หลักการและเหตุผล
ตามที่พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๖๑ ระบุไว้ในมาตรา ๕ กำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑) เพื่อส่งเสริมสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อให้เด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัย ได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย (๓)เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูให้มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพื้นฐานและศักยภาพที่แตกต่างกัน (๕) ส่งเสริมสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาเพื่อให้มีการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนสามารถรู้และพัฒนาได้ตามความถนัดและศักยภาพของตน และ(๗)ดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษา วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา สนองความต้องการทางด้านกำลังแรงงาน และการยกระดับความสามารถของคนไทย
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๕๔ กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย กอปรกับ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ( พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐) ที่กำหนด ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์เพื่อการวางรากฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศอย่างเป็นระบบมุ่งพัฒนาและยกระดับคนทุกมิติและทุกช่วงวัยให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดีเก่ง และมีคุณภาพพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปข้างหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพ และกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ควบคู่กับการปฏิรูปที่สำคัญ อาทิ การปฏิรูปการเรียนรู้ทุกระดับตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการพัฒนาระบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง คือ ด้านการศึกษาที่เน้นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพที่เป็นมาตรฐานเสมอกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารและยากจน และกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ การจัดให้มีมาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การสนับสนุนกลไกความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการศึกษาในระดับจังหวัด การใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า หน่วยงานเพื่อการวางแผนและพัฒนานโยบายมีความต้องการจำเป็นในการใช้ข้อมูลและองค์ความรู้เชิงวิชาการเพื่อการจัดทำแผน/นโยบายในการพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำของการดำเนินงาน แต่ทั้งนี้กลับพบว่า ประเทศไทยไม่เคยมีการเก็บข้อมูลแบบตัวอย่างซ้ำ (Longitudinal หรือ Panel Data) ๑ ซึ่งข้อมูลในรูปแบบดังกล่าวจะช่วยให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มตัวอย่างเมื่อระยะเวลาผ่านไป ซึ่งจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงานได้อย่างลึกซึ้งและสอดคล้องต่อความเป็นจริงว่ามีผลต่อผลลัพธ์ทางการศึกษามากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ข้อมูลตัวอย่างซ้ำยังได้รับความนิยมในการนำไปใช้ในงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างกว้างขวาง (Chetty, Friedman, Hilger, etal., 2011; Chetty, Friedman, & Rockoff, 2011; Heckman, Moon, Pinto, Savelyev, & Yavitz, 2010)
สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตั้งแต่ปี 2558 ในการเก็บข้อมูลตัวอย่างซ้ำเริ่มต้นตั้งแต่ระดับปฐมวัย (early childhood panel data) ภายใต้โครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพหรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า การสำรวจข้อมูลตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนู้ด (RIECE Thailand Panel Data) โดยเก็บข้อมูลในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ทุกปี ๆ ละหนึ่งรอบและวางแผนจะเก็บต่อเนื่องไปทุกปีปัจจุบันมีเด็กอายุระหว่าง 5 ถึง 8 ปีในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,100 คน ข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำชุดนี้เป็นข้อมูลที่มีความโดดเด่นในแง่ความสมบูรณ์และครอบคลุมทุกมิติของเด็กปฐมวัยรายบุคคลทั้งที่เกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน การศึกษาและสุขภาพของเด็กปฐมวัย รูปแบบและพฤติกรรมการเลี้ยงดูและรูปแบบและคุณภาพการเรียนการสอนของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งจากการรวบรวมและศึกษางานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ยังไม่พบว่า มีฐานข้อมูลใดที่ครอบคลุมได้ทั้งข้อมูลครัวเรือนข้อมูลเด็กปฐมวัยรายบุคคล และข้อมูลสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในคราวเดียวกัน (ยกตัวอย่างเช่น โครงการPerry Preschool มีข้อมูลสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ละเอียด แต่มีข้อมูลระดับครัวเรือนน้อยมาก) ดังนั้นข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำชุดนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษา วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพราะการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องในกลุ่มตัวอย่างเดิม จะช่วยให้สามารถประเมินผลกระทบของนโยบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัยนำไปสู่การกำหนดนโยบายการศึกษาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based education policy) ซึ่งจะช่วยให้ประเทศชาติสามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น เพื่อเป็นการต่อยอด ขยายผลการดำเนินงานให้มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น จึงเสนอให้มีการสำรวจ/เก็บข้อมูลแบบตัวอย่างซ้ำสำหรับกลุ่มตัวอย่างของข้อมูลตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนู้ด (RIECE Thailand Panel Data) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลตัวอย่างซ้ำ (Panel/Longitudinal Data) ที่มีอยู่แล้วและควรจะมีการเก็บข้อมูลอย่างให้ต่อเนื่องส่งผลให้การทำงานไม่ต้องเริ่มจากศูนย์และสามารถดำเนินการได้สะดวกและประหยัดต้นทุนอย่างมาก นอกจากนี้จำเป็นจะต้องพัฒนาและขยายการสำรวจ/เก็บข้อมูลแบบตัวอย่างซ้ำในพื้นที่ที่มีบริบทแตกต่างกัน เพื่อสามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนการทำงานของหน่วยงาน องค์กร จังหวัด และประเทศ ที่จะช่วยผลักดันและส่งเสริมให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคได้อย่างแท้จริง