เข้าสู่ระบบ

งบประมาณด้านการศึกษากว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณแผ่นดิน ที่ผ่านมาถูกนำมาใช้ในด้านการศึกษามาตลอด แม้ตั้งแต่ปี 2542 จะมีแผนปฏิรูปการศึกษา แต่ผลลัพธ์ต่อผู้เรียนก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยเมื่อพิจารณาคะแนนโอเน็ตและคะแนนจากโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA กลับพบว่าทักษะการอ่านและการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยยังต่ำกว่าระดับนานาชาติ รวมทั้งยังมองเห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งด้านโอกาสและคุณภาพของผู้เรียน

ความคืบหน้า 100%

โครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากร เพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียน

หลักการและเหตุผล

โครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากร เพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียน เป็นการรวบรวมผลการจัดทำบัญชีรายจ่ายของไทยตั้งแต่ปี 2551-2559 เพื่อนำผลที่ได้มาวิเคราะห์งบประมาณการศึกษาระดับจังหวัด สนับสนุนนโยบายของรัฐ รวมทั้งเชื่อมโยงทรัพยากรด้านสุขภาพและการศึกษาของเด็กนักเรียนเข้าด้วยกัน โดยเน้นการใช้จ่ายเพื่อการดูแลเด็กปฐมวัย ให้อนาคตสามารถลงทุนด้านสังคมของประเทศอย่างครอบคลุมมากขึ้น

สำหรับการจัดทำข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษาของไทย ใช้จาก 3 แหล่งข้อมูล คือภาครัฐส่วนกลาง ภาครัฐส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ซึ่งพบว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีแนวโน้มการใช้จ่ายด้านการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี ขณะที่การลงทุนด้านสุขภาพพบว่าน้อยกว่าการลงทุนด้านการศึกษาแต่ผลคะแนน PISA กลับมีแนวโน้มลดลง ทำให้สรุปได้ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบประมาณไม่เพียงพอ แต่อยู่ที่การไม่สามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรปรับตั้งแต่ระบบการศึกษาโดยลดการผูกขาดในการจัดการศึกษา  ส่งเสริมให้มีแรงจูงใจในการแข่งขันเพื่อพัฒนาคุณภาพ ส่งเสริมความอิสระของสถานศึกษา  สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผลักดันให้ส่วนกลางกระจายอำนาจการศึกษาให้ท้องถิ่นมากขึ้น  สนับสนุนการจัดการศึกษาเอกชนให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น ปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนในโรงเรียนขนาดต่างๆให้เหมาะสม ลดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรการศึกษาระดับพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนในเด็กปฐมวัยทั้งด้านสุขภาวะและการเรียนรู้  เพราะการศึกษาไม่เพียงเป็นปัจจัยในการสร้างโอกาสและความมั่นคงให้กับชีวิตของแต่ละคนเท่านั้น แต่ยังเป็นกระบวนการสร้างทักษะให้ประชาชนในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปอย่างยั่งยืนด้วย

  1. ศึกษารายจ่ายด้านสุขภาพสำหรับเด็กนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและปฐมวัย
  2. จัดทำสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการปฏิรูประบบงบประมาณด้านการศึกษาเชิงพื้นที่
  3. จัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาเฉพาะขั้นพื้นฐาน รายจังหวัด สำหรับปีงบประมาณ 2559
  4. จัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2559