โดยได้รับการพัฒนาตามสิทธิอย่างเสมอภาคและทั่วถึง ทั้งนี้ ช่วงวัยที่ควรได้รับการพัฒนาและปลูกฝังการศึกษาเพื่อให้เกิดพัฒนาการในทุกด้าน คือ “เด็กปฐมวัย” ซึ่งเป็นบุคคลแรกเกิดจนถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่าหกปี เนื่องจากเด็กปฐมวัยถือเป็นรากฐานของสังคมและประเทศชาติ การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและให้ผลตอบแทนแก่สังคมดีที่สุดในระยะยาว โดยจะคืนผลตอบแทนกลับมาในอนาคตมากถึง 7 เท่า เป็นทั้งการเพิ่มคุณภาพทรัพยากรบุคคลของประเทศและช่วยลดอัตราการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย (สุริยา ฆ้องเสนาะ, 2558) การพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งในด้านอารมณ์ ความคิด บุคลิกภาพ ทักษะต่างๆ ทั้งทางร่างกายและสติปัญญา จึงมีความสำคัญและอาจมีรูปแบบที่หลากหลายแตกต่างจาก ช่วงวัยอื่น ดังนั้น ในบริบทของสถานศึกษาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความรัก ความเข้าใจ ความสามารถ และประสบการณ์ของครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย ที่จะร่วมกันดูแลและดำเนินการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม การจัดการศึกษาในระดับปฐมวัยจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวมโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเรียนรู้แก่เด็ก โดยมีครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย เป็นผู้ดำเนินการหลัก

ตามที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560 – 2579) มีเป้าหมายหลักให้คน “อยู่ดี มีสุข” โดยเฉพาะเด็ก “ให้มีทักษะ พัฒนาการสมวัย แข็งแรง EQ สูง แก้ปัญหาเป็น วินัยดี มีคุณธรรม” แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ โดยมีหนึ่งในเป้าหมายสำคัญให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการเต็มตามศักยภาพ และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้เด็กทุกคนมีการพัฒนารอบด้านตามวัยอย่างมีคุณภาพ และได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่ได้ระบุในหมวด 1 การจัดตั้งกองทุน มาตราที่ 5 ข้อ 1 และข้อ 3 กำหนดวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ขึ้นเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาโดยกล่าวถึงการส่งเสริม สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อให้เด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย (ข้อ 1) และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของครูในการจัดการเรียนการสอน ด้วยการ เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูให้มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพื้นฐานและศักยภาพที่แตกต่างกัน (ข้อ 3)

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจึงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อทำการศึกษาวิจัย และค้นหาแนวทางในการพัฒนาครูให้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีความรู้ และมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้เรียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในการศึกษาโดยมีแรงจูงใจที่เหมาะสม ซึ่งดำเนินการมาแล้วในระยะหนึ่งโดยมีสถาบันอุดมศึกษา 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งมีความโดดเด่น มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเด็กปฐมวัยในสถานพัฒนา เด็กปฐมวัย และจัดหลักสูตรสำหรับการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย เป็นผู้ดำเนินการ ศึกษาวิจัยและทำให้ได้ข้อเสนอในการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย ที่มีความหลากหลายภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งควรมีการนำข้อค้นพบที่ได้จากรายงานวิจัยมา ทำการศึกษาสังเคราะห์เพื่อถอดองค์ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตและพัฒนาครู อาทิ กระบวนการดำเนินงานในระบบการผลิตและระบบการพัฒนาครู รูปแบบการจัดประสบการณ์ การบริหาร ระบบการผลิตและพัฒนาครู การสร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ฯลฯ เนื่องจากการ สังเคราะห์งานวิจัยเป็นเทคนิควิธีการวิจัยตามระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ที่นำผลจากงานวิจัย หลายๆ งานที่ศึกษาในประเด็นปัญหาวิจัยเดียวกันมาศึกษาวิเคราะห์ด้วยวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลทาง สถิติและวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยจะมีการนำเสนอข้อมูลอย่างมีระบบ เพื่อให้ได้คำตอบ ของปัญหาวิจัยที่ต้องการ ซึ่งมีลักษณะกว้างขวางและลุ่มลึกยิ่งขึ้น (นงลักษณ์ วิรัชชัย, 2542) สำหรับ การศึกษาวิจัยครั้งนี้ คณะผู้วิจัยจึงมุ่งเน้นการใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพในการสังเคราะห์ งานวิจัย ซึ่งจะทำให้ข้อมูลจากข้อค้นพบที่มีความหลากหลายได้ข้อสรุปเกี่ยวกับระบบการผลิตและ พัฒนาครูในมิติต่างๆ ที่ชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ การที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้พัฒนาโครงการวิจัยเพื่อขยายผล การพัฒนาข้อเสนอในการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย เพื่อเป็น การดำเนินงานต่อเนื่อง โดยกำหนดให้ให้ทั้ง 3 สถาบัน นำข้อเสนอในการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนา ครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย ไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ เพื่อให้การพัฒนาเด็กปฐมวัยเกิดสมรรถนะ ที่พึงประสงค์ตามช่วงวัยนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการติดตามและประเมินผล เนื่องจากผล ที่ได้จากการประเมินจะทำให้ได้แนวทางหลักสำคัญในการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย ที่มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการดำเนินงานจริงสำหรับการปฏิรูปการศึกษา โดยแนวคิดที่คณะผู้วิจัยนำมาใช้ในการประเมินเป็นการประยุกต์ใช้แนวคิดการประเมินของ Stufflebeam (CIPP : 1971) ที่มุ่งประเมินเพื่อให้ได้สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ และ Kirkpatrick (1959) 4 ซึ่งได้เสนอแนวคิดของการประเมินผลการฝึกอบรม ที่จะทำให้ทราบว่าการฝึกอบรมนั้นมีประสิทธิผล ในการพัฒนาบุคคลเพียงใด 

จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการสังเคราะห์รายงานวิจัยและการติดตามประเมินผลการ นำข้อเสนอในการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย ไปสู่การปฏิบัติจริง ในพื้นที่ ของหน่วยงาน 3 สถาบัน จะช่วยให้ได้สารสนเทศที่นำมาสู่การกำหนดแนวทางหลักในการพัฒนา ระบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งคณะผู้วิจัยเชื่อมั่นว่า จะสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางส่วนหนึ่งในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาสถาบัน ต้นแบบผลิตและพัฒนาครูด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเป้าหมาย ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ต้องการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้สมบูรณ์พร้อมและเป็นไป อย่างรอบด้านตามช่วงวัยที่เหมาะสมต่อไป 

  1. เพื่อสังเคราะห์ผลการวิจัยเพื่อพัฒนาข้อเสนอในการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนา ครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย จากรายงานโครงการวิจัยของ 3 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 
  2. เพื่อติดตามและประเมินผลการนำแนวทาง/รูปแบบการจัดการพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย ไปใช้เพื่อให้เด็กปฐมวัยในชั้นเรียนเกิดสมรรถนะที่พึงประสงค์ตามช่วงวัย ของ 3 สถาบัน 
  3. เพื่อสร้างข้อสรุปปัจจัยและแนวทางหลักในการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย

ระยะเวลาโครงการ

16 กันยายน 2563 - 16 พฤศจิกายน 2564

เอกสารดาวน์โหลด