เข้าสู่ระบบ

"กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู และได้ระบุวัตถุประสงค์ตามความในมาตรา (7) ให้ กสศ. ดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษา วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา สนองความต้องการทางด้านแรงงาน และยกระดับความสามารถคนไทย ซึ่งปัจจุบัน กสศ. ได้ดำเนินงานวิจัยในหลากหลายด้าน เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานให้ตรงจุดและสรรค์สร้างนวัตกรรมในการให้การช่วยเหลือดูแลกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือด้อยโอกาสนับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยแรงงานให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาครู"

ความคืบหน้า 100%

โครงการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Innovative Finance) ที่เหมาะสมกับประเทศไทย

หลักการและเหตุผล

การแก้ไขความเหลื่อมล้ำเป็นโจทย์ที่มีมิติหลากหลายและมีหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องที่จำนวนมากทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคประชาสังคม แนวทางการดำเนินงานของ กสศ. จึงให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย รวมถึงการสร้างจุดต่างโดยการเน้นการสร้างนวัตกรรมในการชี้เป้ากระตุ้น ติดตาม และประเมินผล เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของทุกภาคส่วน เช่น การมุ่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำจากด้านอุปสงค์ (Demand-Side Intervention) โดยการให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer – CCT) ที่อาศัยนวัตกรรมการในการชี้เป้าตรงจุดโดยการวัดรายได้ทางอ้อม (Proxy Means Test หรือ PMT) ในการคัดกรองเด็กฐานะยากจน รวมทั้งมีการพัฒนาระบบ iSEE ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทั่วประเทศ เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมโยงความช่วยเหลือต่างๆ และทำให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ โครงการของ กสศ. จำนวนหนึ่งยังให้สำคัญต่อการยกระดับบทบาทขององค์กรในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในฐานะผู้จัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับความต้องการของฝั่งอุปสงค์โดยแท้จริง ตลอดจนมีการพัฒนาสถาบันศึกษาต้นแบบและการพัฒนาครูเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กในชุมชนและพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งการพัฒนาทักษะแรงงานตามความต้องการของพื้นที่และตลาดแรงงาน เป็นต้น

ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมาย กสศ. มีมากถึง 4.3 ล้านคน ตั้งแต่อายุ 0-25 ปี โดยเป็นเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือด้อยโอกาสในระบบการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐานเนื่องจากปัญหาความยากจน ความด้อยโอกาสทางสังคม ความพิการ และปัญหาครอบครัว รวมถึงครูในพื้นที่ห่างไกลและครูผู้ดูแลเด็กเยาวชนกลุ่มเป้าหมายของ กสศ. และเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่ไม่ได้ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ปวส. หรือ กศน. โดยในปีงบประมาณ 2562 กสศ. สามารถให้การช่วยเหลือประชากรกลุ่มเป้าหมายได้แล้วจำนวน 1,442,327 คน และในปีงบประมาณ 2563 และในระยะต่อไป กสศ. มีแนวทางที่จะต่อยอดการทำงานโดยการขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนมีการพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัยเพื่อประเมินความเหมาะสมและความเพียงพอของมาตรการการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดด้านงบประมาณรวมทั้งการกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษายังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานของ กสศ. ในการขยายผลการทำงานให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดได้

การขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นต้นทุนต่อประเทศไทยอย่างน้อย 330,000 ล้านบาทต่อปี หรือ
ร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หากดำเนินการได้สำเร็จจะสามารถสร้างผลประโยขน์ต่อส่วนรวมทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างกว้างขวางและยั่งยืน การแก้ไขดังกล่าวให้มีผลสำเร็จได้โดยเร็ว จึงเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนควรตระหนักและให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าของรายจ่ายเพื่อการกุศลรวมทั้งประเทศในปี 2560 ที่ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท หรือ 6.2 พันบาทต่อครัวเรือนต่อปี ประกอบกับบริษัทเอกชนที่มีงบประมาณสำหรับการดำเนินกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility) กว่า 10,000 ล้านบาท ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและเจตนารมณ์ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในประเทศไทยที่ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม โดยไม่ได้มองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐแต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยอดเงินบริจาคให้กับ กสศ. ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษียังมีจำนวนน้อย เพียง 7,042,719.95 บาท (ข้อมูล ณ 1 มิ.ย. 62 –1 ม.ค. 2563) เมื่อเทียบกับยอดลดหย่อนภาษีในปี 2560 จำนวน 4,511 ล้าบาท

ในการนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Innovative Finance) ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กสศ. จึงเห็นควรจัดทำโครงการเพื่อศึกษารูปแบบการระดมทุนดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบการกำหนดกลยุทธ์การทำงานของ กสศ. ในการยกระดับการส่งเสริมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยการศึกษาดังกล่าวควรมีการทบทวนและพิจารณาถึงบทบาทและแรงจูงใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบการศึกษา นวัตกรรมทางการเงินเพื่อสังคมต่างๆ และวิเคราะห์เพื่อชี้โอกาสและแนวทางที่เหมาะสมภายใต้บริบทในประเทศไทยและเงื่อนไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ เพื่อให้เห็นแนวทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม จึงเห็นควรให้พิจารณากำหนดแผนการดำเนินงาน (Business Plan) ตามรูปแบบนวัตกรรมการเงินที่เหมาะสม เช่น การใช้รูปแบบของการสร้างความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม (Social Impact Partnership) สำหรับโครงการของ กสศ. ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถจัดทำข้อเสนอแนะที่มีความสมบูรณ์และสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง

1 เพื่อศึกษานวัตกรรมทางการเงินเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Innovative Finance)
ที่เหมาะสมกับประเทศไทย

2 เพื่อให้มีแผนการดำเนินงานโครงการต้นแบบของนวัตกรรมทางการเงินเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Innovative Finance) สำหรับใช้ขยายการดำเนินโครงการ กสศ.

3 เพื่อให้มีข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเงินเพื่อ ความเสมอภาคทางการศึกษา (Innovative Finance) ต่อ กสศ. เพื่อให้ กสศ. สามารถนำประกอบใช้ในการกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานและมีแนวทางการดำเนินงานขั้นต่อไป

1 ศึกษาและทบทวนนวัตกรรมทางการเงิน (Innovative Finance) ในต่างประเทศ และในประเทศ ในการให้บริการทางสังคมต่างๆ ทื่อาจนำมาปรับใช้ในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา อย่างน้อย 5 รูปแบบ ซึ่งให้รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาเป็นช่องทางให้บริการทางการเงิน (Financial Technology หรือ FinTech) ที่สามารถนำมาปรับใช้อย่างน้อย 1 รูปแบบ โดยในการศึกษาให้ครอบคลุมถึงหลักการ แนวทางและเงื่อนไขในการริเริ่มและดำเนินงานที่ชัดเจน ตลอดจนถอดบทเรียนของรูปแบบการระดมทุนต่างๆ จากปัจจัยความสำเร็จและปัญหาอุปสรรค รวมทั้งผลกระทบในมิติเศรษฐกิจและสังคม

2 ศึกษาและทบทวนแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในระบบการศึกษาในประเทศไทยและวิเคราะห์หลักการของการขอจัดสรรหรือระดมทุนจากแหล่งเงินทุนต่างๆ โดยให้รวมถึงการวิเคราะห์บทบาทของการคลังภาครัฐ (Public Finance) และแนวทางที่ภาคเอกชนและประชาสังคมจะมาสนับสนุนและแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของรัฐบาล (Government Failure) ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

3 วิเคราะห์นวัตกรรมทางการเงินที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาที่ปฏิบัติได้จริงภายใต้บริบทของประเทศไทยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 3 รูปแบบ โดยข้อเสนอดังกล่าวควรครอบคลุมถึงการกำหนดขั้นตอนในการดำเนินงานโดยละเอียด มีการดำเนินการประชุมย่อย (Focus Group) และ/หรือ การจัดทำการสำรวจ (Survey) และ/หรือ สัมภาษณ์กับผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder) ตามความเหมาะสม เพื่อประเมินศักยภาพ บทบาทหน้าที่ และแรงจูงใจของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลกระทบและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น แนวทางการติดตามและประเมินที่เหมาะสม และข้อเสนอการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ ภายใต้การวิเคราะห์ดังกล่าวให้มีการประมาณการวงเงินที่คาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ภายใต้แต่ละแนวทาง มีการประเมินระยะเวลาของการลงทุน และหลักการในการเลือกรูปแบบการระดมทุนเพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการลงทุนและความต้องการของกลุ่มนักลงทุน ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง

4 กำหนดแผนการดำเนินโครงการต้นแบบ (Business Plan) ของนวัตกรรมทางการเงินเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Innovative Finance) เพื่อใช้ขยายผลโครงการ กสศ. จำนวน 5 โครงการ (หรือโครงการ
กสศ. จำนวน 4 โครงการและโครงการรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมต่อการใช้นวัตกรรมทางการเงิน จำนวน 1 โครงการ) ซึ่งในการกำหนดแผนการดำเนินโครงการจะต้องศึกษา วิเคราะห์ และวางแผนการดำเนินโครงการและการระดมทุน ออกแบบเงื่อนไขและบทบาทหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น พิจารณาและร่างเอกสารทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และแนวทางประเมินผลการดำเนินงานร่วมกับส่วนงานของ กสศ. ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในการดำเนินการให้มีการลงพื้นที่ การดำเนินการประชุมย่อย (Focus Group) และสัมภาษณ์กับผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder) เพื่อเก็บข้อมูลและกำหนดแผนการดำเนินโครงการร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง สำหรับโครงการที่จะนำไปพิจารณากำหนดเป็นโครงการต้นแบบให้นักวิจัยคัดเลือกจากรายการโครงการของ กสศ. ดังต่อไปนี้

4.1 โครงการพัฒนาสถาบันต้นแบบด้านการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยเพื่อสร้างความเสมอภาค
ทางการศึกษา
4.2 โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข
4.3 โครงการพัฒนาครูและโรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (School Quality Improvement Project)
4.4 โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง
4.5 โครงการพัฒนาระบบการดูแลและส่งต่อสําหรับเด็กและเยาวชน (แรกเกิด – 18 ปี) กลุ่มยากจนและด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ําทางการศึกษา

5 จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) เกี่ยวกับนวัตกรรมการระดมทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Innovative Finance) ต่อ กสศ. จากผลการศึกษา วิเคราะห์และการดำเนินโครงการต้นแบบ โดยถอดบทเรียนความสำเร็จและปัญหาอุปสรรค รวมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ กสศ. สามารถนำประกอบใช้ในการกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานขั้นต่อไป